28 มิ.ย. 2019 เวลา 11:44 • ท่องเที่ยว
ปารีสน้อยแห่งยุโรปตะวันออก : โรมาเนีย – บัลกาเรีย (๗))
ตอนนี้ไปชมกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของประเทศโรมาเนียกันครับ หลังจากชมแล้วก็เดินทางต่อไปประเทศบัลกาเรียกันครับ
อาหารเช้าที่ Pullman Bucharest Trade Center ซึ่งโรงแรมนี้ในเมืองไทยก็มีครับ วันนั้นมีอาหารเช้าที่ดีที่สุดตั้งแต่กินอาหารเช้าที่โรมาเนีย คงเป็นมื้อสั่งลากระมังครับ
ถ่ายภาพในล๊อบบี้กันหน่อย ก่อนจะชมกรุงบูคาเรสต์ (BUCHAREST)
กรุงบูคาเรสต์ได้รับสมญานามว่า “ปารีสน้อยแห่งยุโรปตะวันออก” เนื่องจากในสมัยก่อนชนชั้นสูงของโรมาเนียนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนที่ฝรั่งเศส จึงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมฝรั่งเศสทั้งในด้านแฟชั่นและศิลปะรวมทั้งสถาปัตยกรรมซึ่งยังปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย เช่น ประตูชัยของโรมาเนีย เป็นต้น
โดยที่วันที่​ ๑​ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่อยู่ในกรุงบูคาเรสต์นั้น เป็นวันเด็กของโรมาเนีย​ เหมือนกับพาเด็กน้อย (แก่มาก) ไปชมประตูชัยโรมาเนียเป็นแห่งแรกครับ
หลังจากนั้น ขอนำชมกรุงบูคาเรสต์โดยรถโค้ชกันก่อนครับ ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นตึกราม​ บ้านช่อง สภาพของถนนที่มีต้นไม้ร่มรื่น​ อยากเห็นบ้านเมืองเรามีอย่างนี้บ้าง​ ต้นไม้ที่มีอยู่ก็ตัดสั้นมาก (ท่อนบนขายได้ครับ) อย่างไรก็ตาม นอกเหนือความสวยงาม​ ก็เห็นบ้านร้างในเมืองมากมายเช่นกัน
แวะ Palace​ Square ซึ่งเป็นสถานที่รวมความสำคัญหลายๆ​ อย่าง​ เช่น รูปปั้น​ King ​Carol ที่ ๑ กษัตริย์องค์แรกของโรมาเนีย​ มหาวิทยาลัย​ พระราชวัง​ ซึ่งตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์​ มี​ Revelution Square​ ซึ่งมีอนุสาวรีย์ปฏิวัติ​รวมอยู่ด้วย​ นอกจากนั้น​ ยังมี​ Music Hall อีกด้วย
อาคารรัฐสภา หรือ ทำเนียบประธานาธิบดีของประเทศโรมาเนีย (Palace of Parliament) เป็นทำเนียบประธานาธิบดีที่ใหญ่โตโอฬารของอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการ นิโคไล เชาเชสคู และ นางเอลินา ภริยาผู้ซึ่งอยากมีชีวิตหรูหราประหนึ่งเอวิต้า เปรอง
ทำเนียบประธานาธิบดีนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาคารรัฐสภานี้ได้ชื่อว่าใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก รองจากตึกเพนตากอน ของสหรัฐอเมริกา และ มีจำนวนห้องมากถึง ๒,๐๐๐ ห้อง ใช้เวลาสร้างนานถึง ๕ ปี โดยสร้างแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนียทั้งโครงสร้างและการตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน
เสียดายวันนี้มีการประชุมสภายุโรป​จึงไม่ได้เข้าไปดูภายในอาคาร ซึ่งทราบว่าภายในตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา แต่ละห้องของอาคารจะมีรูปแบบการตกแต่งเฉพาะตัว โดยเฉพาะห้องแกรนด์บอลรูมที่ได้มีการตกแต่งโคมไฟประดับโบฮีเมียนำหนักถึง ๕ ตัน ปูพื้นด้วยพรมเปอร์เซียผืนใหญ่
ทราบว่าห้องรับรองสร้างจากหินอ่อนจากเมืองคาราร่า ประเทศอิตาลี ที่มีความงดงามมาก ครับ ไม่ได้เข้าไปดู ก็ได้ถ่ายรูปหน้ารัฐสภา​ ตอนเช้าๆ​ ไม่มีคนมากเท่าไรครับ
เพราะรัฐสภาปิดในวันนั้น ทัวร์ได้นำชม Outdoor Museum แทน สำหรับ Outdoor Museum เป็นที่รวมบ้านที่อยู่ของชนชาติ​ ๑๔​ ชาติ​ ซึ่งรวมตัวกันเป็นโรมาเนีย
บ้านที่เห็นในภาพนี้เป็นที่อยู่จริงของประชาชนในชาติทุกภาคของประเทศ​ บางบ้านนั้น​เจ้าของบ้านยังมีชีวิตอยู่​ กระทรวงวัฒนธรรมได้ขอให้รื้อบ้านมาปลูกใหม่​ โดยนำผู้คนในบ้านรวมทั้งสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงดูจนกว่าชีวิตจะหาใหม่
ที่น่าสนใจก็คือชาวบ้านนำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาขาย​ โดยนำที่วางของเข้ามาเอง​ ไม่เหมือนบ้านเราหรอกครับ​ เปิดโอกาสแบบนี้ชาวบ้านไม่ได้วางขายหรอก​ แม่ค้าคนกลางจับจองไปก่อนแน่นอน
ก็เดินชมกันเกือบทั่วแหละครับ
เห็นภาพในบ้านเขาแล้ว ไม่แตกต่างจากบ้านเราในชนบทเท่าใดนักหรอกครับ
เข้าไปในโบสถ์ถ่ายรูปไปแล้ว เจ้าหน้าที่มาบอกว่าห้ามถ่าย ขอโทษครับ ไม่เห็นป้ายจริงๆ ครับ
หลังจากนั้น ก็เดินชมไปเรื่อยๆ
ชุดสุดท้ายแล้วครับ ก่อนจาก
แล้วจึงได้มากินอาหารกลางวันในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ให้ชมภายนอกและพนักงานต้อนรับก่อนครับ
เข้าไปข้างใน โอ หรูหรามาก​ครับ ตอนแรกนึกว่าเป็นวังเก่า​แต่ไม่ใช่​ เจ้าของเป็นคนธรรมดา​ เริ่มต้นสร้างร้านขายเบียร์ในปี​ ๑๘๗๙ มีเพียง​ ๗​ โต๊ะ​ แล้วก็สร้างต่อเติมจนเสร็จสิ้นในปี​ ๑๙๒๔ สวยงามอย่างที่เห็นนี่แหละครับ เป็นที่น่าสังเกตว่าคนขายน้ำเมารวยเช่นนี้ทุกคน ไม่ว่าอยู่ที่ประเทศใด
วันนี้ได้ถ่ายภาพกับสาวบัลกาเรียหลายคนครับ โดยเฉพาะสาวเสริฟผู้นี้ เธอแข็งแรงมาก ถือจานโตๆ มาได้ครั้งละ ๖ จาน
เพราะความของร้านอาหารแห่งนี้ กินอาหารกลางวันแล้ว ก็เดินถ่ายภาพกันครับ สวยงามมากจริงๆ
ออกมาจากร้านอาหารก็ถ่ายภาพกันก่อนขึ้นรถ
หลังจากนั้น จึงออกเดินทางไปประเทศบัลกาเรียครับ สภาพทั่วไปก็เหมือนกับที่เคยเห็นมาแล้ว ไกด์ชี้ให้ดูบ้านยิบซี ชอบสร้างหลายๆ ชั้นครับ แล้วลูกหลานทั้งหมดก็มาอยู่รวมกัน
ถึงพรมแดน โรมาเนีย- บัลกาเรีย มีแม่น้ำ​ดานูปเป็นแนวกั้นพรมแดนของทั้งสองประเทศ​ และมีสะพานยาว​ ๒.๘ กม.​ เชื่อม​ ๒​ ประเทศนี้
เลยสะพานไปแล้วจึงมีด่านตรวจเพื่อออกจากโรมาเนียและเข้าบัลกาเรีย​ ชื่อเมืองรูเซ​ ครับ แปลกดีนะครับ​ที่โรมาเนียและบัลกาเรียไม่ได้ใช้วีซ่าเชงเก้นเหมือนสหภาพยุโรปอื่น​ แต่​ ๒​ ประเทศนี้มีข้อตกลงกันว่าหากนักท่องเที่ยวมีวีซ่าเข้าโรมาเนียก็เข้าบัลกาเรีย​ได้และก็กลับกันครับ
สำหรับชาวโรมาเนียและบัลกาเรียไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องใช้วีซ้า เพียงมีบัตรประจำตัวประชาชนแสดงก็พอแล้ว
ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที​ กว่าจะผ่านด่านได้ ได้รับการขอร้องให้กล่าวขอบคุณไกด์โรมาเนีย​ ​Dianaพร้อมมอบทิปให้แทนคณะทัวร์​ เพราะหมดหน้าที่​แล้ว Diana จุ๊ปผู้เขียนทำให้ชาวคณะเฮกันนิดหน่อย ของปกติครับ
ได้ไกด์ชาวบัลกาเรียชื่อ​ Julia มาทำหน้าที่แทน​ โชคดีที่รถและคนขับเหมือนเดิม จึงมีโอกาสได้นั่งที่นั่งพิเศษเพื่อถ่ายภาพต่อไป
ไว้ตอนหน้าค่อยไปเที่ยวที่ประเทศบัลกาเรียกันนะครับ
พุธทรัพย์ มณีศรี
ติดตามอ่านตอนที่แล้วมาได้ที่
ตอนที่ ๑ ไปโรมาเนียแต่คิดถึงกรุงแคนเบอร์ร่า
ตอนที่ ๒ ตอนที่ ๒ ชมสถานที่ที่งดงามที่สุดของยุโรป
ตอนที่ ๓ ร่างที่ไร้ศีรษะของท่านเค้าท์แดร๊กคูล่า 
ตอนที่ ๔ ชิมไวน์ ฟังเพลง ชมเต้นและร่วมเต้นแบบโรมาเนีย 
ตอนที่ ๕ ไปไหนก็พบแต่เรื่องราวของแดร็กกูล่า
ตอนที่ ๖ สวยงามมากๆ สวยจนอยากไปเยี่ยมชมอีก
โฆษณา