8 มี.ค. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
มีเงินฝากในบัญชีเท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี ?
หลายคนคุ้นชินกับคำว่า ดอกเบี้ยเงินฝากจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที 15% และอาจเข้าใจผิดไปว่า เงินฝากทุกชนิดต้องเสียภาษี
วันนี้ เรามาปรับและปัดฝุ่นความเข้าใจในเรื่องนี้กัน
📌 อย่างแรก อยากให้เข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เราต้องดูไม่ใช่ยอดรวมเงินฝากในทุกบัญชี แต่คือจำนวนดอกเบี้ยที่เราได้รับ !!!
เพราะกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ดังนั้นต้องแยกก่อนว่า ดอกเบี้ยที่เราได้รับมาจากบัญชีเงินฝากแบบไหน เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ หรือบัญชีกระแสรายวัน
1
ถ้าเป็นบัญชีเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยที่ได้จากบัญชีนี้ ตามกฎหมายแล้วเราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทันที ตั้งแต่ที่ได้รับดอกเบี้ยบาทแรก
ส่วนบัญชีกระแสรายวัน หน้าที่ของมันคือช่วยอำนวยความสะดวกในเชิงธุรกิจ ปกติแล้วเงินในบัญชีนี้จะไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะมีบัญชีกระแสรายวันพิเศษ ที่ได้รับดอกเบี้ยซึ่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ทันที
💸 ทำความเข้าใจเรื่อง ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ กันอีกหน่อย
ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับทั้งปีจากทุกธนาคารรวมกัน เกิน 20,000 บาท เราต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามกฎหมาย
นั่นหมายความว่า ถ้าเรารวมดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทุกธนาคารแล้ว ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี เราจะไม่โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย
แต่ยังมีรายละเอียดย่อย ๆ อีกคือ ตามกฎหมายแล้ว ธนาคารมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กับสรรพากร ซึ่งถ้าเราอยู่เฉย ๆ นั่นเท่ากับว่าเรายินยอมให้ส่งข้อมูล ธนาคารก็จะดำเนินการให้ คำถามสำคัญคือ “เรายินยอมให้ส่งข้อมูลรึเปล่า ?”
1
💸 ยินยอม และ ไม่ยินยอม แตกต่างกันยังไง ?
สิ่งที่แตกต่างกันคือ การหักภาษี ณ ที่จ่าย
กรณีที่เราได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์รวมทุกธนาคารแล้ว ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ถ้าเรายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูล เราจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย
แต่ถ้าเราไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่เราได้รับตั้งแต่บาทแรก จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทันที แม้ว่าเราจะได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปีก็ตาม
📌 ดังนั้นสรุปอีกทีว่า ถ้าเราฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ โดยทั่วไปเราจะยังไม่เสียภาษี จนกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจะถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 20,000 บาทต่อปี รวมจากทุกบัญชีออมทรัพย์ในทุกธนาคาร
ส่วนถ้าใครกำลังคิดอยู่ว่าดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากในยุคนี้ น้อยยิ่งกว่าเงินทอนเสียอีก มาลองมองหาที่อยู่ใหม่ให้เงินของเรากัน เช่น ตราสารหนี้ หุ้นกู้ ทองคำ หุ้น กองทุนรวม และคริปโทเคอร์เรนซี เป็นต้น แต่ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน และเข้าใจความเสี่ยงที่เรารับได้ก่อนนะ
1
เพราะความรู้ คือเครื่องมือวิเศษที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีที่สุด
อ้างอิง
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา