21 ส.ค. 2022 เวลา 15:27
รีวิวเส้นทาง EV BUS สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) - สถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์ลาดกระบัง (ฉบับนักศึกษา สจล.คนหนึ่ง)
ในส่วนของรถเมล์ EV ที่นำมาให้บริการจะเป็นรถเมล์ Minebus สีเขียวที่เคยทดลองวิ่งให้บริการมาแล้วในสาย 29 และรถร่วมบริการสายอื่นๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มาทำการทดลองวิ่งจำนวน 1 คัน และจะมีการเพิ่มจำนวนเข้ามา 2-3 คันในอนาคตขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ในส่วนเส้นทางนั้นมีประโยชน์กับทั้งนักศึกษา และบุคลากร เนื่องจากเส้นทางนั้นจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังสถานีแอร์พอร์ตลิ้งค์ หรือเป็น Feeder ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องรถไฟในช่วงเวลาที่ขาดระยะโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้เวลารอนานมากเกินไป โดยอาจจะต้องรอกว่า 1 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงกว่าที่รถไฟที่เข้ากรุงเทพจะมา หรือจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาถึงสถาบัน
ในส่วนรถเมล์บางคนใช้บริการสาย 517 ในการเดินทางเข้าเมือง บางครั้งช่วงที่รถขาดระยะต้องใช้เวลารอค่อนข้างนานถึงนานมากเนื่องจากรถมีจำนวนที่น้อยและเส้นทางที่ไกลด้วย รวมถึงรถสองแถวที่ใช้เวลาในการเดินทางนาน ส่วนมอไซต์รับจ้าง หรือ แท็กซี่ นั้นก็มีราคาที่แพงเกินไป จึงไม่เหมาะสมเท่าไหร่
ดังนั้นการมีรถเส้นทางนี้ถือว่ามีประโยชน์และจำเป็นต่อบุคลากรและนักศึกษาเป็นอย่างมาก และย่นระยะเวลาการเดินทาง และเชื่อมต่อผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่สถานีลาดกระบัง และสามารถโดยสารได้ฟรี โดยใช้เวลาเดินทางอย่างต่ำที่สุดเพียง 10 นาทีเท่านั้นครับ
เนื่องจากตัวผมเป็นนักศึกษาที่นี่และได้ใช้บริการมาแล้วเผื่อจะช่วยพัฒนาให้การบริการนั้นดีขึ้น จึงมีบางจุดที่อยากให้ทางสถาบันฯ ลองไปปรับแก้ไขพิจารณาในการให้บริการในอนาคตดูครับ
เรื่องเส้นทางและจุดรับผู้โดยสาร เรื่องเส้นทางในส่วนภายในบริเวณสถาบันผมอยากเสนอว่า อยากให้เริ่มต้นรับผู้โดยสารจากฝั่งหอประชุมเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เพื่อรับบุคลากรจากฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะอุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ ที่อยู่บริเวณนั้นด้วย เพื่อให้เข้าถึงได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันจุดที่รับมีเพียงจุดเดียวคือฝั่ง หน้าวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ (CMIT) บางครั้งอาจจะเกิดความแออัด หรือความกระจุกตัวในบริเวณนั้นได้ และเพื่อลดระยะทางที่นักศึกษาต้องเดินไปขึ้นที่บริเวณ CMIT เพียงจุดเดียวด้วย และหลังจากนั้นค่อยรับนักศึกษาหรือบุคลากรที่ป้ายรถเมล์ประตูริมทางรถไฟเพื่อรับศึกษาจากหน้า CMIT หรือคณะวิทยาศาสตร์
เมื่อรับจากจุดดังกล่าวเสร็จ และอาจจะเข้าประตูหลักตรงคณะบริหารธุรกิจเพื่อรับนักศึกษาหรือบุคลากรบริเวณนั้นหรือบริเวณอาคารพระเทพฯหรืออาคารอำนวยการด้วยและออกประตูด้านถนนเรียบมอเตอร์เวย์และเข้าเส้นทางมุ่งหน้า ARL ลาดกระบังต่อไป หรือออกทางปกติโดยไม่ต้องวนเข้าภายในสถาบันก็ได้ครับ
เวลาการให้บริการสิ่งแรกที่อยากแนะนำเลยคืออยากให้เพิ่มรอบการให้บริการครับ ตอนเช้าจากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่ โดยทรายมาว่ามีรอบเช้าด้วย แต่ทางเพจสถาบันไม่ได้ประกาศ โดยมีวิ่ง 3 รอบ คือออกจากสถาบัน 8:00 8:30 9:00 ปัญหาคือนักศึกษาบางคน มีเรียนตั้งแต่ 8:00 อาจเกิดปัญหาได้จึงอยากมีรอบที่เช้ากว่านี้หน่อยครับ
- ส่วนตอนเย็นอยากให้เพิ่มรอบหลัง 16:30 ไปด้วย เพราะตอนนี้ 3 รอบถือว่าน้อยเกินไปครับ และรถไฟค่อนข้างขาดระยะหลังจากช่วงเวลานั้น อีกปัญหานึงคือระยะเวลาเดินทางที่ค่อนข้างตรึงตัวโดยรอบนึง (ไป-กลับ) ใช้เวลาเกือบ 30 นาที ซึ่งเมื่อมาถึงสถาบันและมีเวลาจอดเพียง ประมาณ 5 นาทีและต้องออกรอบต่อไป (และนี่คือในช่วงเวลาที่รถไม่ติด) หากเกิดการจราจรติดขัดอาจส่งผลทำให้หมุนรถไม่ทัน และรถขาดระยะได้ จึงอยากให้ลองพิจารณาเวลาและจำนวนรถที่เหมาะสมในการให้บริการดูครับ
อยากให้สถาบันผลักดันให้มากกว่านี้ครับ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังรู้สึกยังไม่มากพอ โดยเฉพาะเวลารอบเช้าที่สถาบันไม่ได้ประกาศด้วยซ้ำและไม่มีคนเลย (จากการสอบถามพนักงานมา) และผมเป็นห่วงว่าถ้าอนาคตคนยังน้อยอาจจะส่งผลต่อการให้บริการ และสถาบันอาจยกเลิกเส้นทางดังกล่าวได้
เรื่องการให้บริการบุคลากรต่างๆจริงๆเพื่อให้เป็นช่องทางในการเดินทางของประชาชนด้วย ผมอยากให้มีการรับบุคคลภายนอกด้วย แต่แบ่งโดยให้มีเครื่องสแกนบัตรของบุคลากรและนักศึกษาเพื่อยืนยันตัวตนและโดยสารฟรี ส่วนบุคคลภายนอกหรือประชาชนที่ไม่มีบัตรอาจจะให้เก็บค่าโดยสารเพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติมด้วยก็ได้ครับ
Photo by n0ru
#BKKBUS #BkkBusPhotographer #EVbus #KMITL
โฆษณา