10 พ.ค. เวลา 12:35 • สุขภาพ

ไมเกรนมันร้าย

ฉันเป็นไมเกรน (Migraine headache) แต่เด็ก เริ่มจากปวดหัวบ่อย 4-5 ครั้งต่ออาทิตย์ กินแต่ยาแก้ปวดบ่อยมาก กินยาแต่ละครั้ง 2 เม็ด ไม่หายก็กินเพิ่ม อาการปวดก็จะมีปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียร ตาพร่า กล้ามเนื้อกระตุก มือสั่น ไม่มีแรง และหลังจากหายจะอ่อนแรง ไม่ค่อยมีแรงไป 1-2 วัน อาการทั้งหมดนี้สิ้นสุดที่ รพ. และ/หรือ คลีนิค
อาการที่ว่ามามันเริ่มตั้งแต่ก่อน 7-8 ขวบ จำความได้ว่าเขียน นส เอาหน้าใกล้สมุดมากไปหน่อย หยุดเรียนบ่อยเพราะปวดหัว ไปหาหมอด้วยอาการอาเจียน ปวดหัว กล้ามเนื้อสั่น-กระตุก แขนขาไม่มีแรงรู้สึกเย็น ๆ ชา ๆ และขาชาบ่อยมาก จนหมอแนะนำแม่ให้พาฉันไปตรวจสายตา ปรากฎว่าสายตาสั้น และเอียงในตาเดียวกันทั้ง 2 ข้าง คือ ตาซ้ายสั้น+เอียง ตาขวาก็สั้น +เอียง จักษุแพทย์เลยได้แจ้งกับแม่ฉันว่า นี่คงจะเป็นสาเหตุของการปวดหัวบ่อย
สอดคล้องกับ พญ.ชญานิศ ไตรโสรัส รพ.เด็กสินแพทย์ ลงวันที่ 8 เม.ย. 2564 ที่พูดถึงอาการไมเกรนในเด็กจะมีลักษณะเหมือนกับในผู้ใหญ่ คือ ปวดศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ อาการปวดศีรษะไมเกรนในเด็กแต่ละครั้งจะยาวนาน เด็กบางรายอาจมีอาการเตือนนำมาก่อนที่จะเกิดอาการปวดศีรษะ ที่เรียกว่า Migraine with aura เช่น เห็นแสงวูบวาบ เห็นเป็นเส้นดำ ๆ เส้นซิกแซก หรือได้กลิ่นบางอย่างหรือรู้สึกชาตามตัว
คณะแพทย์ศาสตร์ รพ. รามาธิบดี ม. มหิดล เขียนเมื่อวันที่ 4 พค 66 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มถึง "ความรุนแรงของอาการปวด" มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม.อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน
วันนั้นได้วัดค่าสายตาเพื่อทำแว่น และยาจ่ายเงินกลับบ้าน อีก 1 อาทิตย์มารับแว่นได้ จำได้ว่าใส่แว่นไม่กี่ครั้งหลัก ๆ คือใส่ต่อหน้าปะป๊า เวลาอื่นไม่ใส่ ทนปวดหัวได้แต่ทนไม่สวยทนไม่ได้ รพ.สมิติเวช ลงวันที่ 26 มีนาคม 2567 ได้อธิบาย สาเหตุหลักของอาการใส่แว่นแล้วปวดหัว มักมาจากการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา อาการปวดหัวนอกจากจะทำให้รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายแล้ว ยังทำลายสมาธิในระหว่างที่กำลังทำกิจกรรมอีกด้วย อาจทำให้รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ ปวดตาเวลาเดินหรือมองที่พื้น แล้วเหมือนพื้นสูงต่ำไม่เท่ากัน
สอดคล้องกับ รพ.จักษุ รัตนิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้าน สาเหตุของการปวดศีรษะ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ปวดเนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ อาจเป็นผลจากความเครียดที่เพิ่มขึ้นบางขณะในชีวิตประจำวัน เช่น เครียดกับการทำงานหรือปัญหาครอบครัว จากการหลับนอนหรือทำงานในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง
2. ปวดเนื่องจากไมเกรน การเกิดของไมเกรนมักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับความเครียดอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นควรป้องกันไม่ให้เกิดความเครียด แทนที่จะรักษาเมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว
3. ปวดเนื่องจากโรคภายในศีรษะ ตา หู และฟัน การปวดศีรษะที่เกิดจากโรคตา มักจะเกิดอาการที่ตา หรือคิ้วของข้างที่เป็น และมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สายตามัวมองเห็นไฟเป็นสีรุ้ง หรือสู้แสงไม่ได้ เป็นต้น
โตมาก็ศึกษาว่า..
1. ทำไมคนเราต้องปวดหัวกันนะ?
2. ก่อนปวดอาการเป็นไงนะ?
3. อะไรคือตัวกระตุ้นกันนะ?
4. รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
5. ลดโอกาสการเกิดไมเกรน
6. ป้องกันความถี่ในการปวดไมเกรน
7. วิตามินรักษาไมเกรน
โตมาก็ศึกษาว่า..
1. ทำไมคนเราต้องปวดหัวกันนะ?
อาการปวดศีรษะที่พบบ่อยมี 4 ประเภท ได้แก่
1. ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension type headache) 80-90% ของผู้ป่วยอาการปวดศีรษะจากความเครียดพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นสภาวะที่พบบ่อยโดยทั่วไป มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและรอบศีรษะ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดบริเวณเบ้าตา คลื่นไส้ร่วมด้วย อาการปวดลักษณะนี้มักแสดงอาการหลังจากการทำงานมาทั้งวัน พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความเครียดสะสม
2. ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine)
อาการปวดศีรษะไมเกรนพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีอาการปวดเป็นระยะๆ ที่ข้างใดข้างหนึ่ง ปวดตุบๆ เหมือนชีพจรเต้นอยู่บริเวณตำแหน่งที่ปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว หรือเห็นแสงสีเป็นเส้นระยิบระยับร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่อยู่ชิดกับเยื่อหุ้มสมอง
3.ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache)
มักปวดศีรษะอย่างรุนแรงข้างเดียว ปวดแปล๊บเป็นชุด ๆ บริเวณกระบอกตาหรือขมับข้างเดียว ระยะเวลาปวดตั้งแต่ 10 นาที- 3 ชั่วโมง ปวดบ่อยวันถึงวันละ 1-2 ครั้ง บางรายมีอาการคัดจมูก เหงื่อออก รูม่านตาหด สาเหตุเกิดจากปัจจัยกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ การเดินทาง การขึ้นที่สูง ได้รับยากลุ่มไนเตรท ซึ่งอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 5-6 เท่า ในรายที่ปวดเพียง 10 นาทีแล้วหาย การรับประทานยาอาจไม่จำเป็น แต่ในรายที่ปวดขั้นรุนแรงต้องใช้ยาช่วยให้การระงับความปวด
4. ปวดศีรษะจากแรงดันในโพรงกระโหลกศีรษะสูง (Increase Intracranial Pressure) สาเหตุเกิดจากการมีสิ่งผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกหรือน้ำคั่งในสมอง การติดเชื้อในสมอง เป็นต้น เป็นผลให้ความดันในโพรงกระโหลกศีรษะสูง โดยอาการปวดนี้จะปวดลึกภายในศีรษะ มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรงหรือชา พูดไม่ชัด การได้ยินผิดปกติ อาเจียน ชัก ซึมลง สับสน ไม่รู้สึกตัว
อาการ/พฤติกรรมก่อนการปวดหัว?
นึกไปนึกมาก็พบจุดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก่อนเลย เป็นคนสุดโต่ง เช่น ถ้าอยากกินชาไข่มุกจะกินชาไข่มุกทั้งวัน ทุกวัน จนเบื่อ และถ้าเบื่อแล้วจะไม่กินอีกแล้ว! ในชาไข่มุกมีแต่น้ำตาล! แล้วก่อนปวดหัวเราต้องมีสิ่งกระตุ้นสิ่งกระตุ้นนั้นคือ รอบเดือน แสง เสียง กลิ่น รส อากาศ มาในรูปแบบควันเผาขยะ กลิ่นควัน เสียง-กลิ่นท่อรถ กลิ่นบุหรี่ ขนม เช่น โยเกิร์ต อาหารบางชนิด เช่น กุนเชียงกระเทียม ไส้กรอก ของหวาน
ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ. กท. อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ความรู้ถึง “อาการปวดหัวไมเกรนเกิดจากอะไร?”
1) สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แสงสว่างจ้า กลิ่นฉุน มลภาวะทางอากาศ
2) แบบแผนการดำเนินชีวิต อดนอน นอนไม่เป็นเวลา นอนไม่หลับ นอนมากเกินไป อดอาหารหรือรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อารมณ์แปรปรวน เช่น เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
3) อาหาร และเครื่องดื่ม อาหารที่มีไทรามีนสูง เช่น ชีส โยเกิร์ต ของหมักดอง ยีสต์ กาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ผงชูรส ถั่ว เนยถั่ว สารให้ความหวาน
อะไรคือตัวกระตุ้นกันนะ?
รพ.พญาไท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปวดหัวจะรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยอย่าง แสงจ้า หรือเสียงดัง ๆ ซึ่งโรคไมเกรนสามารถพบได้ประมาณ 15% ของประชากรทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงานช่วงอายุ 20 – 25 ปี และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าโดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน เพราะความผันผวนของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอาจเป็นตัวกระตุ้น เนื่องจากผู้หญิงมักจะมีอาการไมเกรนกำเริบก่อนมีประจำเดือน ระหว่างวัยเจริญพันธุ์ และในช่วงใกล้หมดประจำเดือน
รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
อาการปวดหัวไมเกรน…จะไม่สามารถหายขาดได้!! เพียงแต่ให้การรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดอาการปวดหัวไมเกรน เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญในการรักษาไมเกรน ก็คือ การรับมือและการป้องกันกับอาการปวดมากกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยลดความทรมานจากการปวดหัวและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ การรักษาอาการไมเกรนจะพิจารณาตามระดับความรุนแรงของอาการปวด โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่หากทานยาบ่อยเกินไปก็อาจส่งผลให้อาการปวดรุนแรงและถี่ขึ้นได้ จึงต้องให้ยาป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย
ลดโอกาสการเกิดไมเกรน?
เลี่ยงตัวกระตุ้น เพื่อลดโอกาสการเกิดไมเกรน แม้ว่าจะยังไม่ทราบถึงสาเหตุของไมเกรนที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งปัจจัยที่พบได้บ่อยๆ ก็เช่น แสงแดด, แสงจ้า, อากาศร้อน, ฝุ่นควัน, นอนน้อย, แอลกอฮอล์, ช็อกโกแลต และยาคุมกำเนิด รวมไปถึง “ความเครียด” ที่มักเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรนในคนไข้หลาย ๆ ราย
ป้องกันความถี่ในการปวดไมเกรน
ไม่อยากปวดหัวไมเกรนบ่อย ๆ ป้องกันได้ด้วยวิธีนี้
เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการลดอาการปวดหัวไมเกรน คือ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดอาการ ดังนั้น นอกจากการลดไมเกรนดวยวิธีทางการแพทย์แล้ว การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ทานอาหารให้ตรงเวลา พยายามพักผ่อนในที่เงียบและมืด พร้อมกับนวดบรรเทาเมื่อมีอาการปวด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรน เป็นต้น
วิตามินรักษาไมเกรน
ลองมาทำการศึกษาสิว่า มีวิตามินที่ช่วยเรื่องไมเกรนไหมนะ? ไม่ได้ภักดีกับยี่ห้อไหน แบรนไหน แต่ชอบกระปุกใหญ่ไม่ชอบจ่ายเงินบ่อย แต่กินวน ๆ ยี่ห้อไปเรื่อย ๆ แต่ละแบรนด์ส่วนผสมมาก-น้อย และมี-ไม่มี ไม่เหมือนกัน (วิตามินที่จำเป็นสำหรับโรคไมเกรนคือ B1, B2, B3, B5, B6, วิตามิน C และเกลือแร่หลัก แมกนีเซียมและแคลเซียม ) กินวิตามินทุกวันค่ะ แล้วใช้การรอเวลาพักค่อยซื้อกินใหม่ แล้วจะสั่งแบบ pre order จะได้ช่วยจำเรื่องเวลาการพักกินวิตามินได้
การเสริมสร้างพลังงานของเซลล์นักวิจัยได้ตั้งทฤษฎีว่า ไมเกรนอาจเกิดจากการเผาผลาญพลังงานของเซลล์ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่ามีพลังงานสำรองของเซลล์สมองลดลงระหว่างเกิดอาการไมเกรน พบว่า วิตามินบี โดยเฉพาะ วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) และโคเอนไซม์คิวเทน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเซลล์ และถูกแนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันอาการไมเกรน
รศ. ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ เขียนบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลถึงกาลดความถี่ของการปวดศีรษะซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ยารักษาอาการปวดแบบเฉียบพลันได้คือ ผลิตภัณฑ์เสริมแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ ความคงสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์ รวมถึงส่งผลต่อกระบวนการส่งสัญญาณประสาทหรือการหลั่งสารสื่อประสาทต่าง ๆร่วมกับ แร่ธาตุอื่นๆ เช่น แคลเซียม สังกะสี เหล็ก และ วิตามิน เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเอ
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้ให้การรับรองข้อบ่งใช้ในการป้องกันไมเกรน ดังนั้นการตัดสินใจรับประทานวิตามินเสริม เพื่อป้องกันไมเกรนควรพิจารณาทั้งประโยชน์ และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก และขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
โฆษณา