17 เม.ย. เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์

ภาระที่ต้องแบกไว้บนบ่าและบาดแผลทางใจของ ‘ลูกสาวคนโต’

คำว่า “ครอบครัว” ฟังดูเผินๆ เราก็อาจจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของความอบอุ่น เป็นกันเอง หรือรักใคร่กลมเกลียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับใครบางคนเมื่อนึกถึงคำนี้อาจรู้สึกถึงสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง อย่างเช่นความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อใจ หรือน้อยใจ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้พบได้บ่อยในเหล่า “ลูกสาวคนโต”
หากใครยืนอยู่ในจุดดังกล่าวคงจะเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้จริงๆ ว่าลูกสาวคนโตของหลายครอบครัวนั้นเป็นกลุ่มคนที่มักจะต้องแบกภาระอะไรหลายๆ อย่างไว้บนบ่า ตั้งแต่การดูแลน้องๆ ช่วยทำงานบ้านในแต่ละวัน ดูแลพ่อแม่ที่ป่วย ไปจนถึงจัดแจงซื้อของต่างๆ เข้าบ้านอยู่เสมอ
ลูกสาวคนโตหลายบ้านมักจะได้รับบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ ในบ้าน ที่ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนาพอสมควรสำหรับคนเพียงแค่คนเดียว ซึ่งบางคนต้องเจอกับเรื่องราวเหล่านี้มาตั้งแต่อายุยังน้อย และเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ก็มีหลายคนมองว่า “ลูกคนโตดูแลน้องที่ยังเด็กกว่าก็ถูกแล้วนี่” หรือ “ลูกสาวยังไงก็ดูแลดีกว่าลูกชายอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ก็ถูกแล้วนี่ที่จะให้ดูแลเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน” สิ่งเหล่านี้ถือเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานจนทำให้เรามองว่าเป็นเรื่องปกติ
แต่ลูกสาวคนโตในหลายๆ บ้านที่ต้องเป็นคนเผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้โดยตรงมองว่า การต้องมาทำทุกสิ่งทุกอย่างคนเดียวภายในบ้านนั้นไม่ยุติธรรม อีกทั้งยังส่งผลร้ายต่อชีวิต สุขภาพ และสุขภาวะของตัวเองอีกต่างหาก จนทำให้ Eldest Daughter Syndrome กำลังมาแรงและเป็นที่พูดถึงอยู่ ณ ปัจจุบัน
Eldest Daughter Syndrome คืออะไร?
1
หากพูดถึงโลกแห่งความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้หญิงต่างก็ได้รับการศึกษาและมีงานทำมากกว่าสมัยก่อน แต่ถึงแม้ว่าจะมีงานทำนอกบ้านก็ยังต้องดูแลงานภายในบ้านอยู่ดี โดยมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 5 ถึง 14 ปีใช้เวลาไปกับการทำงานบ้านมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 40%
1
และหากเราพิจารณาจากลำดับขั้นของครอบครัวแล้ว แน่นอนว่าลูกสาวคนโตจะได้รับศึกหนักสุดในหมู่พี่น้อง เพราะสังคมมองว่าเป็นผู้หญิงจะต้องดูแลงานบ้านงานเรือน และเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง บางคนทำหน้าที่เกือบจะเป็น ‘แม่’ เต็มตัวให้กับน้องๆ เวลาที่พ่อหรือแม่ไม่อยู่เสียด้วยซ้ำ
นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ลูกคนโตยังต้องแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่ที่สูงกว่าน้องคนอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังเรื่องความสำเร็จ จะต้องมีหน้าที่การงานที่ดี เพราะลูกคนแรกถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้าน หรือความคาดหวังเรื่องพฤติกรรม เราจะต้องเป็นเด็กดีเสมอ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เกเร เพื่อที่โตไปจะได้เป็นที่พึ่งให้กับครอบครัว และน้องคนอื่นๆ จะได้เดินรอยตาม
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว เมื่อไม่นานมานี้ลูกสาวคนโตของใครหลายๆ คนจึงออกมาเปล่งเสียงเล่าเรื่องราวของตนเอง จนเกิดเป็นกระแส Eldest Daughter Syndrome ขึ้นมาในโลกโซเชียล ซึ่งหลายคนก็มองว่าภาระทั้งหมดที่ลูกสาวคนโตได้รับนั้นส่งผลต่อบุคลิกภาพ พฤติกรรม ความสัมพันธ์ รวมไปถึงสุขภาวะตลอดทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่
อย่างเช่น ดร. อาวิเกล เลฟ นักบำบัดที่ทำงานอยู่ ณ ซานฟรานซิสโก ชี้ว่า สมมติว่าเราเป็นพี่สาวคนโตที่ต้องเลี้ยงดูหรือรับผิดชอบน้อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับน้องได้
อย่างไรก็ดี Eldest Daughter Syndrome นั้นยังไม่ใช่กลุ่มอาการที่อยู่ในคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) อย่างเป็นทางการ แต่เป็นสิ่งที่หลายคนเริ่มสังเกตเห็นในชีวิตจริงกันมากขึ้น โดยอาจจะประสบด้วยตัวเองหรืออาจเห็นจากคนรอบตัว
3
บาดแผลทางใจของลูกสาวคนโต
การเป็นลูกสาวคนโตบางครั้งก็อาจพ่วงมาด้วยความเครียดที่มากขึ้น โดยมีงานวิจัยชี้ว่า Parentification หรือการที่เด็กได้รับภาระหน้าที่มากเกินกว่าอายุและวุฒิภาวะของตนเองมีความสัมพันธ์กับผลเสียหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า ความผิดปกติในการกิน และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
2
แม้ว่าเด็กๆ จะมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการจัดการงานในโรงเรียนหรือมีผลการเรียนที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อยู่ดี อย่างเช่นการทำงานหนักเกินกว่าเหตุในอายุเพียงน้อยนิด นอกจากนี้ก็อาจก่อเกิดเป็นบาดแผลทางใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
1) พยายามไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบ
ลูกสาวคนโตต้องเผชิญกับความกดดันอันเนื่องมาจากความคาดหวังของพ่อแม่และคนในครอบครัวคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจนำไปสู่การพยายามไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไปได้ และแน่นอนว่าอะไรที่มากจนเกินพอดีย่อมไม่เป็นผลดีต่อตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสุขภาพจิต
1
2) มีความวิตกกังวล
อย่างที่กล่าวไปว่าเราอาจแสวงหาความสมบูรณ์แบบ พอเราไม่สามารถทำได้ตามที่ตัวเองและคนอื่นคาดหวัง สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นคือความวิตกกังวลและความเครียด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถทำตามความคาดหวังของทุกๆ คนได้
3) หาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตัวเองไม่เจอ
สำหรับใครที่ต้องเดินในเส้นทางที่พ่อแม่วางไว้อยู่ตลอดเวลา เช่น อยู่บ้านจะต้องทำงานบ้าน ดูแลน้องๆ อยู่โรงเรียนจะต้องเป็นเด็กดีและตั้งใจเรียนหนังสือให้ได้เกรดดีๆ พอเข้ามหาวิทยาลัยต้องเรียนตามที่พ่อแม่จัดแจงไว้ให้ สุดท้ายแล้วเราจะไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเรานั้นเป็นใคร อยากทำอะไร หรืออยากมีชีวิตแบบไหนกันแน่ เพราะเราจะไม่สามารถแยกความคาดหวังของตัวเองกับความคาดหวังของคนรอบข้างออกจากกันได้
4) มี Self-Esteem ต่ำ
สิ่งนี้ก็เป็นผลมาจากความคาดหวังที่สูงและการพยายามไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบเช่นกัน เพราะถ้าเราทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งและไม่มีอะไรดีพอ ซึ่งมันจะทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงไปเรื่อยๆ
5) รู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่พึ่งทางใจ
เนื่องจากลูกสาวคนโตถูกมอบหมายให้ดูแลน้องๆ ตั้งแต่ยังเด็ก จึงรู้สึกว่าตัวเองจะต้องเป็นคนที่เข้มแข็งและจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ทีนี้หากตัวเองเผชิญกับปัญหาอันน่าหนักใจเสียเองก็อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องพึ่งพาใครหรือขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะที่ผ่านมาแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองมาตลอด ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้ลูกสาวคนโตรู้สึกโดดเดี่ยวและเหงาใจได้
ดังนั้น ลูกสาวคนโตจึงต้องหาทางสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของตัวเองกับความคาดหวังของครอบครัวให้ได้ แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานในสังคมของเรา
ทำอย่างไรเมื่อให้เดินหน้าดูแลทุกคนต่อไปก็เหนื่อยล้าเกินทน
สิ่งที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากเรื่องราวเหล่านี้ได้คือ เราต้องทำลายวงจรนี้ลง เราจะต้องทำให้ครอบครัวปลดปล่อยความคิดที่ว่าจำเป็นต้องมี ‘เรา’ เป็นผู้ดูแล ‘ทุกอย่าง’ ในบ้านให้ได้ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าเรายอมรับได้หรือไม่ถ้าจะกลายเป็นตัวร้ายสำหรับคนในบ้าน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นถึงความเป็นจริงมากขึ้น เช่น การละทิ้งความต้องการของครอบครัวและทำตามหัวใจตัวเองบ้าง
อีกทั้งยังมีกลยุทธ์อื่นๆ ที่เราสามารถทำได้อีก อย่างเช่น ฝึกให้ตัวเองกล้าพูดกล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง พยายามสร้างขอบเขตให้ตัวเองว่าเรื่องไหนสามารถทำให้ได้และเรื่องไหนไม่สามารถทำให้ได้ เมื่อครอบครัวก้าวล้ำเส้นแบ่งเข้ามา ก็ต้องกล้ายืนหยัดเพื่อตัวเอง แม้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกผิด เราก็จำเป็นต้องอดทน ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้แล้วเรายังต้องรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง อย่าพึ่งพาตัวเองมากเกินไปจนใจตัวเองเจ็บ บางครั้งเราอาจคิดว่าการขอความช่วยเหลือคือเราไม่เก่ง ไม่ดีพอ หรืออะไรก็ตาม ให้จำไว้เสมอว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียทุกเรื่องก็ได้ อนุญาตให้ตัวเองได้อ่อนแอบ้าง
สุดท้ายนี้ สิ่งที่เราควรทำมากที่สุดก็คือการรักและดูแลตัวเอง พยายามเห็นอกเห็นใจตัวเอง ใจดีกับตัวเอง และดูแลเอาใจใส่ตัวเองบ้าง อย่าแบกความคาดหวังของคนอื่นไว้บนบ่ามากไปจนลืมคนที่สำคัญที่สุดอย่าง ‘ตัวเราเอง’ แม้ว่าทุกอย่างจะไม่ได้ดีขึ้นทันทีที่ทำ แต่เชื่อว่าในระยะยาวมันจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นลูกคนโต คนเล็ก หรือคนกลาง ก็ต้องเป็นเพื่อน พี่ และน้องในโลกแห่งการทำงานกันทั้งนั้น สำหรับใครที่ต้องการบาลานซ์ระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้ตัวเองหมดไฟ หรือการเป็นหัวหน้าที่คำนึงถึงความสำเร็จกับการเป็นคนธรรมดาที่คิดถึงจิตใจผู้อื่น
ก็ต้องห้ามพลาด! กับงาน "Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน" มาร่วมเติมพลังใจและเสริมทักษะเอาชีวิตรอดให้รอบด้าน ในโลกการทำงานยุคใหม่ไปด้วยกัน วันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 09.00-18.00 น. ณ Bitec Bangna Bhiraj Hall 2-3
📌สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Mission-To-The-Moon-Forum-2024?ref=Fcm
อ้างอิง
- Navigating the Challenges of Eldest Daughter Syndrome : Kendra Cherry, Verywell Mind - https://bit.ly/49p3iUl
- What is ‘eldest daughter syndrome’ and how can we fix it? : Yang Hu, The Conversation - https://bit.ly/3PRpyiA
1
#psychology
#EldestDaughterSyndrome
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา