19 ม.ค. เวลา 03:22 • สิ่งแวดล้อม

AI จับเจ้ามังกรเขี้ยวกุด

โดย ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน
ผู้อำนวยการ SEAMEO STEM-ED
1
ช่วงบ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม ก่อนที่จะย้ายจากปีกระต่ายเข้าสู่ปีมังกร ผมกับภรรยาได้มีโอกาสพบกับเจ้ามังกรเขี้ยวกุดในตำนาน ที่อุตส่าห์แวะมาหาถึงคอนโดของเราสองคน และทำให้กลายเป็นข่าวดังไปทั่ว
บ่ายวันนั้นผมได้รับข้อมูลทางไลน์จากภรรยาส่งมาบอกว่า มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเป็นสัตว์ปีก หลงเข้ามาติดอยู่ในระเบียงห้องในคอนโดใกล้สระว่ายน้ำ ตอนที่เธอลงไปซื้อของได้เห็น รปภ.และแม่บ้านกำลังช่วยไล่เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้ออกจากระเบียงบ้านของลูกบ้านอยู่ ด้วยความที่คุ้นเคยกับพวกนกหลงแล้วคอยช่วยชีวิตอยู่ประจำ เธอเลยเข้าไปช่วยจับเพื่อจะได้นำไปปล่อยในที่เหมาะสม หรือถ้ามีอาการบาดเจ็บมาก็จะช่วยกันดูแลจนหายดีก่อนนำไปปล่อยอีกที
แต่ครั้งนี้เจ้าสิ่งมีชีวิตที่ว่ามีลักษณะที่แปลกไป บางคนคิดว่าเป็นค้างคาวขนาดยักษ์เพราะมีหูด้วย บางคนคิดว่าเป็นกิ้งก่ามีปีกเพราะมีหน้ายาว ๆ คล้ายสัตว์เลื้อยคลาน บางคนเข้าใจว่าเป็นนกฮูกเพราะมีดวงตากลมโตมาก ส่วนภรรยาผมเธอเห็นเข้าก็นึกถึงเจ้ามังกรเขี้ยวกุดในภาพยนตร์เรื่อง How to Train the Dragon เพราะมีโครงหน้าที่คล้ายเจ้ามังกรเขี้ยวกุดมาก
คนที่เข้าไปช่วยกันจับก็ดูจะกลัว ๆ กันอยู่ เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งมีชีวิตตรงหน้าจะมีพิษร้ายแรงอะไรไหม วิธีการปกติของภรรยาผมในการจัดการกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ คือการที่จะต้องคุยกับเขาให้ได้ ซึ่งจริง ๆ จะเรียกว่าคุยก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะเธอจะพยายามทำเสียงที่คิดว่าเป็นเสียงของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น
เอาแค่พอให้เขาหันมาสนใจว่าได้ยินเสียงที่คุ้นเคยบ้างก็จะสงบลง ซึ่งเธอลองทำเสียงตามที่คิดไว้ แล้วเจ้ามังกรเขี้ยวกุดตัวน้อยนี้ก็ดูสงบลง และยอมให้จับตัวในที่สุด แต่ในขณะที่เธอจับ เจ้านี่ก็ยังดูเกรี้ยวกราดมาก โดยอ้าปากที่กว้างมากแทบจะ 180 องศาเลยทีเดียว
เมื่อจับมาได้แล้ว เธอส่งไลน์มาปรึกษากับผมว่าจะจัดการอย่างไรกับเจ้าตัวนี้ดี เพราะดูแล้วเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราไม่คุ้นเคยกันเลย ผมดูรูปที่เธอส่งเข้ามาให้ก็คิดถึง AI ก่อนเลย จึงจัดการเอารูปภาพที่ได้ป้อนเข้า ChatGPT เพื่อลองดูว่าเจ้า AI จะบอกได้ไหมว่าสิ่งมีชีวิตตัวนี้คืออะไร
ChatGPT ที่ผมใช้เป็นแบบเสียเงินที่สมัครสมาชิกไว้แล้ว สามารถอัปโหลดรูปเข้าไปได้ ผมเลยจับรูปที่ภรรยาส่งให้อัปโหลดเข้าไป ด้วยความที่ผมมองว่าเจ้านี่เป็นนก แต่ในภาพที่ได้มาไม่ได้มีความเป็นนกเท่าไร และเพื่อให้ ChatGPT มีข้อมูลอ้างอิงว่าเป็นสัตว์ปีก ผมเลยลองถามไปง่าย ๆ ให้ช่วยบอกว่านกในภาพเป็นนกอะไร ซึ่ง ChatGPT ก็ตอบผมมาแค่พารากราฟเดียวแต่ตรงเป้ามาก
ChatGPT บอกว่านกตัวนี้คือ nightjar อยู่ในวงศ์ Caprimulgidae แล้วบอกต่อถึงเหตุผลว่าทำไมถึงได้จำแนกว่าเป็น nightjar ก็เนื่องจากเจ้านกนี่มีลักษณะทางกายภาพ เช่น สีขนที่มีลายแฉพาะ เป็นลักษณะของลายพรางที่เหมือนกับใบไม้แห้ง เพราะชอบอาศัยอยู่บนพื้นป่า และมีปากที่กว้างมาก เพราะเป็นนกที่ใช้การโฉบกินแมลงกลางอากาศ จึงต้องอ้าปากกว้าง ๆ ไว้จับแมลงที่เป็นอาหาร
มีคำนึงที่ ChatGPT บ่งบอกลักษณะของนกชนิดนี้ได้ดีคือ nocturnal habits ซึ่งหมายถึงการเป็นสิ่งมีชีวิตที่หากินกลางคืน ก็ทำให้เข้าใจถึงลักษณะของการที่มีดวงตากลมโต แล้วเชื่อมโยงให้ผมเข้าใจว่าทำไมถึงไปติดอยู่ในระเบียงห้องได้ เพราะว่าช่วงที่พบนกตัวนี้เป็นช่วงเวลาบ่ายที่มีแสงจ้า เปรียบเหมือนกับกล้องที่เปิดหน้ากล้องกว้างมาก ๆ มีแสงเข้าไปมากจนภาพที่เห็นพร่ามัวมองอะไรไม่เห็นเลย เขาก็คงมองอะไรไม่ออกว่าต้องไปทางไหนอย่างไร
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในคำตอบของ ChatGPT ก็คือ การบ่งชี้ว่านกในภาพกำลังอ้าปากอยู่ “this one seems to have its mouth open.” ซึ่งหมายถึงว่าระบบหลังบ้านในการวิเคราะห์และจำแนกภาพมีความแม่นยำอยู่มาก สามารถจำแนกแยกแยะองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตในภาพและบอกรายละเอียดได้อย่างถูกต้องเพื่อการนำไปใช้วิเคราะห์ต่อ
ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นลจาก AI มาแล้ว ผมก็ตรวจสอบความถูกต้องและหารายละเอียดเพิ่มเติม โดยขั้นแรกใช้ Google ค้นคว้า แล้วในอีกทางหนึ่งก็ติดต่อผู้เชี่ยวชาญดูด้วย ซึ่งตอนนั้นได้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) มาช่วยเหลือ โดยนำข้อมูลไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางธรรมชาติวิทยาที่มีความรู้เรื่องนกเป็นอย่างมากให้
ในส่วนของ Google จากการค้นหาคำว่า nightjar ให้ผลลัพธ์ออกมาดีทีเดียว ภาพและข้อมูลที่ได้ใกล้เคียงกับเจ้านกตัวที่จับได้มากอยู่
พอค้นข้อมูลภาษาไทยก็พบว่า nightjar หมายถึง นกตบยุง ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ไปอีก ทั้งนกตบยุงหางยาว นกตบยุงเล็ก นกตบยุงภูเขา และนกตบยุงยักษ์​ เมื่อค้นข้อมูลลงรายละเอียดมากขึ้นก็พบว่าเจ้าตัวที่มีลักษณะเหมือนมังกรคือมีรูปลักษณ์คล้ายมีหูอยู่มีอยู่สายพันธุ์เดียว คือ นกตบยุงยักษ์
เมื่อค้นรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปอีกก็พบว่า นกตบยุงยักษ์มีชื่อภาษาอังกฤษว่า great eared nightjar ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษนี่สื่อชัดเลยว่ากระจุกขนนี้ดูเป็นเหมือนหูที่ขนาดใหญ่จริง ๆ ด้วย เจ้านี่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Eurostopodus Lyncornis macrotis เป็นนกในตระกูล Caprimulgidae ตามที่ ChatGPT บอก แล้วก็กินแมลงเป็นอาหาร ออกหากินกลางคืน
เมื่อเอาข้อชื่อภาษาไทยว่า “นกตบยุงยักษ์” มาค้นต่อก็พบว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นนกที่หายาก แต่ไม่ถึงกับใกล้สูญพันธุ์ มีข้อมูลบางส่วนที่บอกกันด้วยว่ามีคนพยายามค้นหาเพื่อถ่ายภาพ แต่ไม่เจอกันเลย ไม่น่าเชื่อว่าอยู่ ๆ ก็มาปรากฏกายให้เราได้อุ้มอยู่ถึงคอนโดใจกลางกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลหลายส่วนพูดถึงนกชนิดนี้ว่ามีหน้าตาเหมือนเจ้ามังกรเขี้ยวกุด ซึ่งทำให้เราดีใจว่าไม่ได้คิดกันไปเอง หลายคนต่างเห็นพ้องกันว่าเจ้านี่มีลักษณะเหมือนมังกรเช่นกัน
ในอีกทางหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญจาก อพวช.ที่โทรมาคุยกับเราบอกได้ทันทีเลยว่าเป็นนกตบยุงยักษ์ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เลี้ยงไว้ในบ้านไม่ได้ ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญสอดคล้องกับข้อมูลจาก ChatGPT และ Google ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว จึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงการดูแลก่อนที่จะนำไปส่งให้แก่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
โจทย์ยากของเราที่ผู้เชี่ยวชาญบอกมาก็คือ การให้อาหาร เพราะเจ้าตัวนี้ปกติจะโฉบแมลงกินเอง วางอาหารเอาไว้ให้ก็ไม่น่าจะกิน เพราะลักษณะของปากไม่ค่อยอำนวยเท่าไร ตอนนี้ยังไม่ต้องให้กินอาหารก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ น้ำ ต้องหาน้ำให้กินก่อน เมื่อส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วจะมีสัตวแพทย์คอยช่วยดูแลเรื่องอาหารให้อีกที
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องหาทางเอาน้ำมาป้อนให้เจ้ามังกรเขี้ยวกุด ซึ่งด้วยความที่ไม่มีอุปกรณ์ในการป้อนอยู่ใกล้ตัว เลยต้องใช้หลอดดูดน้ำเล็ก ๆ ป้อนไปก่อน กว่าที่น้องจะยอมมั่นใจให้ป้อนได้เราต้องอุ้มให้คุ้นกับเรา แล้วต้องส่งเสียงคุยด้วยเป็นพัก ๆ ในที่สุดเมื่อได้เห็นเขายอมดื่มน้ำไปและทำคอสั่น ๆ เพื่อกลืนน้ำเข้าคอก็ทำให้เราดีใจเป็นอย่างมาก
ท้ายที่สุดเรานำเจ้ามังกรเขี้ยวกุดตัวนี้ส่งไปที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นที่เรียบร้อยดี คุณหมอที่รับช่วยดูอาการในเบื้องต้นพบว่าไม่ได้มีอาการป่วย แค่อ่อนเพลีย แล้วป้อนอาหารแบบน้ำให้ โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะอนุบาลจนเจ้านกแข็งแรงขึ้นแล้วค่อยปล่อยกลับสู่ธรรมชาติต่อไป
เทคโนโลยีปัจจุบันโดยเฉพาะ AI เข้ามาช่วยให้เราทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่การเชื่อถือข้อมูลก็ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องกับช่องทางอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้นอกเหนือจากที่ผมเช็กกับบทความที่หาได้เร็ว ๆ จาก Google แล้ว ผมยังโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจาก อพวช. ที่ติดต่อผู้เชี่ยวชาญให้ด้วย
เข้าสู่ปีใหม่ปีมังกรนี้มีมังกรแวะมาหาถึงที่ ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการข้อมูล ตั้งแต่หาว่าเป็นสิ่งมีชีวิตอะไร ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วก็หาข้อมูลต่อว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ จะดูแลให้อาหารการกินอย่างไร จะต้องนำไปส่งที่ไหนต่อ เปิดหัวปีมาแบบนี้ ชีวิตในปีมังกรก็น่าจะมีเรื่องสนุก ๆ เข้ามาอีกเยอะครับ
⚛ นิตยสารสาระวิทย์ ⚛
𝗙𝗮𝗰𝗲𝗯𝗼𝗼𝗸: https://www.facebook.com/sarawitnstda
𝗪𝗲𝗯𝘀𝗶𝘁𝗲: https://www.nstda.or.th/sci2pub/sarawit
𝗧𝘄𝗶𝘁𝘁𝗲𝗿: https://twitter.com/sarawitnstda
𝗕𝗹𝗼𝗰𝗸𝗱𝗶𝘁: https://www.blockdit.com/sarawit
𝗬𝗼𝘂𝗧𝘂𝗯𝗲: https://youtube.com/@SARAWITTV
โฆษณา