22 ก.พ. 2019 เวลา 00:01 • สุขภาพ
วิธีเพาะ “เห็ดเผาะ” ไม่ต้องเผาป่ารอฝน จะเพาะไว้กินก็ได้-ขายก็ดี ก็ได้ มีให้เก็บทุกปีไม่ต้องเข้าป่า
หากใครจำได้ “เห็ดเผาะ” เคยราคาสูงถึงกิโลกรัมละเกือบพันบาท แต่ก็ไม่ได้ลดความยากของคนที่ชอบกินแม้แต่น้อย อาจจะมีลังเลต่อรองราคาขณะซื้อนิดๆ หน่อยๆ สุดท้ายแล้วก็ซื้อหลายกิโลฯ อยู่ดี เพราะกว่าจะได้กินอีกที ต้องรอหน้าฝนอีก 1 ปี วนมาอีกรอบ
ใครชอบเมนูที่ทำจาก “เห็ดเผาะ” ต้องฟังทางนี้ จะได้ไม่ต้องไปหาซื้อกิโลกรัมละแพงๆ อีกต่อไป เพราะว่า “เห็ดเผาะ” ปลูกเองได้ เห็ดธรรมชาติที่คนไทยนิยมทานกันมากนี่แหละ และคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดคิดว่า ต้องเผาป่าแล้วจึงจะมีเห็ดเผาะเกิดขึ้น เลิกความคิดนั้นแล้วเข้าใจเสียใหม่
ดร.อานนท์ เอื้อตระกลู ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ด้านการเพาะเห็ด องค์การสหประชาชาติ ประจำปี พ.ศ.2524-2548 เล่าให้ฟังว่า “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ “เห็ดเผาะหนัง” สีดำเนื้อกรอบๆ และ “เห็ดเผาะฝ้าย” เนื้ออ่อนนิ่ม เกิดในต้นฤดูฝนไม่มีราก เป็นก้อนกลมๆ มีเปลือกแข็งสปอร์อยู่ข้างใน ซึ่งจะนิยมนำมาทำอาหารในช่วงที่อ่อนๆ
แน่นอนว่าเห็ดนอกจากจะรสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาสูงแล้ว ยังมีคุณสมบัติทางยาอีกด้วย ทำให้ทั้งความสนใจและความต้องการของเห็ดเพิ่มขึ้น ขณะนี้คนไทยกินเห็ดเกิน 10,000 กรัม/คน/ปี
“ผมว่าตอนนี้เรื่องเห็ดคนสนใจกันมาก ตอนที่ผมสอนใหม่ๆ เมื่อปี 2516 ไทยยังสั่งเห็ดนำเข้า ยังไม่มีการเพาะเห็ดมาก คนไทยสมัยนั้นกินเห็ดแค่ 235 กรัม/คน/ปี แต่หลังจากที่รณรงค์และเผยแพร่เรื่องเห็ด จากนั้นมาเพียงแค่ 5 ปีให้หลัง ไทยสามารถเพาะเห็ดฟางได้มากถึง 60,000 ตันมากที่สุด”
ปัจจุบัน ประเทศไทย สามารถเพาะ “เห็ดเผาะ” แบบยั่งยืนได้แล้ว โดยนำ “เชื้อเห็ดเผาะ” ใส่เข้าไปในรากของต้นตระกูล ต้นยางนา เช่น ต้นเหียง ต้นพลวง มะค่า เต็งรัง ต้นไม้พวกนี้หากมีเชื้อเห็ดเผาะเข้าไปอาศัยจะโตไวมาก เพราะเส้นใย “เห็ดเผาะ” จะเกาะอยู่ที่ปลายราก ย่อยอาหารจำพวกฟอสฟอรัสให้รากพืชแข็งแรง และป้องกันโรคอย่างอื่นมาทำลายรากของต้นไม้นั้น
ต้นไม้ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ นอกเหนือจากจะเจริญเติบโตด้วยการสังเคราะห์แสงแล้ว มีมากถึง 95% ที่ไม่สามารถย่อยสารอาหารที่อยู่ปลายรากได้เอง จำต้องพึ่งเชื้อรา หนึ่งชนิดที่กำลังจะพูดถึง คือ “ไมคอร์ไรซา” เป็นรากลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ใต้ดินอาศัยอยู่ตามรากพืชของต้นไม้ ซึ่งเป็นเชื้อของเห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก เป็นต้น
ขณะเดียวกันเห็ดก็อาศัยพลังงานและเอ็นไซม์ที่มีประโยชน์จากพืช ซึ่งจะอยู่ร่วมอาศัยซึ่งกันและกันเช่นนี้ ไปจนหมดอายุขัยของต้นไม้ เช่น ไม้ยางนาที่เป็นไม้เนื้อหอม สามารถมีอายุได้นานกว่า 700 ปี
1
ส่วนความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า…ยิ่งเผาเคลียร์พื้นที่ยิ่งทำให้เก็บเห็ดง่าย ผลผลิตมาก…!! ความคิดนี้ผิด 100 % เพราะในปีต่อไปเห็ดจะลดลง ต้นไม้ได้รับบาดเจ็บ และหากต้นไม้ที่เป็นตัวสร้างอาหารให้เห็ดตายไป ก็จะไม่มี “เห็ดเผาะ” เกิดขึ้นอีกเลย
เรามาดู “วิธีการปลูกเห็ดเผาะ” กันดีกว่า…ขั้นตอนแรกนำ “เห็ดเผาะ” ที่แก่จัดมาแกะเอาสปอร์ข้างใน แล้วนำไปผสมน้ำให้เข้ากัน จากนั้นนำน้ำดำๆ ที่ได้ราดไปที่โคลนต้นไม้ ในปีถัดไปก็จะมีเห็ดเผาะเกิดตามรากไม้ต้น เมื่อต้นไม้โตพอประมาณสัก 2 ปี ให้เริ่มเก็บได้ และจะเกิดที่ต้นไม้ต้นนี้ทุกๆ ปี
1
ส่วนอีกวิธีที่ดีที่สุดให้นำน้ำดำๆ ไปรดกล้าต้นไม้ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง สังเกตุดูต้นกล้าถ้าเริ่มมีเนื้อเยื่อ “เห็ดเผาะ” เจริญเติบโตแล้ว ให้นำไปปลูกได้ หรืออีกวิธีที่ง่ายกว่านั้น นำต้นกล้าไปปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ยางนาสักระยะ ก็จะได้ต้นกล้าที่ติดเชื้อ “เห็ดเผาะ” ไปด้วย แต่เมื่อในปีถัดไปมี “เห็ดเผาะ” เกิดขึ้น อย่าพึ่งเก็บเพราะต้นไม้ยังไม่แข็งแรงพอ
ก็แสดงว่า หากเรานำ “เห็ดเพาะ” เข้าไปในรากยางนา เพียง 2-3 ปี ก็จะมี “เห็ดเผาะ” เกิดขึ้น และเก็บต่อไปได้อีกกว่า 700 ปี โดยไม่ต้องใส่เชื้อเห็ดใหม่อีกเลย และผลิตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ตามภาพที่เห็น คือ “ต้นยางนาง” อายุประมาณ 10 ปี ที่ใส่ “เชื้อเห็ดเผาะ” เข้าไป
นี่คือ “การเพาะเห็ดเผาะ” กลางคันนา กลางทุ่ง ข้างถนนใน จ.เชียงใหม่ จึงไม่เป็นไปตามที่เข้าใจกันว่า ต้องปลูกอยู่ในป่าเท่านั้น น่าตื่นเต้น และน่าจะเป็นข่าวดีที่สุดของคนไทยที่ชอบกิน “เห็ดเผาะ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณ ทวีลาภ บวกทอง, Postnoname
โฆษณา