17 ม.ค. 2019 เวลา 03:57 • ไลฟ์สไตล์
ผมชอบคำสอนของพระรูปหนึ่งมาก พระรูปนี้คือพระอาจารย์ชยสาโร หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของท่าน แต่อาจไม่รู้ประวัติของท่าน ในวันนี้ผมจะขอเล่าประวัติและคำสอนต่างๆที่น่าสนใจของพระอาจารย์ชยสาโรครับ
พระอาจารย์ชยสาโรหรือชื่อเดิมฌอน ชิเวอร์ตัน (Shaun Chiverton) เกิดที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1958 ท่านเป็นเด็กช่างคิด ช่างค้นคว้า มีผลการเรียนที่ดีเยี่ยม บิดาของท่านตั้งใจให้ท่านสอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ แต่สิ่งที่ท่านสนใจจริงๆกลับเป็นคำตอบของชีวิตเกี่ยวกับสิ่งสูงสุดที่เราจะได้จากการเป็นมนุษย์คืออะไร
1
ท่านอ่านหนังสือต่างๆมากมายเพื่อค้นหาคำตอบของชีวิตจนกระทั่งท่านได้พบหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาพุทธ ท่านรู้สึกได้ว่านี้คือสัจธรรมความจริงที่ท่านแสวงหามานาน ท่านได้ออกเดินทางไปทั่วทวีปเอเชียรวมเป็นเวลาถึงสองปี เพื่อแสวงหาคำตอบให้แก่ชีวิต จนเมื่อ พ.ศ. 2521 ท่านได้พบและเริ่มปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สุเมโธ(ลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา) ก่อนที่จะเดินทางมาประเทศไทย
สุดท้ายเมื่อท่านเดินทางมาที่ประเทศไทย ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดหนองป่าพง เมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยมีพระโพธิญาณเถร(หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์
วันนี้ผมจะขอยกคำสอนของพระอาจารย์ชยสาโรที่น่าสนใจสัก 5คำสอนในวันนี้นะครับ
1.คนส่วนมากขยันหมั่นเพียรในเรื่องการทำมาหากิน ยอมเสียสละแทบทุกอย่างเพื่อความเจริญทางโลก แต่แทบจะไม่ยอมเสียสละกิเลสแม้แต่นิดเดียว
2.ความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต ชอบโทษคนอื่นชอบเป็นนักโทษ โทษคนนั้นโทษคนนี้โทษพ่อแม่โทษลูกหลานโทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร สิ่งที่โทษได้ในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงื่อนไขหรือเป็นปัจจัยหรือเป็นจุดกระตุ้น ความทุกข์อยู่ที่ใจ
3.คนส่วนมากก็อยากจะละทุกข์ คือไม่อยากจะเป็นทุกข์ แต่กลับไม่อยากละเหตุแห่งทุกข์ มันก็เลยละทุกข์ไม่ได้สักที เราต้องเห็นกิเลสเป็นศัตรูที่น่ากลัว จงอย่าเสียดายกิเลส เราต้องเป็นนักรบ จึงจะชนะใจตนเอง การชนะใจตนเอง เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการรบชนะศัตรูภายนอก
4.บุญคือเครื่องชำระจิตใจ ให้เราขัดหรือลดอำนาจความโลภ โกรธ หลง ได้นั่นก็คือตัวบุญ บุญไม่สามารถประเมินได้ด้วยวัตถุ ไม่ใช่ว่าคนทำบุญพันบาท ได้บุญมากกว่าคนทำบุญร้อยบาท บุญไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้น แต่มันอยู่ที่เจตนาของความเสียสละในการสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้คนอื่น
5.การแก้กรรมที่ถูกต้องในความหมายของพระพุทธองค์ คือการตั้งใจมั่นว่าจะไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไป
ผมชอบคำสอนของพระรูปนี้ เพราะคำสอนของท่านฟังแล้ว ลุ่มลึกแต่ไม่ต้องตีความมาก เหมาะกับชาวพุทธทุกเพศ ทุกวัย แต่ผมอยากบอกทุกคนว่า คำสอนที่ท่านสอนพวกเรานั้น ถ้าทุกคน"อ่าน ฟัง เชื่อ เข้าใจ" แต่ไม่นำไปปฏิบัติ ก็ไม่เกิดผลอะไรทั้งสิ้น เพราะคำสอนในศาสนาพุทธนี้ สิ่งสำคัญคือต้องนำไปปฏิบัติด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นก็ถือว่าสิ่งที่ท่าน "อ่าน ฟัง เชื่อ เข้าใจ"..............ก็สูญเปล่า
"มนุษย์เขียน"
โฆษณา