27 เม.ย. เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

5 ข้อเสียของการลงทุนแบบ VI (ใช่ครับ...มันไม่ได้มีแต่ข้อดี)

[Investing] มีคำกล่าวหนึ่งที่ถูกใช้ในทางเศรษฐศาสตร์อยู่บ่อยๆ ว่า “There is no such thing as free lunch.” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “มันไม่มีหรอกอะไรที่ได้มาฟรีๆ” อยากได้อะไร ก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน
แต่คำกล่าวนี้สามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย
เพราะไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่ดีไปหมดทุกอย่าง และทุกอย่างก็มีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น
หากใครที่เคยศึกษาหรือเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว น่าจะเคยได้ยินเรื่องการลงทุนแนว “VI” หรือ “Value Investing” มากันบ้างแล้ว
ส่วนตัวผมเองก็เป็นนักลงทุนแนวนี้เช่นเดียวกัน เพราะเข้ากับสไตล์การลงทุนของตัวเอง (ที่จริงเคยพยายามไปสายซิ่งแล้วใจไม่นิ่งพอ เสียหายไปหลายอยู่)
ข้อดีของการลงทุนแบบ VI คือเป็นการลงทุนแบบคนใจเย็นหน่อย ลงทุนในหุ้นคุณค่า (Value Stock) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีราคาถูกกว่าราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎี แต่จะมีปัจจัยพื้นฐานดี มีโอกาสเติบโต รวมถึงมีอัตราการปันผลที่ดีด้วยเช่นกัน เน้นการลงทุนเพื่อทำกำไรในระยะยาว (บางช่วงก็ย๊าวววววว...ยาว)
แต่อย่างที่เกริ่นไป “There is no such thing as free lunch.”
ในหนังสือ “รวยด้วยหุ้น” ที่เขียนโดยนักลงทุนแนว VI อย่าง “วิบูลย์ พึงประเสริฐ” บอกว่าการลงทุนแบบ VI ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน
➡️ 1. ตัวเลือกในการลงทุนจำกัด : นักลงทุนแบบ VI ถือว่าตัวเองซื้อการเป็นหุ้นส่วนของบริษัท เข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีในช่วงราคาที่สมเหตุสมผล ไม่แพงมาก มีส่วนเผื่อของราคาเอาไว้พอสมควร และถือหุ้นเอาไว้เป็นระยะเวลานาน
หลักการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตค่อนข้างเยอะ ต้องมีข้อได้เปรียบในระยะยาว สามารถแข่งขันในตลาดได้ มีหนี้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ซื้อหุ้นที่ไม่เข้าใจในธุรกิจ ฯลฯ
การมีข้อจำกัดเยอะๆ ก็ทำให้ตัวเลือกในการลงทุนน้อยลงไปด้วย ตามขอบเขตที่กำหนดเอาไว้
➡️ 2. โอกาสมาไม่บ่อยนัก : โอกาสบางครั้งโผล่มา แต่ติดเงื่อนไขบางอย่างที่ตั้งเอาไว้ ก็ตัดสินใจไม่ลงทุน บางอย่างเป็นเรื่องชั่วคราว
ตัวอย่างเช่น ตัวเลขบางอย่างในงบการเงิน การลงทุนของบริษัทที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจของเรา บางทีไม่เห็นภาพเดียวกับทิศทางของบริษัท หรือได้ยินข่าวว่าผู้บริหารขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราอาจจะคิดไปว่าบริษัทกำลังมีปัญหา แต่ที่จริงแล้วผู้บริหารเตรียมขายหุ้นไว้นานแล้วเพื่อไปใช้จ่าย ฯลฯ
➡️ 3. เงินอยู่ในหุ้นหมด : บางครั้งเห็นโอกาสแต่ซื้อไม่ได้ เพราะเงินอยู่ในหุ้น 100% ทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนในบริษัทดีๆ ไป
การขายที่มีอยู่ในมือแล้วไปซื้อตัวใหม่ ต้องมั่นใจมากๆ ว่าตัวใหม่ต้องดีกว่าที่ถืออยู่หลายเท่า เพราะการเปลี่ยนบริษัทลงทุนก็ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเช่นกัน
➡️ 4. ทนเห็นหุ้นราคาลดได้ ในตลาดที่ผันผวน : บางครั้งเราเห็นภาวะตลาดหมี เกิดการเทขายหุ้นทั้งตลาด ซึ่งบริษัทที่เราถืออยู่แม้พื้นฐานจะไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ด้วยอารมณ์ความกลัวของตลาด ก็พาราคาลงไปด้วยได้เช่นกัน
นักลงทุนต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากตัวบริษัทเอง หรือว่าเกิดจากอารมณ์กันแน่
➡️ 5. ทนเห็นหุ้นอื่นๆ วิ่งแซงหน้า ตัวที่เราถืออยู่ : บางครั้งตลาดก็คึกคัก มีภาวะกระทิง คนแห่เข้ามาซื้อหุ้น เขียวไปทั้งกระดาน แต่หุ้นที่เราถืออยู่อาจจะไม่ได้วิ่งแรงเหมือนคนอื่นเขา
นักลงทุนเน้นคุณค่าอาจจะต้องนั่งทับมือตัวเองและทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) หนึ่งในนักลงทุนเน้นคุณค่าในตำนานเคยกล่าวว่า “คุณจำเป็นต้องอดทนเป็นอย่างมาก คุณต้องรอให้มีบางสิ่งเกิดขึ้นจนทำให้ราคาหุ้นง่ายต่อการเข้าซื้อ สิ่งนี้เป็นเรื่องขัดแย้งต่อนิสัยของมนุษย์ ที่จะให้นั่งอยู่เฉยๆ ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร"
สุดท้ายแล้วการลงทุนไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็จะมีข้อดี/ข้อเสียของตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่ดีไปหมด คุณอยู่กับลักษณะนิสัย วิถีการใช้ชีวิต และแนวคิดเรื่องการลงทุนของแต่ละคนว่าจะทำแบบไหนแล้วสบายใจ
📌 มีคำกล่าวหนึ่งของพี่หนุ่ม Money Coach ที่ผมเคยได้ยินมาและเชื่อว่าจริงไม่น้อยคือ “การลงทุนที่ดีที่สุด อาจไม่ใช่การลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนได้สูงสุด แต่มันคือการลงทุนที่ทำให้คุณนอนหลับฝันดี”
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
[อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ “รวยด้วยหุ้น”]
#การเงิน #การลงทุน #investing #valueinvesting #VI #ข้อเสียของVI
โฆษณา