24 มิ.ย. 2019 เวลา 03:01 • การเมือง
สว. : สลัดความเหงาและหาเงินเข้ากระเป๋ากันเถอะ
ประเทศไทยได้เข้ามาสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วนะครับ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๘ ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ถึง ๑๐.๖๖ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๐๖ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ผู้สูงอายุซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกว่า “สว.” มีสุขภาพแข็งแรงขึ้นเนื่องมาจากการแพทย์ดีขึ้น ทำให้คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจนถึง ๗๕ ปี ในปัจจุบัน
รัฐบาลได้เล็งเห็นแล้วว่า สว. เป็นทุนทางสังคมที่มีศักยภาพสูง เพราะเป็นผู้ที่มีทั้งภูมิความรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา จึงได้ส่งเสริมให้ สว. เป็นทรัพยากรที่เข้มแข็ง และมีคุณค่าให้ยาวนานที่สุด
ที่จริงราชการก็ได้จัดให้มีหน่วยงานดูแล สว. มานานแล้วนะครับ แต่ที่ไม่เห็นชัดเพราะเป็นหน่วยงานในส่วนราชการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพิ่งจัดตั้งส่วนราชการชัดเจนระดับกรมขึ้นเพื่อดูแล สว.โดยเฉพาะ คือกรมกิจการผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๘
ทั้งยังเพิ่มเบี้ยยังชีพ สว. ให้สูงขึ้นมาโดยตลอด ปัจจุบันเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่คนละ ๖๐๐ – ๑,๐๐๐ บาท ต่อเดือน ยากดีมีจนถึงเศรษฐีพันล้านก็ได้หมด เว้นแต่ไม่ขอใช้สิทธิ์ แต่ข้าราชการที่ได้รับบำเหน็จบำนาญอดนะครับ เพราะหลวงจ่ายให้แล้ว รายละเอียดการรับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได ดูจากภาพข้างล่างครับ
นอกจากนั้น กรมกิจการผู้สูงอายุ ยังได้หาแนวทางต่างๆ เพื่อให้บริการผู้สูงอายุให้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ได้ทำอยู่โดยตลอดคือการช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุนำความรู้ความสามารถและภูมิปัญญา (Knowhow) ของตนเองมาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม
แม้ว่า สว. บางคนมีงานทำเยอะแยะ บางคนมีงานมากกว่าตอนที่ยังไม่ได้เป็น สว. เสียอีก แต่ก็มี สว. อีกหลายคนซึ่งแม้มีความรู้ ความสามารถหรือมีภูมิปัญญาสูง แต่ไม่มีโอกาสหรือช่องทางในการใช้ความรู้หรือภูมิปัญญาเหล่านั้นมาใช้้ประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น
น่าสงสาร สว. หลายคนที่ต้องอยู่กับความเหงา เพราะลูกได้ออกเรือนไป จึงต้องอยู่ตามลำพัง หากมีคู่สมรสอยู่ด้วยก็ยังพอทำเนา แต่หากไม่มีคู่สมรสก็ยิ่งน่าสงสารเข้าไปใหญ่ อยู่ตัวคนเดียวหรือสองคนตายายไม่ได้สังสรรค์กับผู้ใด ก็อาจเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์กันได้ง่ายๆ ครับ
กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงได้หาทางในการส่งเสริมให้ สว. เป็นทรัพยากรที่เข้มแข็งและมีคุณค่าให้ยาวนานที่สุด ทั้งนี้ เพื่อรับสนองพระราชดำริในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเคยรับสั่งให้นำศักยภาพ ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม
จึงได้จัดโครงการ “สานพลังผู้สูงวัยร่วมพัฒนาคนไทยให้อยู่ดีมีสุข” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุแสดงศักยภาพ นำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ และเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุให้เกิดการสร้างงาน อาชีพและรายได้
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทั้ง ๑๒ แห่ง คือที่กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ปทุมธานี นครพนม บุรีรัมย์ ขอนแก่น ลำปาง เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต และยะลา เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว
โดยที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และเป็น อ.ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมนี้ด้วย จึงได้รับเชิญให้ไปร่วมโครงการดังกล่าวข้างที่จังหวัดยะลาและจังหวัดสงขลา
การจัดงานตามโครงการที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนายพิษณุพงษ์ จิระโภคานนท์ ผอ. ศูนย์ฯ นั้น นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ไปเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวด้วยตนเอง
ส่วนที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา ที่อำเภอสะบ้าย้อย นั้น โดยที่ท่านมีภารกิจสำคัญที่ต้องไปเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ..... ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ผู้เขียนปฏิบัติภารกิจดังกล่าวแทน
ที่ยะลา ท่านอธิบดีได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินการของ​โรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองเบตง ก่อน
ไปถึงก็ปลื้มใจครับ มีกลองยาวต้อนรับ หลังจากนั้น โรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองเบตง ก็ได้สาธิตการออกกำลังกายของนักเรียนให้ชม​ ดูวีดิโอกิจกรรมดังกล่าวได้ครับ
ครับ สาธิตอย่างเดียวไม่พอ​ ชักชวนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ​และคณะ​ รวมทั้งนักเรียนของโรงเรียนผู้สูงอายุเมืองเบตงที่ไปร่วมการต้อนรับเต้นออกกำลังกาย ผู้เขียนก็ได้ออกไปออกกำลังกายกับเขาด้วย​ ได้เหงื่อดีครับ​ ผู้เขียนต้องถอดเสื้อเจ็กเกตออกก็แล้วกันครับ
หลังจากได้ฟังบรรยายสรุปแล้ว​ นางไพรวรรณ​ อธิบดีฯ ได้ชี้แจงการดำเนินการและการให้บริการต่างๆ​ ของกรมกิจการผู้สูงอายุ​ ​ ซึ่ง สว. อาจติดต่อขอรับบริการต่างๆ​ ของกรมได้​ นอกจากนี้​ ยังได้เน้นถึงการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพด้วย แล้วจึงถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
ก่อนเดินทางกลับ ทุกคนในคณะก็ได้รับประกาศนียบัตรผู้พิชิต ๑๐๐ โค้ง ๑,๐๐๐ เลี้ยว อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับด้วย ไปเบตงเมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ก็เพิ่งได้รับครั้งนี้แหละครับ
หลังจากนั้น ได้เดินทางไปที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จังหวัดยะลา ก่อนการเปิดงาน นางไพรวรรณ ได้แวะทักทายพร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่ สว. ที่ไปร่วมงานด้วย
หลังจากนั้น ก็ได้ชมการแสดงต่างๆ หลายชุดครับ สร้างความชื่นชอบให้ สว. ที่ไปร่วมงานในวันนั้นมากเชียวครับ ได้ถ่ายวีดิโอตัวอย่างมาให้ชมด้วยครับ เชิญชมครับ
ขอผ่านรายละเอียดต่างๆ ของพิธีการนะครับ เช่นเดิมครับ นางไพรวรรณ อธิบดีฯ ได้กล่าวถึงบริการของกรมและเน้นย้ำเรื่องการเป็น สว. ที่มีคุณค่า
และหลังเปิดงานแล้ว นางไพรวรรณ และคณะก็ได้เดินตลาดนัดภูมิปัญญา เพื่อให้กำลังใจหน่วยงานต่างๆ ที่ได้นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาแสดงด้วย
การสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ นี้ หลายส่วนมาจากศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ในสตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศูนย์ฯ ยะลารับผิดชอบ โดยจัดแสดงเครื่องจักสานจากทางมะพร้าว จากเส้นพลาสติก รวมทั้งแสดงสมุนไพร ขนมของชาวมุสลิม การทำว่าว ผ้ามัดย้อม เป็นต้น ในงานดังกล่าวยังมีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมให้บริการตรวจสุขภาพ และให้คำปรึกษาแนะนำด้วย
สำหรับที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนางสกุณที อนุราช ผอ. ศูนย์ และตั้งอยู่ที่อำเภอสะบ้าย้อยนั้น ก่อนการเปิดงาน มีการแสดงให้คณะและผู้สูงอายุชมด้วย
ถ่ายวีดิโอสั้นๆ รวม ๓ ชุด ลองชมนะครับ
https://youtu.be/f1EGEEpd8Io, https://youtu.be/9GfsoBCrzQw และhttps://youtu.be/5e7zcJzepqc
ผู้เขียนถือโอกาสตอนเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ได้ขอให้ สว. ช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ลูกหลานและสร้างงานเพื่อหารายได้ใส่กระเป๋าตนเองด้วย ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องการทำตัวให้ไม่ให้ว่าง ทั้งนี้ เพราะหากอยู่เฉยๆ ก็อาจเฉาตายได้ง่ายๆ
หลังจากกล่าวเปิดงานแล้ว ก็ได้ถ่าย​ภาพร่วมกัน ทั้งนี้ ได้ร่วมกับคณะ แจกของให้แก่ สว. ที่ไปร่วมงานด้วย
หลังจากนั้น ผู้เขียนและคณะได้เดินชมตลาดนัดภูมิปัญญาของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลา ชมการสาธิตภูมิปัญญาของกลุ่ม สว. ในจังหวัดสงขลา ภูมิปัญญาที่นำเสนอมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทขนม เช่น ขนมโค ข้าวหมาก ข้าวหลามใบยี่เร็ด ขนมปากหม้อ นอกจากนั้น ยังมีประเภทจักสานจากกระจูดและเส้นพลาสติก เป็นต้น
ชมไปก็ชิมไปครับ ก็แต่ละบูธเชิญชวนให้ชิมนี่ครับ ชิมเสียจนอิ่ม วันนั้น อาหารกลางวันที่ศูนย์ฯจัดเตรียมไว้ให้คณะนั้น ผุ้เขียนต้องขออภัย ที่ได้กินเพียงคำสองคำเท่านั้น ไม่มีที่เพียงพอแล้วครับ
ขอขอบคุณศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา ด้วยครับ เพราะจัดต้นรวงผึ้งไว้ให้ผู้เขียนได้ปลูกเป็นที่ระลึก ผู้เขียนชอบต้นไม้มากๆ ครับ
อยากเห็นส่วนราชการทุกแห่งได้ปลูกต้นไม้ให้มากๆ ต้นอะไรก็ได้ครับที่ให้ร่มเงา ปลูกไม้ดอกนะครับ จะได้ไม่มีปัญหา เพราะนอกจากต้นไม้ให้ออกซิเจนและให้ความร่มรื่นให้แก่เจ้าหน้าที่แล้ว ประชาชนที่ไปติดต่องานยังได้รับอานิสงค์ด้วย
บ่ายวันนั้น นางไพรวรรณ อธิบดีฯ ได้เดินทางกลับจากจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วนำคณะไปศึกษาดูงานการให้บริการผู้สูงอายุของ​ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ.​ จังหวัดสงขลา ที่อาคารติณสูลานนท์ ผู้เขียนชอบใช้คำว่า “บริการ” มากกว่า “บริบาล” นะครับ อยากให้เปลี่ยนชื่อจังเลยครับ
 
เห็นอาคารติณสูลานนท์แล้ว ให้อิจฉาชาวสงขลาเป็นกำลัง หากอยู่ในสงขลาคงรีบไปใช้บริการ ไม่ใช่เพราะอาคารสถานที่ใหญ่โตและทันสมัย แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ถึง ๓​ ชั้น​ นอกจากนั้น ยังมีห้อง​ Day​ care และการ​พัก​ค้าง ประการหลังนี้ไม่อยากขอใช้บริการหรอกครับ
 
เข้าไปถึงก็เห็น สว. เต้นออกกำลังกายในจังหวะตะลุง ขาของผู้เขียนไม่อยู่เฉยเสียแล้วละครับ ก็ของชอบนี่ครับ ต้องเข้าไปสบทบเพื่อขยับตามจังหวะไปด้วย นางไพรวรรณ ก็เก่งนะครับ ร่วมเต้นกับเขาด้วย สร้างความประทับใจให้ สว. มาก เพราะเป็นอธิบดีที่ไม่ถือเนื้อถือตัว
หลังจากนั้น ได้เดินชมกิจกรรมต่างๆ​ อธิบดีฯ ได้ลองเล่นอังคะลุงด้วยนะครับ
ถึงห้องร้องเพลงคาราโอเกะ นางไพรวรรณก็ได้นำคณะและผู้สูงอายุ ร้องเพลง ร้องตั้ง ๒ เพลง เลยครับ แต่ให้ชมเพลงแค่เดียวนะครับ ท่านเกษียณอายุแล้ว คงมีเวลาได้เป็นนักร้องรับเชิญโดยไม่ขาดนะครับ เชิญชมวีดิโอครับ https://youtu.be/ZvrrXQGAHf0
 
ตบท้ายรายการด้วยการเสวนาด้านการให้บริการผู้สูงอายุ​โดยผู้แทนจาก​ อบจ​. สงขลา นายกสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดสงขลาและอธิบดีฯ นางไพรวรรณ​ พลวัน
ดีใจที่ได้พบกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่ สสว. ๑๒ (สงขลา) ทั้งสองท่าน ท่านแรกเป็น ผอ. ส่วนอีกท่านหนึ่งเคยเป็นผู้ร่วมงานที่สำนักงาน ก.พ. และยังเป็นลูกศิษย์อีกด้วย
สุดท้าย ขอขอบคุณกรมกิจการผู้สูงอายุที่ได้เชิญผู้เขียนไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ เห็นความพยายามต่างๆ ในการให้บริการและส่งเสริมสนับสนุนให้ สว. มีชีวิตอย่างมีคุณค่าและยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีความสุข ผู้เขียนซึ่งเป็น สว. คนหนึ่งก็ชื่นใจแล้วครับ
 
สว. ท่านใด อยากใช้บริการของกรมกิจการผู้สูงอายุและศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทั้ง ๑๒ แห่ง ก็อาจประสานกับกรมกิจการผู้สูงอายุและศูนย์ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดต่างๆ ๑๒ แห่ง รวมทั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ได้โดยตรงนะครับ
 
พุธทรัพย์ มณีศรี
โฆษณา