12 เม.ย. เวลา 11:56 • ธุรกิจ

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นวางแผนหยุดผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน
สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น จนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่
ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมยังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนใครตั้งแต่ปี 1970 (มีอัตราผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว) จนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 1994 และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ในปี 2007
วันนี้ “ญี่ปุ่น” กำลังประสบปัญหาสัดส่วนประชากรที่ไม่สมดุลอย่างรุนแรง อัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่จำนวนผู้สูงวัยกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์ว่าในปี 2070 ญี่ปุ่นอาจเหลือประชากรเพียง 87 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 125 ล้านคน
อัตราเกิดลดลง จาก 2 ล้าน เหลือ 7 แสนต่อปี
ล่าสุดปัญหาดังกล่าว ถูกเปิดเผยให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากการปรับตัวของ Oji Holdings หนึ่งในผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นได้ประกาศยุติการผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กทารกในเดือนกันยายนที่จะถึงในปีนี้ และมุ่งเน้นไปที่การรองรับผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตามจำนวนประชากรสูงวัยของประเทศที่เพิ่มขึ้นแทน
โดยกล่าวว่าบริษัทในเครือ Oji Nepia ปัจจุบันมีการผลิตผ้าอ้อมเด็กจำนวน 400 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 2001 ที่เคยผลิตได้สูงสุด 700 ล้านชิ้นต่อปี เช่นเดียวกับที่ Unicharm ผู้ผลิตผ้าอ้อมรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2011 ว่ายอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของบริษัทนั้นแซงหน้าผ้าอ้อมสำหรับเด็กทารกไปแล้ว มีการคาดการณ์ว่าตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นจะเติบโตมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่ล่าสุด BBC News ก็ได้ออกมารายงานว่ายอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นแซงหน้าผ้าอ้อมเด็กทารกเป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นจากจำนวนทารกที่เกิดในญี่ปุ่นลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่จำนวน 758,631 คน โดยลดลงกว่า 5.1% จากปีก่อนหน้านี้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันแล้ว (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่น) ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ในปี 1970 อัตราการเกิดของทารกในญี่ปุ่นมีมากกว่า 2 ล้านคนทีเดียว
อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรญี่ปุ่นอาจลดเหลือ 80 ล้านคน
จากอัตราการเกิดดังกล่าวที่ลดลง โยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ออกแถลงเตือนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ดังกล่าวเรียกว่าเข้าขั้น “วิกฤต" และมีเวลาเหลืออยู่ไม่มากนักที่ผู้ประกอบการจะปรับตัว
ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ประเทศของเขาจวนจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสังคมที่สมบูรณ์ได้ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง และยังต้องต่อสู้กับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นมากกว่า 1 ใน 10 คน มีอายุ 80 ปีขึ้นไปตามข้อมูลระดับชาติ
มีการตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดย 29.9% ของประชากร 125 ล้านคน มีอายุอยู่ที่ 65 ปีขึ้นไป โดยอัตราการเกิดที่ต่ำและประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อการหดตัวของประชากรญี่ปุ่นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าจะลดลงประมาณ 30% เหลือ 87 ล้านคนภายในปี 2070 (เดอะการ์เดียนรายงาน)
โดยจำนวนประชากรที่ลดลง ได้กลายเป็นวิกฤตสำหรับญี่ปุ่น รัฐบาลมีความพยายามทุ่มทุนในโครงการจูงใจคนในประเทศให้มีบุตรมากขึ้น ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยจะได้ผล เช่นเดียวกันกับจีนเองที่พยายามนำเสนอสิ่งจูงใจต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด จากจำนวนประชากรที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเช่นกัน เหมือนกับหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ ที่กำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดของประชากรลดลงเช่นกัน
กลับมาที่ Oji Holdings ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้บริษัทจะวางแผนเลิกผลิตผ้าอ้อมเด็กในญี่ปุ่นไปแล้ว แต่จะยังคงผลิตผ้าอ้อมเด็กในตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น
สำหรับในบ้านเราเอง แม้จะยังไม่เกิดวิกฤตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในอีกไม่ช้า คงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เตรียมทางหนีทีไร คิดพลิกแพลงธุรกิจเอาไว้ล่วงหน้าก่อนก็ดี
TEXT : Sir. Nim
#วิกฤตสูงวัย #สังคมผู้สูงอายุ #ตลาดผ้าอ้อมญี่ปุ่น #sme #smethailand #เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี #เรื่องธุรกิจต้องSMETHAILAND
โฆษณา