21 พ.ค. 2019 เวลา 13:56 • บันเทิง
ความเรียบง่ายจากพยัญชนะไทยเพียง 3 ตัว ที่ทำให้สังคมไทยวุ่นวายสับสน ‘อ’ ‘ว’ และ ‘ด’ รวมกันเป็นคำว่า “อวด”
กาลเวลาหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ลามมาถึงสัปดาห์ที่แล้ว ก้าวผ่านมาถึงวานซืน จนถึงกาลเวลาปัจจุบันวันนี้ พบถ้อยคำสื่อสารการตลาดให้กับคนหลายกลุ่มอายุ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายโดยตรงของการสื่อสารครั้งนี้ คือ เด็กนักเรียน นักศึกษา ด้วยการเสนอให้ซื้อ เพราะต้อง “อวด”
สื่อสารซำ้หลายครั้งจนเหมือนเป็นนิสัยการสื่อสารของค่ายนี้ไปแล้ว
ขอวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จากนักการตลาดหรือนักฯ ใดก็ตาม ในองค์กรขายสินค้ากลุ่ม Book and Non-Book ที่มีโลโก้สี... เฮ้อ! อยู่เมืองไทย จะไม่ให้ตนลำบากเกินไป!!! ก็ต้องวิจารณ์กันอย่างกระมิดกระเมี้ยน (ขมิบ!สมองกันไว้) สี...(อย่า อย่า อย่า อย่าพิมพ์) สี “ลวี่เซ้อ (ภาษาจีน)” บรรจุอยู่ ซึ่งได้ใช้เครื่องมือสื่อสารทางการตลาด ว่ากันง่ายๆ คือขายของ ผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์
กาลเวลาหนึ่งได้ add เป็นเพื่อน เพราะมีส่วนลดมากมาย ทำให้การซื้อของที่จำเป็นได้ในราคาที่ประหยัดลง ข้อนี้ดีชอบคะ นี่คือเหตุทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารของท่านตลอด...แต่ไม่เห็นด้วยกับ “ถ้อยคำที่ใช้สื่อสารทางการตลาด” หรือ “สื่อสารเพื่อจะขายของ” ที่ท่านเชิญชวนอย่างสม่ำเสมอ (ไม่ลอกคำมานะคะ เดี๋ยวกาลเวลาหนึ่งจักอยู่ยาก ไม่เรียบง่ายเอา เพราะสะท้อนสภาพการสื่อสารที่ตรงเกินไป)
“จะเปิดเทอมแล้ว พาลูกหลานเราออกมาซื้อของเพื่อ “อวด” เพื่อนต้อนรับเปิดเทอม”
“มีอะไรจะ “อวด” ต้องมีให้ได้ ... ฯลฯ แม้ไม่ได้ลอกประโยคมาตรงๆ แต่ทุกประโยคเริ่มต้น มักมีพยัญชนะ ‘อ’ ‘ว’ และ’ด’ บ่อยครั้งและบ่อยวัน
เอาแบบนี้กันจริงๆหรือคะ นักการตลาดหรือนักฯ ใดที่ใช้ถ้อยคำเหล่านี้ออกมาสื่อสาร? อย่าไล่ลูกน้องท่านออกหรือตำหนิ หัวหน้าสูงสุดต้องกลั่นกรองงานของลูกน้องจริงไหมคะ อย่าไล่ใครออกแต่โปรดปรับทัศนคติร่วมกัน
เมื่อกาลเวลาหนึ่งอ่านเกิดความไม่สบายใจอย่างมาก เพราะเราๆท่านๆ รู้กันอยู่แล้วว่าแอปพลิเคชั่นไลน์มีทั้งคนทุกกลุ่มอายุ add เป็นเพื่อน ที่ห่วงคือ เด็กนักเรียนที่อายุยังน้อย อ่อนด้อยประสบการณ์ชีวิต จักต้องถูกถ้อยคำการตลาดฝังเข้าไปในสมองของชาติในอนาคตว่า ต้องซื้อของเพื่อมีไว้ “อวด” มันใช่หรือ?
แน่นอนคะ ข้อความข้างต้น กาลเวลาหนึ่งนี้ บอกได้เลยว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ เสียประโยชน์จากการพยายามกระตุ้นยอดขายจากการสื่อสารดังกล่าว ตั้งแต่ลูกหลานเราจะสับสนงงงวยแล้ว ยังถูกลัทธิบริโภคนิยมกลืนกิน คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเร่งฝีมือ ฝีเท้า ก้าวเดินแสวงหาเงินทองเพราะลูกหลานต้องการ “อวด” เวลาอันมีคุณค่าที่จักอยู่ร่วมกัน ที่เราจักเหลือไว้สอนลูกหลานน้อยลงอยู่แล้ว ยังต้องน้อยลงอีกเพราะต้องเอาเวลามาหาเงิน เพื่อซื้อของไป “อวด”
ในขณะเดียวกันองค์กรท่านก็อาจเสื่อมถอย (ไม่ได้ห่วงแต่ผู้บริโภคนะคะ ห่วงองค์กรท่านด้วย เพราะองค์กรท่านก็เป็นสายป่านรายได้ของผู้คนจำนวนมากในประเทศไทย พร้อมยังเป็นแหล่งความรู้และสร้างสรรค์จินตนาการแห่งการเรียนรู้ ที่มั่นใจได้ว่า องค์กรท่านใหญ่ติด Top 3 เมืองไทยแน่นอน) ขอฝากท่านได้ไปพิจารณาว่า สินค้าของท่านทั้งกลุ่ม Book และ Non-Book มีคุณค่ามากนะคะ กาลเวลาหนึ่งก็เป็นลูกค้าด้วย
ลองตั้งหลักสื่อสารกันใหม่ โจทย์คงยังเป็นต้องขายของได้ดีมีกำไร แต่ขอเพิ่มทำอย่างไรสังคมไทยพัฒนาด้วย จักดีเยี่ยม อย่าลดตนนำสินค้าหลายชนิดของท่านที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เหลือเพียงองค์กรที่ขายของเพื่อมีไว้ “อวด” แต่เป็นการขายที่สร้างการ “พัฒนา” จักดีกว่าไหม?
ท้ายที่สุด กาลเวลาหนึ่งเห็นว่า ไม่อยากได้ยินลูกหรือนักเรียน นักศึกษา พูดว่า “พ่อครับแม่ครับ ซื้อให้หน่อยจะไปอวดเพื่อน”
แต่อยากได้ยินว่า
“พ่อครับแม่ครับซื้อให้ผมหน่อย ผมว่าถ้าผมมีมันผมจะเก่งขึ้น เรียนรู้อะไรหลายอย่างได้ดีขึ้น”
“แม่คะหนูอยากได้สีนำ้กล่องใหม่ยี่ห้อใหม่
(แม่) อ้าว!ลูกก็มีของเดิมอยู่แล้วนี่ยังใช้ไม่ถึงครึ่ง มันสิ้นเปลืองนะลูก
(ลูก) หนูอยากลองเปลี่ยนยี่ห้อ เผื่อผลงานศิลปะหนูจะพัฒนาได้มากกว่านี้อีก”
คุณตาครับ ขอเงิน 1,000บาท
(คุณตา)โอ้โห! ตั้ง 1,000บาท จะเอาไปทำอะไร
(หลาน) ซื้อหนังสือครับ
(ตา) อ้าวที่ซื้อไปยังไม่ได้อ่านอีกตั้งหลายเล่ม
(หลาน) แต่เพื่อนบอกว่าเล่มนี้ดีมากครับถึงจะแพงสักหน่อย ซึ่งเวลาที่ผมมีไว้อ่านหนังสือผมมีจำกัดครับ แต่ผมอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ก่อนจริงๆ เพื่อพัฒนาตนเองในเรื่องที่หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำไว้ครับ”
กาลเวลาหนึ่งนี้ ขอฝากท่านช่วยคิด ช่วยแชร์ เพื่อให้นักการตลาดไทย หรือนักฯ ใด ได้นำบทความนี้ไปพิจารณาเพื่อให้เห็นคุณค่าการสื่อสารการตลาด ไม่ลดทอนตนหรือการสื่อสารของตนเหลือเพียงการขายเพื่อให้ได้กำไร
...แต่ได้เห็นคุณค่าการสื่อสารที่ทั้งขายได้ดีมีกำไรและยังช่วยสร้างสรรค์สังคมไทยได้ไปพร้อมๆกัน หากใครสื่อสารได้อย่างประการหลังนี้ จักยั่งยืนกว่าในกาลเวลาปัจจุบัน ยาวนานจนถึงกาลเวลาอนาคต
ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร โปรดให้ข้อเสนอแนะกันเข้ามาผ่านบทความเพียงบทเล็กๆ ในกาลเวลาหนึ่งที่เราจักใช้เวลาเขียนอ่านเพื่อพัฒนาสังคมไทยร่วมกัน
โฆษณา