28 เม.ย. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“หุ้นถูก” vs “หุ้นแพง” เทียบจากเมื่อวาน หรือมูลค่าที่แท้จริง

คำตอบทางจิตวิทยาที่เฉลยว่า ทำไมนักลงทุน "ชอบเทียบราคากับวันก่อนหน้า"
ในช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา อากาศที่ว่าร้อนมากๆ แล้ว ยังร้อนสู้อุณหภูมิการเมืองในต่างประเทศไม่ได้ เมื่ออิหร่านได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่อิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุป ตามมาด้วยอิสราเอลถล่มอิหร่านกลับ ทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์หลังสงกรานต์ติดลบต่อเนื่องกันจาก 1400 จุดในวันที่ 10 เมษายน เหลือ 1330 จุดในวันที่ 19 เมษายน
ตลาดลงขนาดนี้ เราซื้อหรือขายหุ้น (หรือกองทุน) จากประสบการณ์ที่ขายกองทุนรวมมานาน ช่วงตลาดลงหนักๆอย่างนี้ ผมมักจะเห็นนักลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะกองทุนที่มีเงื่อนไขต้องลงทุนระยะยาว อย่างเช่น RMF, SSF เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ อะไรคือเหตุผลของการตัดสินใจ
การลงทุน คือ การจ่ายเงินในวันนี้ เพื่อผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเยอะๆ ก็จะเลือกลงทุนในราคาที่ถูก
แต่คำว่า “ถูก” คือเทียบกับอะไร?
💰1. เทียบกับราคาเมื่อวาน ถ้าราคาถูกกว่าเมื่อวาน อันนี้เรียกว่า “ถูก” แต่ถ้าราคาแพงกว่าเมื่อวาน อันนี้เรียกว่า “แพง”
💰2. เทียบกับมูลค่า ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าของหุ้น อันนี้เรียกว่า “ถูก” ถ้าราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าของหุ้น อันนี้ก็เรียกว่า “แพง”
หากพิจารณาตามหลักเหตุผล การลงทุนที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการลงทุนที่ “ราคาถูกกว่าเมื่อวาน” และ “ราคาต่ำกว่ามูลค่า” พูดง่ายๆ คือ “ซื้อของดี ตอนลดราคา” นั้นเอง
แล้วนักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า คำตอบคือ นักลงทุนส่วนใหญ่จะมองว่าของถูก โดยให้ความสำคัญกับราคาที่ถูกกว่าเมื่อวานมากกว่า โดยมีเหตุผลทางจิตวิทยาการลงทุน 2 ข้อที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ครับ
➡️1. จิตวิทยาการลงทุนที่เกี่ยวข้องอย่างแรกเรียกกันว่า “Reference Point Bias”
คือ การที่คนเรามักกำหนดจุดอ้างอิงในการตัดสินใจเสมอไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในตลาดหุ้นก็เหมือนกัน สมมติว่าเราสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งเมื่อ 3 เดือนที่แล้วราคาอยู่ที่ 30 บาท ตอนนี้ราคาเป็น 60 บาท คนส่วนใหญ่จะตัดสินใจที่จะไม่ลงทุนมองว่าที่ราคา 60 บาท หุ้นแพงไปแล้ว เพราะจุดอ้างอิงของเขา คือ 30 บาท ปรากฏว่าผ่านไป 2 สัปดาห์หุ้นตัวนั้นไม่ตกกลับพุ่งขึ้นไปถึง 100 บาท แล้วต่อมาตกฮวบลงมาเหลือ 70 บาท ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยทั้งภาวะตลาดและตัวหุ้น คิดว่าคนส่วนใหญ่จะ
(1) ตัดสินใจซื้อเพราะมองว่าหุ้นถูกเมื่อเทียบกับที่เคยขึ้นไปถึง 100 บาท หรือ
(2) ไม่ซื้อเพราะยังแพงอยู่เมื่อเทียบกับราคา 30 บาท ที่เราเคยมองไว้
คำตอบคือ คนส่วนใหญ่จะมองว่าหุ้นราคา 70 บาท ตอนนี้ถูกน่าซื้อ ทั้งที่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ราคา 60 บาทบอกแพงไป ทั้งที่เป็นหุ้นตัวเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เหตุผลก็เพราะการตัดสินใจของนักลงทุนมักจะขึ้นอยู่กับจุดอ้างอิง ในกรณี นี้ ราคาหุ้นที่เปลี่ยนไป เป็นจุดอ้างอิงในการตัดสินใจทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็น 30, 60, 100, หรือ 70 บาท แต่จุดอ้างอิงที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมาก ที่สุด คือ จุดที่ใกล้ที่สุด ดังนั้นตอนที่หุ้นขึ้นจาก 30 บาท เป็น 60 บาท เราจึงมองว่าหุ้นแพง แต่ตอนที่หุ้นตกจาก 100 บาท เป็น 70 บาท เรากลับมองว่าหุ้นถูก เพราะเราเปลี่ยนจุดอ้างอิงจาก 30 บาท เป็น 100 บาทนั่นเอง
เมื่อพฤติกรรมของคนเราเป็นอย่างนี้ จึงเป็นธรรมดาที่คนส่วนใหญ่ชอบซื้อหุ้นขาลง การตัดสินใจลงทุนอย่างนี้มีความเสี่ยงมากๆ เพราะการลงทุนคือ การจ่ายเงินวันนี้เพื่อผลตอบแทนในอนาคต แต่เรากลับตัดสินใจลงทุนโดยอาศัยแค่ข้อมูลราคาในอดีตเท่านั้น การที่ราคาหุ้นตกวันนี้อาจเป็นเพราะมีข้อมูลสำคัญบางอย่างที่มีผลทำให้หุ้นราคาตกไป อย่างเช่น ธุรกิจมีปัญหาทางการเงิน ภาระหนี้มีสูง ฯลฯ ทำให้แม้เราจะซื้อ “ถูก” กว่า “เมื่อวาน” แต่ก็อาจจะ “แพง” กว่า “พรุ่งนี้” ก็ได้
อ้าว แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ถึงสนใจแต่ราคา “ถูกเมื่อเทียบกับราคาเมื่อวาน” มากกว่า “ถูกเมื่อเทียบกับมูลค่า” อันนี้เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการลงทุนอย่างที่ 2 ที่เรียกว่า “Availability Bias”
➡️2. จิตวิทยาการลงทุนที่เกี่ยวข้องอย่างที่สองเรียกกันว่า “Availability Bias”
คือ คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกรับเฉพาะข้อมูลผิวๆ ที่หาได้ง่าย อย่างเช่น ตัดสินใจจากการฟังข่าว หรือ คำแนะนำจากสื่อต่างๆ อาทิ line group, facebook เป็นต้น
และข้อมูลที่หาได้ง่ายที่สุด คือ “ราคา” โดยไม่หาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างเช่น มูลค่าของหุ้น อย่างที่ทราบกันคือ “ราคาหุ้นจะสะท้อนข้อมูลเรียบร้อยแล้ว” การที่ “ราคา” ปรับขึ้นหรือลดลงก็จะมีเหตุผลประกอบอยู่เสมอ ซึ่งหมายถึง การที่ราคาหุ้นวันนี้ “ถูก” กว่าเมื่อวาน เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ดังนั้นการตัดสินใจโดยสนใจแต่ราคาอย่างเดียวแบบนี้อาจทำให้เราผิดพลาดในการลงทุนได้มากเช่นกัน
ที่กล่าวมาเป็นเพียงจิตวิทยาการลงทุน 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของเรา จริงๆแล้วการตัดสินใจของเราในทุกเรื่อง “อารมณ์” มักจะมีต่อการตัดสินใจมากกว่า “เหตุผล” เสมอ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราควรทำอย่างไรที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมีเหตุมีผล ตอบง่ายๆ คือ มีสติ อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ครับ มิน่า ถึงกล่าวกันว่า “AI” เก่งกว่า “คน” เพราะไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจนั่นเอง
เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
ภาพ: ภควดี เหมพานิช
#aomMONEY #ลงทุน #วางแผนลงทุน #Money #stock #หุ้น
โฆษณา