25 ม.ค. เวลา 02:30 • การศึกษา

จิด.ตระ.ธานี : มูเตลุย! ๑

ก่อนวิทยาศาสตร์จะพัฒนาก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง จนสามารถอธิบายปรากฏการณ์แปลกๆ ในธรรมชาติได้กระจ่างชัดอย่างทุกวันนี้ ในยุคโบราณทุกชาติทุกภาษาก็ล้วนมี #ความมู ด้วยกันทั้งนั้น
แล้วเรา “มู” กันทำไม? ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการอธิบายปรากฏการณ์แปลกประหลาดในธรรมชาติ ที่ความรู้ของคนยุคก่อนยังไปไม่ถึง อีกทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการของคนในสังคมยุคนั้นๆ อีกด้วย แต่....คำถามคือ ในเมื่อปัจจุบันวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เจริญรุดหน้าขึ้นทุกวันๆ จนเหมือนจะกลายเป็นศาสนาใหม่ไปแล้ว แต่...ทำไม? คนยังต้องการ “ความมู” อยู่อีก (“มู” ย่อจากคำเต็มว่า “มูเตลู” เกิดจากสื่อบังเทิงไทย หยิบคำนี้ขึ้นมาเรียกแทนคำว่า “ไสยศาสตร์” เพื่อให้ดูซอฟท์ขึ้นและดูน่ากลัวลดลง (ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในเชิงอรรถ)
มนุษย์มีธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ เมื่อเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ เพราะชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความแปรปรวนไม่แน่นอน จึงต้องการแสวงหาที่พึ่ง ก่อนจะเกิดศาสนาหลักๆ ในยุคนี้ เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม คนสมัยโบราณนับถือบูชา “ผี” กันมาก่อน (ศัพท์วิชาการปัจจุบันเรียกว่า “ศาสนาผี”) ก่อนคำว่า devatā (เทวดา) ในภาษาบาลี จะเข้ามาจากการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธในอุษาคเนย์ คนยุคโบราณก็เรียกเทวดาว่า “ผี” เช่นกัน
เมื่อความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจยังเกิดขึ้นได้อยู่เสมอๆ แม้จะมีศาสนาหลักๆ อุบัติขึ้นมาในโลกนานหลายพันปีแล้วก็ตาม กระทั่งวิทยาศาสตร์ที่เจริญรุดหน้าจะช่วยไขความกระจ่าง จนสามารถทำลายล้างความงมงายไปได้มากมายแค่ไหน แต่.... “ความมู” ก็ยังคงอยู่ และไม่เคยเสื่อมคลายลงแม้แต่น้อย
“มู” กินความกว้าง ไม่เฉพาะเรื่องไสยศาสตร์ แต่...ยังหมายรวมไปถึงหลายๆ เรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังให้คำตอบได้ไม่ชัดเจน (โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นนามธรรม) หรือความรู้ทางฟิสิกส์ยังไปไม่ถึง เช่น เรื่องวิญญาณ เทวดา ภูตผีปีศาจ พลังงานของจิต คาถาอาคม เป็นต้น
ผมก็เหมือนหลายๆ คน ที่เกิดในยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากแล้ว และให้คำตอบที่ชัดเจนเรื่องปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติมากมาย จนทำลายความงมงายไปได้มหาศาล แต่...พอพูดเรื่อง “ผี” ทีไร ทำไม? ยังรู้สึกกลัวจนขนหัวลุกทุกที ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน...ยืนยันว่า ผีไม่มีจริงๆ หรอก แต่....ทำไมยังกลัวชิบหาย 555+ เคยเป็นอย่างงี้กันมั่งมั้ยครับ? (ฮา) นั่นคือตัวผมสมัยก่อนโน้น.น.น..นะครับ
รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติบลาๆ ที่วิทยาศาสตร์บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า...ไม่จริง โกหก แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ยังรู้สึก...ไม่แน่ใจอยู่ดีเหมือนกัน จนเกิดวลีฮิตว่า #ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แต่คำๆ นี้ หากพิจารณากันดีๆ มันแฝงไปด้วยการข่มและขู่ (เหมือนกันนะ) ไม่เชื่อก็ได้...(สายวิทย์เหรอ?) เรื่องของมึง แต่อย่าไปจาบจ้วง หรือทำอะไรไม่ดี (ไปลบหลู่) เข้าล่ะ ไม่งั้น...ระวัง...เมิงอาจถึงตาย เหอๆ เตือนแล้วนะ!
หลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์คือความมีเหตุมีผล ต้องมีหลักฐาน ต้องพิสูจน์ได้ แม้แต่พุทธศาสตร์เอง ก็เน้นคำสอนให้เชื่อด้วยความมีเหตุและผลก่อนเช่นกัน (ถึงแม้ในพุทธศาสนาจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ มากมายก็ตาม)
ตรงนี้ทำให้วิทย์กับพุทธ ยังมีจุดเชื่อมกันและไม่ขัดแย้งกันได้ในแง่หนึ่ง แต่วิทย์...อาจยังศึกษาไปไม่ถึงพุทธในเชิงลึก โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ ก็ได้ อาทิ เรื่องอดีตชาติ ชาติหน้า ผีสางเทวดา ภพภูมิต่างๆ ที่วิทย์ในปัจจุบันยังคงปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า....เป็นเพียงความเชื่อ ไม่เคยมีอยู่จริง
ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เท่าไหร่ แต่ก็ไม่เคยคิดอะไรแผลงๆ ที่จะไปท้าทายความเชื่อของคนอื่นๆ ส่วนตัวผมกลับรู้สึกว่าถ้ายิ่ง “ไม่เชื่อ” ก็ยิ่งต้องศึกษาหาความรู้ ให้ได้คำตอบจริงๆ ให้ได้เสียก่อนสิ มันน่าจะดีกว่า ไม่ใช่รึ? เข้าทำนอง “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่เชื่อต้องเรียนรู้” แบบนั้น
จนทุกวันนี้....ผมไม่ปฏิเสธแล้วว่า ผี เทวดา หรือภพภูมิต่างๆ “ล้วนมีอยู่” หลังผ่านการศึกษาจากตำรับตำรา ครูบาอาจารย์ที่เป็นฆราวาสและพระภิกษุ แต่กว่าจะยอมรับได้....ก็ต้องหวดตัวเองอยู่หลายคราเหมือนกัน แต่ผมกลับมองว่าเป็นข้อดีนะ เพราะการที่เราไม่ใช่คนที่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ มันน่าจะดีกว่าอยู่แล้วจริงมั้ยครับ
แต่...สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น หลังจากยอมรับเรื่องพวกนี้ได้แล้ว (จากแรกๆ ที่เคยรู้สึกประหลาดใจ โอ้โห ว้าว...ตกใจ ว่าเฮ้ย! จริงเหรอวะ! จนมาถึงทุกวันนี้....กลายเป็นรู้สึกธรรมดาๆ ไปแล้ว ประมาณ อืม...มีแล้วไง) สิ่งสำคัญคือ “เราควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรมากกว่า” ให้ถูกตรงโดยไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น
แน่นอนว่า...ผมใช้องค์ความรู้ของพุทธเป็นหลักในการพิจารณา เพื่อเลือกวิธีที่จะปฏิบัติต่อกัน ซึ่งแตกต่างจากหลักความเชื่อในศาสนาอื่นๆ ที่มีแนวคิดและคำสอนที่แตกต่างกันไป ผมขออธิบายคร่าวๆ (เท่าที่พอรู้) ประมาณนี้นะครับ
1. #ศาสนาคริสต์หรืออิสลาม (มีรากเหง้าเดียวกัน แต่แตกสายออกไป บูชาพระเจ้าเพียงองค์เดียว #เอกเทวนิยม (Monotheism) จะมองชีวิตเป็นเส้นตรง เริ่มตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลก เกิดมนุษย์คู่แรก มนุษย์คู่แรกทำบาป (เชื่อคำลวงของซาตาน) จนหมดความเป็นอมตะ เกิดความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก่อนจะถึงวันพิพากษาครั้งสุดท้าย (The Judgment Day) หากมนุษย์ผู้ใดมีศรัทธาอันมั่นคงในพระผู้เป็นเจ้า จะได้รับการไถ่บาปและกลับคืนสู่อาณาจักรแห่งความสุขชั่วนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นอมตะตลอดกาล
เป้าหมายสูงสุดของศาสนาคริสต์และอิสลามคือ การได้กลับคืนไปสู่อาณาจักรอันเป็นนิรันดร์ของพระเจ้า
2. #ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มองชีวิตเป็นวัฏฏะ (วงกลม การหมุนเวียน) บูชาเทพเจ้าหลายองค์ #พหุเทวนิยม (Polytheism) มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด 3 องค์ (ตรีมูรติ) คือ
  • 1.
    #พระพรหม ทำหน้าที่สร้างโลกและสรรพสิ่งทุกๆ อย่าง (หลังพระศิวะทำลายล้างโลกเมื่อครบ 1 กัลป์ จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง)
  • 2.
    #พระวิษณุ (คนไทยเรียก พระนารายณ์) ทำหน้าที่ปกป้องดูแลรักษาโลก และอวตาร (เป็นทั้งคนและสัตว์ หาอ่านเพิ่มเติมได้ใน “นารายณ์ 10 ปาง”) เพื่อลงมาปราบยุคเข็ญต่างๆ ในโลกมนุษย์
  • 3.
    #พระศิวะ (คนไทยเรียก พระอิศวร) ทำหน้าที่ทำลายล้างโลกหลังเกิดกลียุค ให้กลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบ่งช่วงเวลาของโลกหรือ #กัลป์ (คือช่วงเวลาตั้งแต่โลกถูกสร้างขึ้น จนถึงถูกทำลายลงครั้งนึง) ออกเป็น 4 ยุค คือ
  • 1.
    #กฤตยุค : คือยุคที่มนุษย์มีความดีงามอย่างเต็มเปี่ยม
  • 2.
    #ไตรดายุค : คือยุคที่ความชั่วร้าย (ประมาณ 1 ใน 4) เริ่มเข้ามาในสังคม แต่ความดียังมีมากกว่า
  • 3.
    #ทวาปรยุค : คือยุคที่มีความชั่วร้ายเข้ามาในสังคมครึ่งหนึ่ง (50%) ความดีและความชั่วมีเท่ากัน
  • 4.
    #กลียุค : คือยุคที่มีความชั่วร้ายเข้ามาถึง 3 ส่วน ความดีเหลืออยู่เพียงส่วนเดียว ทำให้สังคมโกลาหลวุ่นวาย เพราะมีความชั่วมากกว่าความดี
เป้าหมายสูงสุดของ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ #โมกษะ คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง มีภาวะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ #ปรมาตมัน (หรืออาตมันสูงสุด) ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป (ตรงนี้แตกต่างจากพุทธศาสนา เพราะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่ามี อาตมันสูงสุด (หรือ อัตตาสูงสุด) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดและที่รวมของทุกๆ สรรพสิ่งในจักรวาล อาจเรียกได้ว่า คือการปฏิบัติเพื่อเข้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมก็ได้
3. #พุทธศาสนา มองชีวิตเป็นวัฏฏะเหมือนศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่…แตกต่างกัน (มาก) ตรงที่ไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าใดๆ เป็นผู้สร้างโลก (ศาสนาพุทธเป็น #อเทวนิยม (atheism) สอนให้เชื่อใน #กฎแห่งกรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไหลมาแต่เหตุ คือการกระทำของตนเองเป็นหลัก ใครกระทำกรรมอย่างไร (ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว และกรรมไม่ดีไม่ชั่ว) ก็จะได้ผลอย่างนั้นๆ
มีการเวียนว่ายตายเกิด (เชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า) ซึ่งเป็นไปตามกรรมของใครของมัน (ไม่มีพระเจ้าองค์ใด ที่ไหนเป็นคนกำหนดให้ได้ นอกจากการกระทำของตัวเอง)
สอนให้ประพฤติปฏิบัติตนเพื่อ “ให้ได้ตัวเองเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง” โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาที่พึ่งจากภายนอก อะไร ใดๆ อีกต่อไป (ตรงนี้สวนทางกับธรรมชาติของมนุษย์ ที่มักแสวงหาที่พึ่งจากภายนอกมากกว่า)
สำคัญคือสอนให้เข้าใจ จนหลุดพ้นจากคู่ตรงข้าม (โดยเฉพาะที่เป็นนามธรรม) เช่น ความดีและความชั่ว เป็นต้น เพราะหากยัง “ยึดความดี” ก็ยัง (หลง) สร้างภพ (หรือการแสวงหาที่เกิด) ใหม่ๆ ได้อีกไม่เลิก ไม่ได้สอนให้ละเฉพาะความชั่วเท่านั้น
แต่......ตรงนี้ผมขอวงเล็บตัวโตๆ เลยนะครับว่า จู่ๆ คุณจะอินแตก จนละทิ้งความดีเลยไม่ได้ ในเบื้องต้นคุณจำเป็นต้องละความชั่วให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยๆ สะสมสร้างกุศลกรรมฝ่ายดีให้ถึงพร้อม เหมือนกับเราจำเป็นต้องก่อสร้างบันไดขั้นแรกให้มั่นคงแข็งแรงเสียก่อน ถึงจะก่อสร้างขั้นต่อๆ ไป ให้ก้าวขึ้นไปได้
การปฏิบัติเบื้องต้นขั้นพื้นฐานสุดๆ ที่ชาวพุทธหลายคนรู้ดี แต่อาจละเลยหรือหลงลืมไปเลย ก็คือ “ศีล 5” นี่แหละครับ สำคัญมากๆ หากปฏิบัติให้ถึงพร้อมแล้ว จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งและทรงพลังมากๆ ก่อนจะก้าวสู่ขั้นที่ 2 คือ “สมาธิ” และขั้นที่ 3 “ปัญญา”
เมื่อรากฐานมีความมั่นคงแน่นปึ้กดีแล้ว ขั้นสุดท้ายปลายทาง...ท้ายของท้ายที่สุด ก็คือต้องไม่ยึดถือ “เจ้าความดี” นี้ด้วย เปรียบเสมือนบุคคลต่อแพให้แข็งแรง (ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา) โดยมีจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อจะข้ามห้วงน้ำใหญ่ (คือวัฏสงสาร ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ภยันตราย) เมื่อทำสำเร็จ....ขึ้นฝั่งได้แล้ว ก็จำเป็นต้องทิ้งแพนี้ ไม่เอาติดตัวไปด้วย
เป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือ #นิพพาน แปลว่า “ดับไม่เหลือ” พุทธไม่เชื่อว่า “อัตตา” มีอยู่จริง แต่อัตตาถูกสร้างขึ้นมาจาก “ตัณหา” เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) เมื่ออวิชชาถูกทำลายลงจนสิ้นฤทธิ์แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะ (หลง) สร้างอัตตาขึ้นมาได้อีก (นัยของการทำลายอัตตาคือ การทำลายตัณหา ที่แปลง่ายๆ ว่า “ทำลายความอยาก” นั่นเองครับ)
อู้ย....ตอนแรกกะจะเขียนสั้นๆ ลากยาวอีกแล้ว ใครจะอ่านเนี่ย? 555+
เอาเป็นว่าในฐานะที่ผมก็เป็นผู้ออกแบบสินค้าสายมูเหมือนกัน แต่....วิธีคิดอาจจะต่างกับคนที่มูๆ กันทั่วๆ ไปอยู่ เลยขอนิยามตัวเองว่าเป็น #สายมูเตลุย! ก็แล้วกัน เพราะเราควรดำเนินชีวิตด้วยความมีเหตุและผล ก่อนจะเชื่ออะไรๆ น่าจะดีกว่านะครับ จะได้เหมือนกับมีไฟส่องทาง นำชีวิตให้ก้าวเดินต่อไปด้วยความปกติสุข ไม่ให้ร่วงตกท้องร่องไปซะก่อน
และ........ผมไม่ได้บอกว่า คุณจำเป็นต้องเชื่อใดๆ ตามผมเลยนะครับ ขอให้พิจารณาด้วยตัวเอง คุณอาจจะยอมอ่านเพราะ...รู้สึกสนุกเฉยๆ ก็ได้ ผมก็ไม่ว่า เพราะผมเอง..ก็อยากจะเล่าเฉยๆ เหมือนกัน ตรงนี้....ถือเป็นบทความแรกของมูเตลุย! เลยขอเกริ่นคร่าวๆ ไว้สักนิดก่อนครับ
จิด.ตระ.ธานี #มูเตลุย!
#Jitdrathanee
เชิงอรรถ:
1. #มูเตลู : ภาพยนตร์เขย่าขวัญจากอินโดนีเซียชื่อเรื่อง Penangkal ilmu Teluh (อ่านว่า เปอนังกัล อิลมู เตอโละฮ์, ชื่ออังกฤษ Antidote for witchcraft) ออกฉายในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) มีชื่อไทยว่า “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์” คำว่า ilmu (อิลมู) แปลว่า ความรู้ หรือศาสตร์, ส่วนคำว่า Teluh (เตอโละฮ์) แปลว่า คุณไสย
แต่..พี่ไทย (คนตั้งชื่อหนัง) ตัดมาแค่คำว่า “มู” ซึ่งไม่มีความหมาย (เอาคำว่า “อิล” ออก) และจับเอาคำว่า “เตลู” มารวมกันเฉย กลายเป็น “มูเตลู” ในที่สุด เข้าใจว่า...น่าจะเป็นศัพท์สแลงที่คนไทยบางกลุ่มใช้กันมานานแล้ว
แต่...(เท่าที่ผมเข้าใจนะ) คำนี้กลายเป็นคำยอดฮิตติดปาก พูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง สมัยที่ “ตุ๊กตาลูกเทพ” บูมมากๆ ในเมืองไทย จนกลายเป็นข่าวดังออกทุกๆ สื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 (25 ม.ค. 2559) ที่เหล่าบรรดาดาราเซเลปต่างๆ ซื้อหามาบูชากันตรึม จนกลายเป็นกระแสอยู่พักนึง การที่สื่อบังเทิงไทยเลือกใช้คำว่า “มูเตลู” แทนคำว่า “ไสยศาสตร์” (ผมคิดว่า) เป็นวิธีเลี่ยง...ที่ทำให้ดูซอฟท์ลงและดูน่ากลัวน้อยลงไปด้วย...... แต่ถ้าใครอยากจะไปคุยกับคนอินโดนีเซียให้รู้เรื่อง อย่าลืมเติมคำว่า “อิล” ข้างหน้า “มู” ด้วยล่ะ!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา