28 เม.ย. เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"ดอลลาร์แข็ง และเงินบาทอ่อน" ปัญหารุมเร้าทั้งภายในภายนอก

InnovestX มองต้องระวังมาก มีสิทธิ์อ่อนค่าต่อ ก่อนจะดีขึ้นช่วงปลายปี
[interview] เงินบาทอ่อนค่าหนักที่สุดในรอบ 6 เดือน และเงินบาทยังอ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากเงินเยนญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 7.7% ตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 37 บาท/ดอลลาร์
เรื่องนี้เกิดจากอะไร ปัจจัยอะไรที่เป็นสาเหตุ ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจยังไงในภาพรวม และที่สำคัญแนวโน้มทิศทางจะเป็นยังไงต่อจากนี้?
aomMONEY มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ InnovestX บริษัทการเงินการลงทุน ภายใต้กลุ่ม SCBX ถึงประเด็นนี้
อย่างที่เราทราบกันดีว่าค่าเงินทุกสกุลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน การแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินบาทนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลบาท กับสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะใช้เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
เงินแข็งค่าขึ้น คือการที่เงินสกุลนั้น ๆ แข็งแรง และมีมูลค่ามากกว่าเมื่อนำไปเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ทำให้สามารถนำเงินสกุลที่แข็งค่าไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่น ๆ ได้จำนวนมากขึ้น
ส่วนเงินอ่อนค่าลง ก็เป็นเหตุการณ์ที่ตรงข้าม เงินสกุลนั้น ๆ มีมูลค่าที่ลดลงเมื่อนำไปเทียบกับสกุลเงินอื่น
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเงินบาทไทย?
💵 [[ #ดอลลาร์แข็ง_และ_เงินบาทอ่อน ]]
ดร. ปิยศักดิ์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มา “ดอลลาร์แข็ง และ เงินบาทอ่อน” สองปัจจัยใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในตอนนี้
📍ดอลลาร์แข็งขึ้นมี 2 ปัจจัย
➡️ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ : ความเสี่ยงในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่านแม้จะลดลงในช่วงนี้ แต่ตลาดก็ยังมีความกังวลก็ยังมีมากขึ้นอยู่ เมื่อมีความกังวลคนก็หันมาถือเงินดอลลาร์ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่
เมื่อความต้องการดอลลาร์เยอะขึ้น ก็แข็งค่าขึ้น
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา U.S. Dollar Index (ตัววัดความแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ทั้งหมด 6 สกุล ประกอบด้วย เงินเยนญี่ปุ่น เงินปอนด์อังกฤษ เงินดอลลาร์แคนาดา เงินโครนาสวีเดน เงินฟรังก์สวิส และเงินยูโร) ขึ้นมาแล้วประมาณ 4% กว่าๆ
➡️ 2. เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศอเมริกาที่ยังดูแข็งแรงและดอกเบี้ยที่ยังสูงไปอีกระยะหนึ่ง : จากที่เห็นตัวเลขการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง เศรษฐกิจแม้ช่วงหลังๆ อาจจะดูแผ่วลงบ้าง จากตัวเลข GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาล่าสุดที่อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน ผลมาจากดอกเบี้ยที่ยังสูง แต่ก็ยังถือว่า ‘ยังแข็งแกร่งจริงๆ’ ดร. ปิยศักดิ์กล่าว
IMF เพิ่งมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศอเมริกาขึ้นจาก 2.1% -> 2.7% ในปีนี้
เงินเฟ้อแม้จะลงมาเร็วจาก 9% ->3% แต่หลังจากนั้นก็ยังกดไม่ลงเลย
ช่วงหลังๆ เงินเฟ้อก็กลับขึ้นมาอีก เพราะราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น “จากที่เคยมองว่าราคาน้ำมันปีนี้จะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรากฏว่ามันเพิ่มขึ้นมาตอนนี้อยู่ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เงินเฟ้อมันเลยไม่ลง เป็นผลที่ทำให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยยากขึ้น”
เมื่อดอกเบี้ยของอเมริกาลดไม่ได้ ดอลลาร์ก็แข็งขึ้น แถมยังได้รับแรงหนุนที่ว่าเงินเฟ้อยุโรปเริ่มลดลงและมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงก่อนด้วย หรือเงินเยนที่คนก็มองว่ายังไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกง่ายๆ เลยทำให้ดอลลาร์ยิ่งแข็งขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ
📍เงินบาทอ่อนเพราะ 3 ปัจจัยคือ
➡️ 1. ความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทย : ช่วงที่ผ่านมามีความคาดหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่ก็เผชิญความไม่แน่นอนหลายอย่าง ทั้งประเด็นทางการเมือง หรือมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่ตอนแรกก็ไม่รู้จะจบยังไง เลื่อนมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายปักหมุดที่ปลายปี (แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะจบยังไง)
พอความเชื่อมั่นลดลง ก็ทำให้เงินบาทอ่อนแรงกว่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค
➡️ 2. นโยบายการเงินที่ชะลอลงแต่ดอกเบี้ยยังสูงอยู่ : “หลายฝ่ายมองว่าถ้าลดดอกเบี้ยแล้วค่าเงินจะอ่อน แต่การไม่ลดดอกเบี้ยแล้วทำให้เศรษฐกิจดูไม่ดีมากขึ้น มันเลยทำให้ค่าเงินอ่อนด้วยซ้ำ” ดร. ปิยศักดิ์ มองถึงประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ยังคงตรึงอยู่ที่ระดับสูง
เหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะว่านักลงทุนเมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจไทยดูไม่ดี ก็ปรับมุมมองไปในทางลบมากขึ้น ชะลอการลงทุน “เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 68,000 ล้านบาทแล้ว” ทั้งที่เดิมที Goldman Sachs หนึ่งในกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนและกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมองว่าปีนี้ตลาดไทยควรลงทุนมากกว่าที่อื่นๆ ด้วยซ้ำ
ด้วยภาพของเศรษฐกิจแบบนี้ก็ส่งผลต่อในตลาดพันธบัตรเองด้วย ทาง J.P. Morgan ก็ลดน้ำหนักความน่าสนใจในพันธบัตรไทยลง แล้วไปให้น้ำหนักของอินเดียมากขึ้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่กลางปีนี้จนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าเลย
“เงินในตลาดพันธบัตรจะหายไปเดือนละประมาณ 8,000 ล้านบาท เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมเศรษฐกิจไทยซึมเซาลงเลย” เพราะนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป
➡️ 3. เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่ดีเท่าไหร่ : แม้ส่งออกจะดูดีขึ้นในช่วงต้นปี การท่องเที่ยวอาจจะมีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ก็นำเข้ามากขึ้นด้วย ทำให้ดุลการค้าไม่ได้เกินดุลมากอย่างที่คาดการณ์เอาไว้
1
เมื่อรวมเอาสามประเด็นนี้เข้าด้วยกัน จึงส่งผลให้เงินบาทของเราอ่อนมากๆ ในภูมิภาค
😱 [[ #บาทยังอ่อนไปได้ต่ออีก ]]
เงินบาทต่อจากนี้ สิ่งที่ต้องคอยสังเกตและระวังคือภาพใหญ่ของโลก เพราะต่อจากนี้บาทคงคล้อยไปกับภูมิภาค
ด้วยภาพเศรษฐกิจอเมริกาที่ยังเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยยังลดยาก ดอลลาร์ยังจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
“ในไตรมาสสองเงินบาทน่าจะอยู่ที่ราวๆ 37 บาท/ดอลลาร์ และไตรมาสสามอยู่ที่ราวๆ 37.5 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะไปดีขึ้นในไตรมาส 4 หากอเมริกาลดดอกเบี้ยจริงๆ”
ภาพตรงนี้จะไปซ้อนทับกับปีก่อนๆ ที่ช่วงท้ายของปี เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากการเร่งการส่งออกและเป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น “ไตรมาส 4 อาจจะที่ราวๆ 34.5 บาท/ดอลลาร์ จากที่ปีก่อนๆ จะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงนี้ประมาณบาท-สองบาท”
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าอเมริกาจะลดดอกเบี้ยได้รึเปล่าด้วย ส่วนปัจจัยในประเทศก็น่าจะนิ่งขึ้นและความกังวลก็น่าจะทรงๆ ต่อไปประมาณนี้ ส่วนเศรษฐกิจไทยเองก็น่าจะดีขึ้นบ้าง “เพราะตั้งแต่ต้นปีมามันค่อนข้างแย่ แต่ต่อไปภาคส่งออกน่าจะช่วยได้บ้าง และมีท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ก็น่าจะช่วยให้ ไตรมาสสอง สาม สี่ ดีขึ้นได้”
สิ่งที่ดร. ปิยศักดิ์ ฝากเอาไว้สำหรับนักลงทุนคือเรื่องความผันผวนที่ยังจะเกิดขึ้นต่อไป แม้สถานการณ์ในตะวันออกกลางจะเงียบลงไป แต่มันก็ยังมีมาเรื่อยๆ สินทรัพย์ที่ควรถือเก็บไว้บ้างก็ยังพอกระจายไปยังดอลลาร์หรือทองคำได้บ้าง แต่ถ้าเป็นธุรกิจนำเข้าส่งออกก็ต้องระมัดระวัง เพราะปีนี้ยังไงก็ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ค่าเงินผันผวนค่อนข้างมากทีเดียว
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#เงินบาท #เศรษฐกิจ #การเงิน #ตลาดเงิน #ดอลลาร์แข็ง #เงินบาทอ่อน #อเมริกา #เงินเฟ้อ #ดิจิทัลวอลเล็ต #ดอกเบี้ยนโยบาย #ธนาคารกลาง
ขอบคุณข้อมูลจาก "ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์​ อินโนเวสท์ เอกซ์"
โฆษณา