16 มี.ค. 2019 เวลา 07:26 • ธุรกิจ
“ไม่มีเวลา” หรือ “ไม่มีวินัย”
คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน
แต่ในความรู้สึก เราทุกคนมีเวลาต่างกัน
บางคนอาจมองว่า 1 วันมันช่างยาวนานเหลือเกิน ไม่เห็นมีอะไรให้ทำเลย
ในขณะที่บางคนอาจมองว่า 24 ชั่วโมงใน 1 วันมันน้อยเกินไป ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ก็หมดวันแล้ว
และยิ่งในยุคนี้แล้ว ความท้าทายยิ่งมีมากกว่ายุคก่อน
เพราะเป็นยุคที่ทุกอย่างแข่งกับเวลา
ดังนั้น “การบริหารเวลา” (Time Management) จึงเป็นเรื่องสำคัญ
+++
“ใครคิดว่าตัวเองไม่มีเวลาบ้าง?”
สำหรับคนที่มีงานหรือกิจกรรมมากมายให้ทำทั้งวัน คงยกมือขึ้นอย่างไม่ต้องลังเล
ทั้งที่ความจริง คำว่า “ไม่มีเวลา” เป็นเพียงคำมายาที่เราบอกตัวเอง
เพราะมันขึ้นอยู่กับการ “เลือกใช้เวลา” ของเราเองมากกว่า
แล้วแบบนี้เราจะสามารถบริหารจัดการเวลาให้ดีขึ้นได้ไหม?
คำตอบ คือ “ได้”
เรามาดูกันว่าผู้บริหารเก่งๆ อย่างที่แท็ป ผู้เป็นทั้ง CEO ศรีจันทร์ และเจ้าของเพจ Mission To The Moon
เขาจัดการบริหารเวลาอย่างไร ทั้งที่เขามีกิจกรรม มีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าพวกเราอีก!
+++
“Time / Talent / Energy”
เวลา ความสามารถ พลังงาน เป็น 3 สิ่งที่มีความเชื่อมโยงกัน
โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจ​เกี่ยวกับ “เวลา”ก่อน
ในชีวิตคนเรามีเวลา 6 ประเภทด้วยกัน
1.Core Responsibility หน้าที่ความรับผิดชอบหลักของเรา เช่น เรียนหนังสือ รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เลี้ยงดูลูก เป็นต้น
2. Managing People การบริหารจัดการคน ยิ่งถ้าเป็น Manager เวลาในส่วนนี้ยิ่งสำคัญ
3. Personal Growth การพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ในสิ่งที่จะทำให้เราเติบโตขึ้น
4. Cries & Fires ช่วงเวลาเร่งด่วน ที่จะมีเหตุการณ์หรืองานบางอย่างเข้ามา โดยที่เราไม่ได้คาดการณ์​ไว้
5. Free Time ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ทำอะไรก็ได้
6. Admin ทำงานเอกสาร เช็คอีเมลล์
ลองวางแผนก่อนเลยว่า จะให้เวลาส่วนไหน กี่เปอร์เซ็นต์​ % ของเวลาทั้งหมดที่มี
ซึ่งแต่ละคนก็จะแบ่งแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ
แต่ข้อแนะนำคือ เราต้องแบ่งเวลาเพื่อการพัฒนาตัวเอง (Personal Growth) ให้มากกว่าส่วนอื่น!
ทีนี้ก็มาดูเทคนิคการบริหารจัดการเวลา (Time Management) กัน
+++
เริ่มจากการ “วิเคราะห์​การใช้เวลา” ของเราก่อน (Track your Time) ผ่าน “Time Boxing”
การทำ Time Boxing คือการแยกเวลาเป็นกล่อง (Box)
ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงตัวต่อเลโก้ (Lego)
ตัวต่อทีละชิ้น ซึ่งเปรียบเสมือนกิจกรรมที่เราใช้เวลาไป อาจไม่ได้ทำให้เราเห็นอะไรมาก รับรู้แค่ว่ามีสิ่งที่ต้องทำ
แต่พอเรานำมาประกอบกันแล้ว มันจะดูเป็นรูปเป็นร่าง
ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ ภาพรวมของส่วนประกอบเล็กๆเหล่านี้มากขึ้น
มองจากภาพใหญ่ แล้วดูว่า “เราใช้เวลาไปกับอะไรบ้าง?”
และสิ่งที่เราให้เวลากับมันเยอะๆนั้น “ใช่สิ่งที่มีความสำคัญต่อตัวเราจริงไหม?”
Time Boxing จึงเป็นส่วนผสมที่ดีระหว่าง “การจัดการบริหารงาน” (Task Management) และ “การจัดตารางเวลา” ในรูปแบบของปฏิทิน (Calendar)​
Application ที่คุณรวิศใช้เป็นประจำมี 2 อันด้วยกัน
Asana ใช้เพื่อแบ่งงานออกเป็นกลุ่ม
และ Google Calendar เพื่อเห็นภาพรวมของการทำงานทั้งหมดของเรา
นอกจากนี้ การแชร์ตารางเวลางานให้กับคนในทีมก็สำคัญเช่นกัน
เพราะเขาจะรู้ว่าเวลาไหนเราทำอะไรที่ไหนอยู่ และเราสะดวกคุย ณ ช่วงเวลาใดบ้าง
+++
อีกเทคนิคที่สำคัญคือ การวิเคราะห์​ “ความสำคัญ” (Importance) และ “ความเร่งด่วน” (Urgency) ของงานแต่ละชิ้น ว่าจัดอยู่ในประเภทใด
Q1: สำคัญและเร่งด่วน
Q2: สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน
Q3: ไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน
Q4: ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน
ถ้าดูผิวเผิน ส่วนที่สำคัญอาจจะเป็น Q3 และ Q1 เนื่องจากมันเร่งด่วน
แต่ในความจริงแล้ว ถ้าเราไม่ยอมทำงานสำคัญที่ไม่เร่งด่วน สุดท้ายมันจะกลายเป็นงานด่วนที่สำคัญเช่นกัน
ดังนั้น เราจึงควรเข้าใจถึงชนิดของงานเราแต่ละชิ้นด้วย
เพื่อนำมาวางแผนบริหารจัดการเวลาของเราได้ดียิ่งขึ้น
+++++
เมื่อเราสำรวจการใช้เวลาของเราเสร็จ
เราจะพบได้ว่า แท้จริงแล้วเราเองก็มี “เวลา”
แม้จะเป็นเศษเวลาทีละเล็กทีละน้อย แต่เมื่อมันมารวมกัน
มันก็คือช่วงเวลาที่เราสามารถทำอะไรได้เยอะอยู่เหมือนกัน
ลองมาตีความคำว่า “ไม่มีเวลา” กันใหม่
เราไม่มีเวลา หรือ เราไม่ให้ความสำคัญกับมันมากพอ?
เราไม่มีเวลา หรือ เราก็แค่ไม่มีวินัย?
วินัยจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อเราให้ “ความสำคัญ” กับสิ่งนั้น
+++
แล้วเรา “จะทำอย่างไรให้เราเป็นคนมีวินัย?”
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ดูว่าเรา “ให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง?”
จากนั้นก็ค่อยๆเริ่มทำจาก 1 อย่างก่อน
เช่น เราตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า “ปีนี้ฉันจะเป็นคนตื่นเช้า”
เมื่อยามเช้า นาฬิการปลุกดัง เราก็ควรตื่นตามที่เราตั้งใจเอาไว้
แม้แรกๆเราอาจจะรู้สึกฝืนตัวเองหน่อย
แต่เมื่อเราทำอะไรสักอย่างได้ เราก็จะเริ่มทำอย่างอื่นไปเรื่อยๆได้
ซึ่งนับว่าจุดเริ่มต้นที่ดีของวันนั้น
และมันจะทำให้เรามี “กำลังใจ” ในการสร้างวินัยในสิ่งอื่นมากขึ้น
“วินัย” สร้างเองได้โดยไม่ต้องรอ
Cr. BUNNYBERGS
โฆษณา