1 ก.ค. 2019 เวลา 09:19
เลือกหุ้นด้วยการโยนเหรียญ ?
หลายคนคงเคยได้ยินว่าการจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ นักลงทุนจะต้องมีปัจจัย 3 อย่าง คือ 1.ความรู้หรือวิธีการลงทุน 2.การบริหารเงินลงทุน และ 3.จิตวิทยาการลงทุน ซึ่งแต่ละปัจจัยจะมีน้ำหนักความสำคัญไม่เท่ากัน สำหรับปัจจัยด้านความรู้หรือวิธีการลงทุนมีความสำคัญ 10% การบริหารเงินลงทุนมีความสำคัญ 30% และจิตวิทยาการลงทุนมีความสำคัญที่สุดถึง 60% ถึงแม้ความรู้เรื่องวิธีการลงทุนจะสำคัญเพียง 10% แต่หลายๆคนต่างก็พยายามอย่างหนักเพื่อที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุด วิธีการที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดด้วยความเสี่ยงต่ำที่สุด และรวดเร็วที่สุด คงไม่มีใครใช้วิธีการโยนเหรียญหัวก้อยเพื่อกำหนดว่าวันนี้จะซื้อ-ขายหุ้นอะไรแน่ แต่บทความนี้ผมจะทดสอบวิธีการเลือกหุ้นด้วยการโยนเหรียญเพื่อตัดสินใจซื้อหุ้นหรือก็คือการสุ่มนั่นเอง (ต่อไปนี้จะเรียกว่ากลยุทธ์การสุ่มนี้ว่า SETALL/R20)
สำหรับการทดสอบในครั้งนี้ก็จะคล้ายกับการทดสอบในบทความก่อน โดยผมจะสร้างพอร์ตโฟลิโอจำลองขึ้นมาจำนวน 1,000 พอร์ต แต่ละพอร์ตจะซื้อหุ้น 20 ตัว ด้วยวิธีการสุ่มเลือกหุ้นจากหุ้นทุกตัวในตลาด (ทั้ง SET และ MAI) ลงทุนตัวละ 5 ล้านบาท รวมมูลค่าพอร์ต 100 ล้านบาท โดยจะเริ่มซื้อหุ้นในวันแรกที่มีการซื้อขายของเดือนมกราคม ปี 2009 และปรับพอร์ตหรือ Rebalance ทุกๆ 6 เดือน (จะซื้อหุ้นในวันแรกที่มีการซื้อขายของเดือนมกราคม และขายในวันสุดท้ายที่มีการซื้อขายของเดือนมิถุนายน จากนั้นจะสุ่มซื้อหุ้นอีกครั้งในวันแรกที่มีการซื้อขายของเดือนกรกฎาคม และขายในวันสุดท้ายที่มีการซื้อขายของเดือนธันวาคม ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาการทดสอบ) ช่วงเวลาการทดสอบตั้งแต่วันที่ 2009.01.01 ถึง 2019.01.01 รวมระยะเวลา 10 ปี
ตารางแสดงผลตอบแทนและความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอจำลองจำนวน 1,000 พอร์ต แต่ละพอร์ตซื้อหุ้น 20 ตัว ตัวละ 5 ล้านบาท รวมมูลค่าพอร์ตละ 100 ล้านบาท เลือกหุ้นด้วยวิธีการสุ่มจากหุ้นทุกตัวในตลาดทั้ง SET และ MAI และปรับพอร์ตทุกๆ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 2009.01.01-2019.01.01 รวมระยะเวลา 10 ปี
จากผลการทดสอบพบว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ 2009.01.01 ถึง 2019.01.01 ดัชนี SET มีผลตอบแทนอยู่ที่ 226.7% หรือหากลงทุนในดัชนี SET ด้วยเงินจำนวน 100 บาทจะเติบโตเป็น 326.7 บาท คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น (%CAGR) ที่ 13.01% ต่อปี ขณะที่กลยุทธ์ SETALL/R20 ซึ่งเลือกหุ้นด้วยการโยนเหรียญหรือการสุ่มให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของทุกพอร์ตโฟลิโออยู่ที่ 352.41% หรือจากเงินลงทุน 100 บาทจะเติบโตเป็น 452.41 บาท คิดเป็น CAGR อยู่ที่ 15.73% ต่อปี ในด้านความเสี่ยงดัชนี SET มีค่า %Maximum Drawdown (%DD) หรือการที่มูลค่าพอร์ตโฟลิโอติดลบสูงสุดก่อนที่จะกลับไปทำจุดสูงสุดใหม่อยู่ที่ -25.48% ขณะที่กลุยทธ์ SETALL/R20 มีค่าเฉลี่ย %DD อยู่ที่ -33.57% จะเห็นว่ากลยุทธ์ SETALL/R20 โดยเฉลี่ยสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี SET อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็มีความเสี่ยงหรือ Drawdown ที่มากกว่าด้วย
จากคำกล่าวที่ว่า ความรู้หรือวิธีการเลือกหุ้นมีความสำคัญเพียง 10% นั้นดูจะเป็นความจริง เนื่องจากว่าแม้จะเลือกหุ้นด้วยการสุ่ม แต่โดยเฉลี่ยทุกพอร์ตโฟลิโอแล้วก็ยังให้ผลตอบที่น่าพึงพอใจ (อย่างน้อยก็สามารถชนะดัชนี SET ได้ในช่วงเวลา 10 ปี) แต่ยังมีผลลัพธ์อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ คือ เมื่อดูที่พอร์ตโยนเหรียญที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่ที่สุดก็ยังให้ผลตอบแทนที่ 87.16% หรือเงิน 100 บาทจะเติบโตเป็น 187.16 บาท โดยมี CAGR ที่ 6.48% ขณะที่ %DD อยู่ที่ -36.22% จะเห็นว่าไม่มีพอร์ตใดเลยที่ให้ผลขาดทุน หากยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีนี้ โดยสิ่งที่ทำให้พอร์ตนี้ยังอยู่รอดในตลาดได้แม้จะเลือกหุ้นอย่างมั่วๆ เป็นผลมาจากการบริหารเงินลงทุน ด้วยการกระจายการลงไปในหุ้นหลายตัว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียว มีการกำหนดขนาดการลงทุนที่เหมาะสม การตัดขาดทุนและย้ายเงินไปหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆอยู่เสมอ เป็นต้น และอีกเหตุผลที่ทำให้พอร์ตนี้ยังอยู่รอดก็คือเรื่องของจิตวิทยาการลงทุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และจิตใจ มีทัศนคติการลงทุนที่ถูกต้อง มีการคาดหวังผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ การไม่มีความโลภและความกลัว และความสามารถในการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุผลได้ตลอดเวลา เป็นต้น ทำให้ถึงแม้พอร์ตนี้จะเลือกหุ้นไม่ดีเข้ามาในพอร์ตอยู่เสมอ แต่เนื่องจากพอร์ตมีการกระจายความเสี่ยงจากการถือหุ้นถึง 20 ตัว ทำให้แม้จะโชคร้ายไปซื้อหุ้นที่ขาดทุนมหาศาลก็จะไม่ส่งผลต่อพอร์ตโดยรวมมากนัก เพราะหุ้นแต่ละตัวจะมีน้ำหนักในพอร์ตคิดเป็นเพียง 5% เท่านั้น หมายความว่าหากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งราคาลดลงจนเหลือ 0 บาท หุ้นตัวนั้นก็จะสร้างความเสียหายให้แก่พอร์ตได้เพียงแค่ 5% เท่านั้น อีกทั้งพอร์ตนี้ยังมีวินัยมาก เพราะไม่ว่าผลการลงทุนจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปฏิบัติตามกฎการลงทุนอยู่เสมอ และด้วยการปรับพอร์ตทุกๆ ครึ่งปี ส่งผลให้หุ้นแย่ๆจะถูกขายทิ้งโดยอัตโนมัติ และก็เป็นการเปิดโอกาสที่จะนำเงินไปอยู่หุ้นใหม่ที่อาจให้ผลตอบแทนดีกว่า ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้อย่างสม่ำเสมอนั้น ก็คือปัจจัยเรื่องของจิตวิทยาการลงทุนที่ดี ทำให้สามารถยึดมั่นในหลักการลงทุนได้ไม่ว่าตลาดจะดีหรือแย่ก็ตาม ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้หมายความว่าวิธีการเลือกหุ้นไม่สำคัญ และผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเราควรจะมีวิธีการลงทุนที่ดี เพราะวิธีการที่ดีจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ เพียงแต่อยากจะแสดงให้เห็นว่าเรื่องของการบริหารเงินลงทุนและจิตวิทยาการลงทุนก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญเช่นกัน
* การทดลองนี้ต้องการวัดประสิทธิภาพกลยุทธ์ในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพคล่องในการซื้อขาย หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายในพอร์ตโฟลิโอจำลองนี้อาจไม่สามารถซื้อขายได้ในความเป็นจริงขนาดข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง
** ไม่แนะนำให้นำวิธีการสุ่มที่เผยแพร่ในบทความนี้ไปใช้ซื้อหุ้นในชีวิตจริง
โฆษณา