19 ธ.ค. 2018 เวลา 15:31 • ประวัติศาสตร์
พาหุงบทที่ 3
ตอน พญาช้างนาฬาคีรี
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึงพรรษาที่ ๓๗ ในครั้งนั้นพระเทวทัตภิกขุ ผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางพิมพา
แม้ได้มาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ เป็นเพียงผู้ทรงสมาบัติ จิตใจจึงยังลุ่มหลงในกิเลสอยู่
ครั้นได้เห็นลาภสักการะของพระพุทธเจ้า พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และพระมหากัสสปะ ก็มีความคิดอยากได้ลาภสักการะ อยากได้บริษัทที่มาบูชาตนเองอย่างนั้นบ้าง
จึงคิดอยากจะเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์เสียเอง แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต  พระเทวทัตจึงคิดการใหญ่ ใช้อภิญญาแสดงอิทธิฤทธิ์หลอกลวงให้เจ้าชายอชาตศัตรูศรัทธา
และยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารราชบิดา และเป็นกษัตริย์สืบแทน ส่วนตนเองจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า และตั้งตนเป็นพระพุทธเจ้าแทน
เจ้าชายอชาตศัตรูนั้นได้หลงเชื่อคำพระเทวทัต จึงได้ซ่อนกริชเข้าไปหาพระเจ้าพิมพิสารราชบิดา คิดจะปลงพระชนม์กลางวันแสกๆ แต่ก็ถูกทหารจับตัวไว้ได้
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารรู้ประสงค์ของโอรสว่าต้องการราชสมบัติจึงคิดมาลอบปลงพระชนม์ พระองค์ก็พระราชทานราชสมบัติให้  พระเจ้าอชาตศัตรูกลับไปเล่าให้พระเทวทัตฟัง
พระเทวทัตก็ยุยงว่าวันหลังเพราะเจ้าพิมพิสารอาจเปลี่ยนใจยึดพระราชสมบัติคืน จึงควรปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารโดยการขังไว้ และให้อดพระกระยาหาร
พระเจ้าอชาติศัตรูจึงสั่งให้คุมขังพระเจ้าพิมพิสารไว้ สั่งงดข้าว งดอาหาร และห้ามใครเข้าเยี่ยม ยกเว้นพระราชมารดาของพระองค์เพียงผู้เดียว
แต่พระราชมารดาของพระองค์ก็แอบเอาอาหารเหน็บเอวซ่อนไว้ใต้ผ้า เพื่อนำไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบจึงตรัสห้ามพระมารดาไม่ให้นำอาหารเข้าไปอีก
1
หลังจากนั้นพระราชมารดาก็เปลี่ยนเป็นเอาอาหารซ่อนไว้ในมวยผม พระเจ้าอชาติศัตรูจึงสั่งห้ามพระราชมารดาเกล้าผมเข้าเยี่ยมพระเจ้าพิมพิสาร  ต่อมาพระราชมารดาก็เปลี่ยนเอาอาหารซ่อนในรองเท้า
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบก็สั่งห้ามไม่ให้ใส่รองเท้าเข้าเยี่ยม  พระราชมารดาจึงใช้น้ำและอาหารทาพระวรกายให้พระเจ้าพิมพิสารทรงเลียอาหารจากพระวรกายของพระนาง
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทราบจึงสั่งห้ามไม่ให้พระราชมารดาเข้าเยี่ยมพระเจ้าพิมพิสารอีก  เมื่อไม่ได้น้ำและอาหาร พระเจ้าพิมพิสารก็เดินจงกรม และอยู่ได้ด้วยปิติ
1
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเห็นพระราชบิดายังมีผิวพรรณเปล่งปลั่งเพราะ ปิติจากการเดินจงกรม พระองค์จึงสั่งช่างกัลบก(ช่างตัดผม) เข้าไปกรีดฝ่าเท้าพระราชบิดา  พระเจ้า พิมพิสารทรงเจ็บปวดทรมานมาก
1
และเพราะการอดอาหารด้วย ในที่สุดพระองค์ก็ทรงสิ้นพระชนม์
ฝ่ายพระเทวทัตผู้คิดแผนปลงจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้านั้น
ครั้งแรก พระเทวทัตได้ส่งนายขมังธนู ๑๖ คน ให้ไปลอบปลงพระชนม์ แต่นายขมังธนูทั้ง ๑๖ คน เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็เลื่อมใส ยึดถือพระองค์เป็นสรณะ
ครั้งที่สอง พระเทวทัตจึงคิดปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าด้วยตนเอง โดยการขึ้นไปแอบซุ่มอยู่บนยอดเขา คิชฌกูฏ แล้วกลิ้งหินลงมาให้ทับพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สำเร็จ มีเพียงสะเก็ดหินก้อนหนึ่งกระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต
พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระเทวทัตเป็นผู้กระทำ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า "บัดนี้พระเทวทัตได้กระทำอนันตริยกรรมแก่พระองค์เสียแล้ว"
ครั้งที่สาม พระเทวทัตคิดร้ายต่อพระพุทธองค์โดยใช้ช้างนาฬาคีรี ซึ่งเป็นช้างที่ดุร้าย พระเทวทัตจึงเข้าไปในกรุงราชคฤห์ เพื่อติดสินบนให้ควาญช้างมอมเหล้าช้างนาฬาคีรีด้วยเหล้าอย่างแรง ๑๖ หม้อ และใช้หอกทิ่มแทงช้างให้เจ็บ
แล้วหลอกล่อช้างที่กำลังดุร้ายและเมาด้วยฤทธิ์เหล้านั้น ให้ออกมาทำร้ายพระพุทธเจ้าเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตร  ด้วยความโลภในลาภสักการะที่จะได้จึงรับปากจะกระทำการให้
ในวันรุ่งขึ้น ควาญช้างก็ให้ช้างนาฬาคีรีดื่มเหล้าจนเมามาย กลายเป็นช้างดุร้ายเกรี้ยวกราด ไม่มีใครห้ามอยู่ได้ และยังเอาหอกทิ่มแทงให้ช้างนาฬาคีรีเจ็บปวดขึ้นไปอีก  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกพร้อมภิกษุสาวกเข้ามาบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์
ควาญช้างก็ปล่อยช้างออกมาสู่ตรอกที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินออกมา  ช้างนาฬาคีรีเห็นพระพุทธเจ้าดำเนินมาแต่ไกล ก็ชูงวง หูกาง หางชี้ ทำลายบ้านเรือนและเกวียนที่ขวางทางแล้ววิ่งรี่ตรงไปหาพระพุทธเจ้าทันที
ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นรีบกราบทูลพระพุทธองค์ว่า "พระพุทธเจ้าข้า นี่คือช้างนาฬาคีรีที่ดุร้าย หยาบช้า ฆ่ามนุษย์ได้อย่างง่ายดาย มันกำลังวิ่งตรงมาทางนี้แล้ว ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดเสด็จกลับเถิด ขอให้พระสุคตจงเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า"
แต่พระพุทธองค์ยังคงสงบเย็นรับสั่งว่า "มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวเลย ข้อที่ใครจะมาปลงชีวิตของเราตถาคตนั้น นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่ปรินิพพาน ด้วยความพยายามฆ่าของผู้อื่น"
แต่ภิกษุทั้งหลายก็เกรงว่าพระพุทธองค์จะได้รับอันตราย จึงทูลให้กลับถึงสามครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสย้ำคำเดิมอีกแม้เป็นครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ จนช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้ามาใกล้
1
ประชาชนชาวบ้านทั้งหลายแถวนั้นต่างหลบหนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนเรือนบ้าง บนหลังคาบ้าง ส่งเสียงตะโกนกันลั่น ทั้งพวกที่ไม่ศรัทธา และพวกที่ศรัทธาก็ตาม "พวกเราทั้งหลายเอ๋ย พระสมณโคดมกำลังจะถูกช้างเหยียบตายแน่แล้ว" "พวกเราผู้เจริญ คอยดูให้ดีเถิดพระพุทธองค์จะทำสงครามกับช้างดุร้ายนี้"
ขณะนั้นมีหญิงแม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง เห็นช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้ามาก็ตกใจกลัว วางลูกไว้แล้ววิ่งหนีไป ช้างไล่หญิงคนนั้นไม่ทัน ก็เดินวนเวียนอยู่ใกล้ๆทารกที่ร้องเสียงดังด้วยความตกใจกลัว  พระพุทธองค์ยืนทอดพระเนตรอยู่จึงตรัสเรียกช้างนาฬาคีรี
1
ให้มาหาพระองค์ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ "นาฬาคีรีเธอนะ เขาให้เธอดื่มเหล้าถึง ๑๖ หม้อ มอมเมาเสียจนมึนมัว ใช่ว่าเขาจะกระทำเธอด้วยประสงค์ จักให้เธอจับคนอื่นก็หาไม่ แต่เขากระทำด้วยประสงค์จะให้จับเรา เธออย่าเที่ยวอาละวาดให้เมื่อยขาโดยใช่เหตุเลย จงมานี่เถิด"  เมื่อช้างนาฬาคีรีได้ฟังแล้วก็วิ่งปรี่ตรงเข้ามาหาพระพุทธองค์
ส่วนฝ่ายพระสาวกผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย ต่างก็รับอาสาที่จะปราบช้างนาฬาคีรี แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "การปราบช้างนาฬาคีรีไม่ใช่วิสัยของพระสาวก เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว"
ขณะนั้นเองพระอานนท์ผู้จงรักภักดีในพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ก้าวออกไปยืนเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คิดว่าเราจะสละชีวิตฉลองพระคุณของพระพุทธองค์ด้วยการตายแทนพระองค์
พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามว่า "อานนท์จงหลีกไป ถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็ได้หาหลีกไปไม่คงยืนขวางหน้าอยู่อย่างนั้น"
ขณะนั้นเองพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีพระอาการสงบนิ่งทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคีรีนั้น
ด้วยฤทธานุภาพแห่งความเมตตาและพุทธจริยาที่นุ่มนวลของพระพุทธองค์ จิตที่ขุ่นแค้นของช้างนาฬาคีรีก็สงบลง หยุดยืนนิ่ง หายมึนเมา ลดงวง และน้อมศีรษะเข้าไปหาพุทธองค์อย่างช้าๆ  เมื่อทรงเห็นอาการเช่นนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกพระหัตถ์ลูบกระพองช้างด้วยความเมตตา
พลางตรัสกับช้างนาฬาคีรีว่า "ดูก่อนนาฬาคีรี เจ้าจงจำไว้ จงอย่าเข้าหาเราตถาคตด้วยจิตมุ่งทำลาย เพราะจิตชั่วเป็นเหตุแห่งทุกข์  ผู้ใดทำร้ายตถาคต เมื่อจากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้า จะไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าดุร้ายมัวเมา อย่าประมาท เพราะผู้ประมาทแล้วย่อมจะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้าจงกระทำหนทางเพื่อไปสู่สุคติเถิด"
"ดูก่อนนาฬาคีรี แม้เจ้าจะเป็นเดรัจฉานแต่ได้มีโอกาสพบเราตถาคตในครั้งนี้ นับเป็นกุศลยิ่งนัก ตถาคตนี้เปรียบดังพญาช้างตัวประเสริฐ ประกอบด้วยคุณของพระอรหันต์ เป็นมิ่งมงกุฏใน ๓ โลก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าดุร้าย ไล่ทิ่มแทงมนุษย์อีก จงมีเมตตายังใจให้อยู่ในความดี อย่าได้ประกอบโทษ จงหมั่นเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้นๆ เมื่อเธอสิ้นชีพแล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์อย่างเที่ยงแท้"
ด้วยเมตตานุภาพของพระพุทธองค์ ช้างนาฬาคีรีได้ฟังเช่นนั้น ก็มีจิตชื่นชม ดีใจยิ่งนัก ส่งเสียงร้องขึ้นรับคำ แล้วเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระองค์ นำมาพ่นลงบนกระหม่อมของตนเอง  แล้วก้าวเท้าถอยหลังออกมาชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จากนั้นจึงค่อยหันกลับมุ่งสู่โรงช้างที่อยู่อาศัยของตน
เทวดาและพรหมได้เห็นพุทธบารมีก็ได้โปรยดอกไม้และของหอมบูชาพระพุทธองค์ เงินทองก็อุบัติขึ้นในพระนครสูงถึงหัวเข่า ช้างนาฬาคีรีจึงมีชื่อใหม่ว่า "ช้างธนปาล"
สำหรับทางด้านพระเทวทัตนั้นเมื่อคิดการร้ายต่อพระพุทธเจ้าไม่สำเร็จ มหาชนก็กราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูเตือนสติให้รู้พระองค์ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงหันกลับมานับถือพระพุทธเจ้า ลาภสักการะที่พระเทวทัตเคยได้ก็ลดน้อยถอยลงไปมาก  พระเทวทัตคิดอยากได้ลาภสักการะคืน จึงคบคิดกับพระโกกาลิกภิกขุ กราบทูลขอบัญญัติ ๕ ประการ
คือ
๑ ขอให้ภิกษุเป็นผู้อยู่ป่า
๒ อยู่ด้วยบิณฑบาตร
๓ อยู่ด้วยผ้าบังสกุล
๔ อยู่โคนต้นไม้ และไม่ฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต
แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตจึงใช้เหตุนี้เที่ยวป่าวประกาศว่า หมู่คณะของตนนั้นเป็นผู้เคร่งครัดมากกว่า และชักชวนพระภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูป แยกหมู่คณะไปตั้งเป็นคณะสงฆ์ใหม่ปกครองกันเองต่างหาก แม้พระพุทธเจ้าจะทรงกล่าวโทษของการทำให้สงฆ์แตกแยกให้ฟังว่าเป็น อนันตริยกรรม พระเทวทัตก็ไม่เชื่อฟัง
1
วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญญุตญาณ เห็นว่าพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นมีญาณแก่กล้าพร้อมที่จะบรรลุธรรมได้แล้ว จึงให้พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะไปหาภิกษุผู้หลงผิดทั้ง ๕๐๐ รูป เทศนาสั่งสอนจนภิกษุทั้งหมดนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วจึงพากันเหาะกลับไปยังสำนักของพระพุทธเจ้า
1
เวลานั้นพระเทวทัตนอนหลับอยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาพบว่าพระภิกษุหายไปหมดแล้ว จึงทะเลาะกับพระโกกาลิก พระโกกาลิกบันดาลโทสะใช้เข่ากระทุ้งหน้าอกพระเทวทัตจนกระอักโลหิต
พระเทวทัตได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส เป็นไข้อยู่ถึง ๙ เดือน ในที่สุดก็หวนระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ขึ้นมาได้ว่า บัดนี้ภิกษุและราชสกุลทั้งหลายก็มาทิ้งเราทั้งหมด จะมีเพียงแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงมีพระเมตตา ไม่เคยมีจิตคิดร้ายต่อตนเองเลย  คิดแล้วก็ให้บริวารหามตนลงบนเปลพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบทูล ขอขมา
พระอานนท์ทราบข่าวการมาของพระเทวทัต ก็กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "เทวทัตไม่มีโอกาสเห็นเราตถาคตอีกแล้ว"
เมื่อพระเทวทัตมาถึงประตูเมืองสาวัตถี พระอานนท์ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าอีก
พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเช่นเดิมว่า  "เทวทัตไม่มีโอกาสเห็นเราตถาคตอีกแล้ว"
เมื่อพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณีหน้าวัดพระเชตวรมหาวิหาร พระอานนท์ก็ทรงกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบอีก
พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเช่นเดิมอีกว่า  "เทวทัตไม่มีโอกาสเห็นเราตถาคตอีกแล้ว"
...ท้ายที่สุดนั้นด้วยบาปกรรมของพระเทวทัตที่กระทำต่อพระพุทธเจ้าหลายครั้งหลายหน จึงทำให้บริวารที่หามเปลมารู้สึกร้อน อยากอาบน้ำ จึงพากันวางเปลลง และพากันไปอาบน้ำในสระโบกขรณี ส่วนพระเทวทัตก็ก้าวเท้าลงจากเปล  เมื่อพระเทวทัตก้าวเท้าลงบนแผ่นดิน แม้แผ่นดินหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่อาจรองรับความหนักของกรรมนั้นได้ จึงได้แยกออก ปล่อยให้ร่างของพระเทวทัตถูกไฟนรกดูดลงไปรับกรรมอยู่ในอเวจีมหานรกในทันที...
***ช้างนาฬาคีรีนั้นในคัมภีร์พุทธวงศ์กล่าวว่าเป็นช้างโพธิ์สัตว์ ในอนาคตกาลจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า...พระติสสะพุทธะเจ้า... เป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๙ ถัดจากพระศรีอาริยเมตไตร***
...ชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อช้างนาฬาคีรี ซึ่งเป็นช้างที่ดุร้ายมาก และขณะที่เผชิญหน้ากันนั้น ช้างนาฬาคีรีกำลังขาดสติเพราะเมาสุรา และบาดเจ็บจากการถูกทำร้าย แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาชนะได้ด้วยเมตตาบารมี คาถาบทนี้นิยมสำหรับเอาชนะสัตว์ร้ายต่างๆ...
ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน สาธุ
อ้างอิง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
หนังสือ พาหุง ชัยชนะแห่งพุทธะ
ภาพประกอบโดย แอดมินต้นธรรม เพจ ธรรม STORY
โฆษณา