19 มิ.ย. 2019 เวลา 14:57 • ปรัชญา
จิตวิทยา...เชิงทดลอง
หลายปีก่อนได้มีโอกาสชมรายการ The people watchers ซึ่งเป็นรายการที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์
โดยรายการจะส่งหน้าม้ามาสร้างสถานการณ์จำลองและสรุปผลตามทฤษฎีจิตวิทยา มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมาย
ประเด็นแรกทางรายการ อยากรู้ว่าโฆษณาที่เราเห็นแค่แว๊บเดียว จะมีผลต่อการตัดสินใจของเราหรือไม่ ?
จึงให้หน้าม้าถือป้ายโฆษณาลูกอมช็อคโกแลตยืนทางซ้ายและขวาของประตูทางเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญคือฝั่งซ้ายและขวาไม่ได้โฆษณายี่ห้อเดียวกัน
ถ้าคุณเดินมาจากด้านซ้ายของประตูจะเจอโฆษณายี่ห้อสีเหลือง แต่ถ้าเดินมาจากด้านขวาจะเจอโฆษณายี่ห้อสีน้ำเงิน เมื่อจ่ายเงินซื้อสินค้าพนักงานที่แคชเชียร์จะแนะนำโปรโมชั่นวันนี้ ว่าคุณมีสิทธิ์รับช็อคโกแลตฟรีหนึ่งชิ้น ปรากฏว่าส่วนใหญ่เลือกยี่ห้อที่เพิ่งเห็นโฆษณามาครับ
โอ้!!!นี่แหละครับผลของการโฆษณา แม้เรามองผ่านๆ แม้เราไม่สนใจแต่การได้เห็น(ย้ำว่าแค่เห็น)เราก็เก็บลักษณะของสินค้านั้นเข้าไว้ในจิตใต้สำนึกแล้ว เมื่อถึงภาวะที่คุณจะต้องเลือกคุณก็จะเลือกสิ่งที่คุ้นชินซึ่งก็คืออะไรที่ถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก ขนาดเห็นแค่ช่วงสั้นๆตอนเดินเข้าร้านยังมีผลขนาดนี้ แล้วโฆษณาทางทีวีที่เราดูกันอยู่ทุกวัน มันไม่ฝังไปในจิตใต้สำนึกของเราหมดแล้วเหรอ.....
ช่วงต่อมาเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เราเห็นการขโมยของในออฟฟิคแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์งาน 3 คน (สถานการณ์นี้ชาย 1 คนหญิง2 คน )
โดยชายหน้าม้าของเราจะทำตัวเป็นหัวขโมย ขโมยเงินจากเคาน์เตอร์แล้วแกล้งทำให้สุภาพสตรีทั้งสองคนเห็นก่อนที่จะเดินเข้าไปสัมภาษณ์งานหน้าตาเฉย
ผลปรากฏว่าสองคนที่เหลือไม่ปริปากพูดอะไรออกมาเลย ไม่ถามกันซักนิด เธอเห็นอะไรมั้ย? เขาขโมยเงินรึเปล่า? แต่เลือกที่จะเงียบทั้งคู่
สงสัยรึเปล่าครับว่าเพราะอะไร? คำตอบคือเพราะทั้งสองคนอยู่ในสถานการณ์ที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า “ภาวะแบ่งกันรับผิดชอบ”
คือทั้งสองจะพยายามผลักภาระการบอกตัวคนร้ายให้อีกฝ่ายแทน ผลสุดท้ายแต่ละคนจะนั่งเงียบไม่พูดอะไร
ดังนั้นถ้าคุณต้องไปเจอสถานการณ์แบบนี้ผมแนะนำครับแจ้งเจ้าหน้าที่สถานเดียวเพราะถ้าคุณหวังให้อีกฝ่ายเป็นผู้แจ้ง..... เค้าก็คิดเหมือนคุณนั่นแหละ
เรื่องสุดท้ายน่าสนใจครับ ทางรายการให้อาสาสมัคร 3 คนเขียนสุ่มผลลัพธ์การโยนเหรียญ 50 ครั้ง และให้โยนจริง 50 ครั้ง
โดยทางรายการจะให้ซาร่า(เข้าใจว่าไม่ใช่ซ่าร่าคู่หูนายจอร์จในทีวีไดเร็ค)ลองทายดูว่าอันไหนเขียนสุ่มโดยอาสาสมัคร อันไหนคือผลการโยนเหรียญจริง
ปรากฏว่าคุณซาร่าทายถูกทั้ง 3 คน
เธออธิบายว่า ที่สามารถทายถูกเพราะใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับสมองมาช่วย
สมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกโปรแกรมมาให้คิดในเชิงสุ่ม แม้ทุกคนจะพยายามสุ่มแล้วก็ตาม แต่มักจะไม่เขียนผลลัพธ์อันเดียวกันติดกันเกินกว่า 5 ครั้ง
เพราะเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งในความจริง โอกาสที่จะเกิดผลลัพธ์เดียวกัน 5 ครั้งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซาร่าเลยสังเกตว่าถ้าในตารางแสดงผลลัพธ์ออกหน้าเดียวกันติด 5 ครั้ง น่าจะเป็นการทดลองที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งในการโยนเหรียญจริงอาสาสมัครทั้งสามคนก็โยนเหรียญออกหน้าเดียวติดกันอยู่หลายครั้ง(และมีเกิน 5 ครั้งด้วย)
แหม!!!ช่างเข้าใจทดลองกันเสียจริง เป็นการทดลองที่ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่ๆและต้องทึ่งในความมหัศจรรย์ทางจิตวิทยาจริงๆครับ
หมายเหตุ- ดูรายการนี้มาหลายปีแล้ว ... และเขียนเรื่องนี้ลง blog ส่วนตัว วันนี้มาแบ่งปันเพื่อนๆใน blockdit ครับ (ระหว่างที่ยังคิดมุกเขียนบทความไม่ออก 555)
ใครมีการทดลองทางจิตเจ๋งๆมาแบ่งปันกันได้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา