13 ก.พ. 2022 เวลา 13:14
BKK Bus Special: RDG Bus photographer
สวัสดีครับ ขอต้อนรับช่วงใหม่แกะกล่องของเพจเราคือช่วง RDG Bus photographer ซึ่ง RDG ย่อมาจาก Reading เป็นชื่อเมืองหนึ่งในประเทศอังกฤษ ครับ (คาดว่าใครที่ดูฟุตบอลลีกของอังกฤษ อาจจะคุ้นๆชื่อนี้นะครับ เพราะมีทีมสโมสรฟุตบอลที่เคยเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็ใช้ชื่อทีมตามชื่อเมืองด้วยเช่นกัน) สำหรับรูปที่นำมานี้ เป็นรูปที่ได้รับมาจากทีมงานท่านหนึ่ง ที่ตอนนี้กำลังศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศอังกฤษ แล้วถ่ายรูปส่งมาให้ จึงขอขอบคุณรูปภาพ มาในที่นี้ครับ
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองนี้ เมืองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นเบิร์คเชียร์ (Berkshire) ซึ่งที่ตั้งของเมืองนี้ ห่างจากกรุงลอนดอน ราว 60-70 กิโลเมตร
เมื่อสักครู่พูดถึงสโมสรฟุตบอล เมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2022) ทีมเรดดิ้งมีแมตซ์การแข่งขันเปิดบ้านพบกับทีมโคเวนทรี ในศึกแชมเปี้ยนชิพ หรือดิวิชั่น 2 ลีกรองของอังกฤษ โดยเป็นโอกาสพิเศษ เนื่องจากสโมสรทำการฉลองการก่อตั้งครบ 150 ปี แต่งานเลี้ยงออกแนวกร่อยๆ เพราะผลการแข่งขันนั้น เจ้าบ้านเปิดบ้านพ่ายไป 2-3 ทำให้สำหรับสถานการณ์ของทีมในตอนนี้ ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่อยู่ในอันดับ 21 หรืออันดับสุดท้ายที่จะรอดตกชั้นครับ แต่โพสต์นี้จะขอเล่าเรื่องรถเมล์เป็นหลัก เรามาเปลี่ยนเรื่องกันดีกว่า
1
สำหรับเมืองเรดดิ้งนั้น จะมีทีมสโมสรฟุตบอลอาชีพ ประจำเมืองเพียงทีมเดียว นั่นคือ ทีมเรดดิ้ง เอฟซี (Reading F.C.) หรือฉายาคือ เดอะ รอยัลส์ (The Royals) เวลาสโมสรมีการแข่งขันหรือ Matchday นั้นทางเมืองจะมีการให้บริการรถเส้นทางพิเศษ หรือที่นั่นจะเรียกว่า Football bus คอยวิ่งให้บริการในตัวเมืองหรือพื้นที่ข้างเคียง ไปสู่สนามเหย้าของทีม นั่นคือสนาม Select Car Leasing Stadium (สนามเป็นชื่อของสปอนเซอร์ทีม ซึ่งชื่อเดิมคือสนาม Madejski Stadium) การเก็บค่าโดยสารจะเก็บในอัตราราคาพิเศษแยกต่างหากจากอัตราค่าโดยสารปกติ
สิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจสำหรับ Football bus คือ เลขสายที่ให้บริการสายพิเศษ จะใช้ตัวอักษร F นำหน้า แล้วตามด้วยตัวเลข เช่นสาย F1 F2 F33 F54 เป็นต้น โดยรถเมล์ที่ใช้เลขสายพิเศษเหล่านี้ จะไม่ได้ใช้เส้นทางที่เกี่ยวข้องกับเลขสายที่เป็นตัวเลขปกติเดิม เช่น สาย F21 จะไม่ได้เส้นทางที่เกี่ยวข้องใดๆ กับสาย 21 ที่ให้บริการในเมือง หรือถ้าเปรียบเทียบกับในกรุงเทพ คือรถเมล์สายสนามบิน ที่จะมีตัวอักษร A หรือ S นำหน้าแล้วตามด้วยตัวเลข อย่างสาย A1 ก็จะไม่ได้มีเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับสาย 1 แต่อย่างใด
ในจุดขึ้น-ลงรถเมล์สายพิเศษ จะเป็นป้ายจุดที่กำหนดเฉพาะ มีบางป้ายที่ผู้โดยสารสามารถขึ้น หรือลงได้เท่านั้น (ที่ป้ายรถเมล์จะมีเขียนข้อความไว้เลยว่าป้ายนี้รถ Football Bus จะจอด ให้ผู้โดยสารขึ้นหรือลงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น) โดยรถทุกสาย จะมีปลายทางเดียวกันคือ สนามมาเด็จสกี้ แต่มีต้นทางที่ต่างกัน เช่น สถานีรถไฟ / สวนสาธารณะ หรือเป็นย่าน (อย่างสาย F33 ในรูปจะมีต้นทางที่ Lower Earley ผ่านจุดที่พักอาศัยของผู้ถ่ายนี้ครับ)
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าน่าสนใจมากๆคือ การที่ผู้ให้บริการรถเมล์ได้จัดให้มีเส้นทางพิเศษเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลเท่านั้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับแฟนบอลโดยเฉพาะ ซึ่งโมเดลนี้ทางทีมงานคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ไปใช้กับการให้บริการรถเมล์ในกรุงเทพในอนาคต โดยเฉพาะเวลาที่มีการจัดงานอีเวนต์ใหญ่ๆได้ เช่น การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่กำลังจะมาถึงนี้ ที่สถานีกลางบางซื่อ หรือในกรณีที่มีการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทย ก็อาจจะจัดเส้นทางพิเศษรับส่งผู้โดยสารออกจากสนามกีฬาไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วกรุงเทพก็ได้ (ลักษณะจะคล้ายๆกับที่ทาง ขสมก. เคยจัดรถ Shuttle Bus รับส่งไปยังพื้นที่จัดงานพระราชพิธีต่างๆครับ)
ทั้งหมดนี้ ขอเป็นเรื่องเล่าใน EP.1 นะครับ หากชอบใจหรืออยากให้มีข้อเสนอแนะ ปรับปรุงแก้ไข สามารถพิมพ์คอมเมนต์กันมาได้อย่างสุภาพนะครับ เป็นไปได้ จะพยายามนำเสนอในทุกวันอาทิตย์ ให้ทุกท่านได้อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ครับ
ภาพโดย Nephew Nigel
โฆษณา