17 พ.ค. 2019 เวลา 14:53 • บันเทิง
เมื่อชีวิตแสวงหาความเรียบง่าย แต่เป็นไปไม่ได้เพราะถูกมูลค่าทรัพย์สินครอบงำ
ความเรียบง่ายนั้นเกิดขึ้นในสังคมโลกทุนนิยม ที่ขับเคลื่อนอย่างติดสปีดด้วยลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะบริโภคเพียงให้อิ่มท้องมีกินกันแล้วในกาลเวลาปัจจุบัน แต่มุ่งบริโภคแข่งขันกันที่มูลค่าทรัพย์สินจนครอบงำจิตใจคนให้กระเด็นกระดอนออกจากความเรียบง่ายและความสุขเพราะต้องการสะสมให้มากมีไปถึงกาลเวลาอนาคต
ขอเรียนถามท่านผู้อ่าน “กาลเวลาหนึ่งนี้ท่านมีความสุขหรือความทุกข์จากทรัพย์สินที่ท่านมี” คำถามกว้างมากเลยใช่ไหมคะ
งั้นลองถามใหม่ “อะไรเป็นทรัพย์สินมูลค่า(ทางการเงิน) ที่มากที่สุดของท่าน” บางคนอาจเป็นที่ดิน บ้าน รถ นาฬิกา กระเป๋า ...อย่าขำตัวอย่างที่ยกมาว่ากระเป๋านะคะ สมัยนี้ลัทธิบริโภคนิยมสามารถทำให้คนยอมทำงานหนักเกินตัว เพื่อแลกกับกระเป๋าราคา 6 หลัก ทั้งที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ทั้งๆ ที่บ้านคือ หนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญกับการดำเนินชีวิต จบที่คำคำนี้ The power of brand! ไว้ค่อยมาสนทนาต่อในเรื่องนี้
กลับมาที่กาลเวลาหนึ่ง ณ ขณะนี้ ตอบคำถามกับตนเองกันหน่อยสิคะว่าทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางการเงินที่มากที่สุดของท่านในตอนนี้ สร้างความสุข ความสงบ ความเรียบง่ายให้กับท่านหรือไม่?
ถ้าสร้างแล้ว ท่านจะอ่านบทความนี้ต่อก็ได้ หรือจะย้ายไปอ่านสิ่งอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน
...แต่ถ้าไม่ขอให้ท่านอยู่กับกาลเวลาหนึ่งนี้ อ่านอีกสักหน่อยนะคะ ท่านอาจได้มิติความเรียบง่าย จากมุมหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คะ
จากหนังสือปัญญาแห่งเซน อ้างในหน้า 21-23
ร้านตีเหล็ก กับช่างตีเหล็ก ที่ไม่เลิกตีเหล็ก แต่ต้องตีเหล็กเป็นโซ่สุนัข เพราะคนเลิกซื้ออาวุธจากช่างตีเหล็ก
ช่างตีเหล็กเปิดร้านแบบสมัยโบราณ ไม่เคยปิดร้าน ทำงานในร้าน นอนในร้าน ภาพที่เห็นได้บ่อยเมื่อช่างตีเหล็กพัก คือ นอนบนเก้าอี้ไม้ไผ่ มีกานำ้ชาวางข้างๆ
แต่เรื่องเจ้ากรรม!!! ...มีอยู่ว่า มีนักสะสมของโบราณ เดินผ่านร้านแลได้เหลือบเห็นกานำ้ชา ที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับของ “ไต้เจิ้งกง” ศิลปินผู้โด่งดังในสมัยราชวงศ์ชิง เขาจ้องมองกานำ้ชาอย่างพิเคราะห์จนมั่นใจ จึงเดินไปจับกานำ้ชา พร้อมยกขึ้นมาแล้วพบว่าในพวยกามีตราประทับของ “ไต้เจิ้งกง” แน่นอน คือ ของแท้
ช่างตีเหล็กมิเคยได้สนใจว่าเป็นศิลปะผลงานใคร ให้ความสำคัญแค่เพียงว่าเป็นสมบัติที่ตกทอดมาจากคุณปู่ ช่างตีเหล็ก 3 รุ่นแล้วที่ได้ดื่มชาจากกาใบนี้ และนี่คือความสุขที่เรียบง่ายของช่างตีเหล็ก
มูลค่าของกานำ้ชาใบนี้นะหรือ 2 ชิ้นถูกสะสมในพิพิธภัณฑ์รัฐนิวยอร์ก และพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวัน อีก 1 ชิ้นชาวจีนในประเทศไทยประมูลไปในราคา 600,000 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 1995
นักสะสมเสนอซื้อกานำ้ชาจากช่างตีเหล็ก 150,000 เหรียญ แต่วันจริงที่มาขอซื้อได้นำเงินมา 300,000 เหรียญ
ช่างตีเหล็กไม่เคยเป็นสุข สงบ เรียบง่ายกับกานำ้ชาใบนี้อีกเลยตั้งแต่การมาเยือนและค้นพบของนักสะสมของโบราณผู้นี้ เพราะผู้คนมาหาช่างตีเหล็กเพื่อขอยืมเงิน เพื่อถามถึงสมบัติอื่นที่อาจมีค่าดุจกานำ้ชาที่ช่างตีเหล็กอาจไม่รู้ สรุปคือ ความเรียบง่ายหายไป ความวุ่นวายเข้าแทนที่
แม้กาน้ำชาจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ใจช่างตีเหล็กไม่สงบสุขและเรียบง่าย สิ่งที่ฟ้ามอบให้เป็นรางวัล สิ่งที่บรรพบุรุษฝากไว้เป็นของขวัญ กลับกลายเป็นเครื่องถ่วงรั้งความสงบสุข
ชายชราช่างตีเหล็กจึงเรียกเพื่อนบ้านมาพบกัน แล้วทุบกานำ้ชาทิ้งให้แตกละเอียด ชายชราช่างตีเหล็กเลือกที่จะยอมแพ้ (แต่ไม่ใช่ผู้แพ้...ความเห็นจากผู้เขียนกาลเวลาหนึ่ง) การหยิบค้อนขึ้นทุบและทุบลง ทำให้เขากลับมามีจิตใจที่สงบดังเดิม และเขาได้รับรู้คุณค่าของความสงบ ที่เกิดจาก “ความว่างเปล่า” อย่างวิถีเซน
จากเรื่องราวข้างต้น มีทรัพย์สินใดเป็นโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งท่านไว้ในอยู่ในวงเวียนของความทุกข์หรือไม่ ถ้ามีและท่านว่าสิ่งนั้นจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ท่านเก็บมันไว้เถิด
...แต่ถ้ามันตรงกันข้าม คือ ไม่ได้จำเป็นกับชีวิตท่าน มีเพียงหน้าที่เป็นโซ่ตรวนรั้งท่านให้จมกองทุกข์ จะเพราะหวงแหน จะเพราะแสดงเกียรติยศและความสำเร็จในระบบทุนนิยมที่ยกย่องกันอยู่ ลองปลดปล่อยเริ่มจากชิ้นแรกก่อน ถ้าท่านเบาสบาย เรียบง่ายขึ้น ชิ้นต่อไปจะตามมาเอง
ปลดปล่อยทรัพย์สินที่เกินจำเป็น ความเรียบง่าย ความเบาสบายก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากขึ้น
โฆษณา