2 มี.ค. 2019 เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์
เพื่อนแท้...ในวันที่จิตใจอ่อนแอ
ว่าก็ว่าเถอะ ไม่มีหนังสือเล่มไหนใน พ.ศ.นี้ ที่จะเยียวยาอาการบาดเจ็บทางใจได้ดีเท่ากับหนังสือแปลเล่มนี้อีกแล้ว
“ถึงเวลากลับมาดูแลหัวใจตัวเอง”
หนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์ springbooks ในเครืออมรินทร์ได้นำเอามาแปล (แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส) โดยเป็นงานเขียนของ “ปาร์กจินยอง” ชาวเกาหลีใต้ซึ่งจบปริญญาโทด้านจิตวิทยาสังคมและบุคลิกภาพ อีกทั้งยังทำงานด้านการวิจัยเกี่ยวกับสภาพพึ่งพาตัวเองของนักโทษหลังพ้นโทษแล้ว รวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในสหรัฐอเมริกา ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น นักเขียนคนนี้มีความสนใจเป็นพิเศษในงานวิจัยจิตวิทยาว่าด้วย “ทุกข์อันเกิดจากจิตของคนเราเอง”
ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่เดี๋ยวนี้คนเรารู้สึกเป็นทุกข์ไปกับเรื่องบางเรื่องหรือแทบจะทุกเรื่องในชีวิตได้ง่ายดายเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าการทำให้ตัวเองมีความสุขนั้นต้องทำอย่างไร แต่ก็เผลออ่อนไหวอ่อนแอไปกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกเป็นทุกข์กับชีวิต รู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับสภาวะที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง (เพลงพี่เบิร์ด ธงไชย ก็มาไปอีก) จับสังเกตตัวเองได้เลยว่า ช่วงไหนที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก จะแวะเข้าร้านหนังสือบ่อยมาก และต้องหาทางปลดทุกข์ด้วยการเหน็บหนังสือคลายทุกข์ติดไม้ติดมือกลับมาอ่านที่บ้านสักเล่มสองเล่ม
จนมาเจอหนังสือแปลเล่มนี้ ผมรู้สึกได้เลยทันทีว่า โอ้! พระเจ้า ฉันพบเจอทางออกแล้ว เพราะหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ผู้เขียนไม่ได้เขียนอะไรที่ยากเกินทำความเข้าใจ แต่กลับละเอียด อ่อนในการทำให้คนอ่านรู้สึกผ่อนคลาย และอยากดูแลหัวใจตัวเองขึ้นมาทันที “เดี๋ยวนั้นเลย”
ในหน้าที่ 8-9 ผู้เขียนเขียนเรื่องปุ่มแสดงอารมณ์ไว้ได้น่าสนใจ เขาเขียนไว้ว่า “หากอารมณ์ต่างๆ ในใจคือปุ่มมากมาย เราต้องกดแต่ละปุ่ม เพื่อแสดงอารมณ์นั้นให้ออกมาในปริมาณเหมาะสม (ต่อเหตุการณ์ที่ประสบ) พูดอีกทีคือ ต้องปรับอารมณ์เราให้พอดีต่อเรื่องที่ใส่ใจ ไม่จำเป็นต้องฟูมฟายโวยวายกับทุกเรื่อง หากตอนนี้ใครกำลังรู้สึกว่าเหนื่อยล้ากับชีวิตมากๆ ก็เป็นไปได้ว่าคุณกำลังใช้อารมณ์ฟุ่มเฟือยเพราะเรื่องเล็กน้อย”
ผู้เขียนแนะทางออกให้กับผู้อ่านไว้ว่า ให้เราจินตนาการว่าตัวเองได้จัดการตัดสายไฟที่เชื่อมต่อไปยังปุ่มอารมณ์ฟูมฟายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราหงุดหงิดไปกับเรื่องเล็กน้อยไปเรียบร้อยแล้ว หรือจะจินตนาการไปว่าได้ปิดสวิตช์ปุ่มนี้ไปแล้วเลยก็ได้ ผู้เขียนยังบอกอีกว่า วิธีนี้คือวิธีการสร้างมโนภาพ (Mental Imaging) ที่ช่วยทำให้เราไม่เปลืองอารมณ์ไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ในหน้าที่ 78-80 ผู้เขียนบอกกับเราว่า “การมีเมตตาต่อตนเอง” สำคัญมากต่อการสร้างความเคารพตนเองอันมั่นคง “ชีวิตไม่หยิบยื่นเฉพาะสิ่งที่เราพอใจได้ตลอดเวลา หลายครั้งเราจึงผิดหวังกับตนเอง ต่อให้ยามปกติแกร่งพอทานรับปัญหาได้ แต่แรงปะทะเหล่านั้นย่อมก่อรอยร้าวแก่ความเคารพตัวเองกันได้บ้างละ”
ผู้เขียนได้อ้างคำกล่าวของรองศาสตราจารย์คริสทิน เนฟฟ์ จากภาควิชาจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสตินไว้ว่า “เราต้องใจกว้างกับตัวเองอีกหน่อย คนส่วนใหญ่มักจะติเตียน วิจารณ์ และใจร้ายต่อตนเอง ทำนองว่า ฉันมันห่วย ฉันมันไม่ได้ความ ฉันคือคนไร้ค่า ทำไมเราถึงเป็นมิตรกับตัวเองไม่ได้ ทำไมตัวเราซึ่งอยู่ใกล้ชิดตัวเองที่สุด ถึงพ่นถ้อยคำไม่เป็นจริงนั้นใส่ใจตนเอง”
เมื่อพูดถึงความเครียดในเรื่องงาน ในหน้าที่ 127 ผู้เขียนก็ได้นำเสนอวิธีการอันแสนง่ายดายและทำได้เลยทันที นั่นก็คือ เวลาที่เรางานยุ่งจนหัวหมุน ยิ่งยุ่ง เราต้องยิ่งดูละคร! ใช่แล้วครับ เราต้องดูละคร เพราะมันคือการเติมพลังใจให้ตัวเองในการจะลุกขึ้นยืนได้ใหม่ แล้วกลับไปลุยงานต่อให้สำเร็จ
ผู้เขียนบอกเล่าว่า การเติมความรู้สึกเพลิดเพลินทางใจเวลาเหนื่อยๆ มีผลบำบัดดีเยี่ยมไม่แพ้การพักผ่อนทางร่างกายเลย ผลกระทบแย่ๆ จากความเครียดก็เบาลง แถมประสิทธิภาพการทำงานยังกลับดีขึ้นด้วย “บาร์บารา เฟรดริกสัน นักวิชาการ ยังตั้งชื่ออารมณ์ด้านบวกเช่นนี้ไว้ด้วยว่า ‘ยางลบขจัดความเครียด’ ยิ่งยุ่งและเหนื่อยเท่าไร เรายิ่งจำเป็นต้องมียางลบขจัดความเครียดที่ชื่อความสนุกสนาน”
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชอบหนังสือเล่มนี้เข้าไปใหญ่ นั่นก็คือภาพประกอบ ภาพในเล่มเป็นภาพที่ดูสวยงามสบายตา และสอดรับกับเนื้อหาที่ผู้เขียนได้นำเสนอเป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อพูดถึงโดยรวม มันคุ้มค่าเกินราคา 295 บาทอย่างแน่นอน ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
หากหนังสือเล่มนี้คือเพื่อน เขาก็เป็นเพื่อนแท้ที่ช่วยนั่งอยู่ใกล้ๆ แตะไหล่แล้วค่อยๆ พูดให้กำลังใจและเตือนสติให้เราหันกลับมาดูแลจิตใจตนเองด้วยตัวเอง ในยามที่คุณกำลังรู้สึกอ่อนไหวอ่อนแอ ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะครับ
โฆษณา