12 ก.ค. 2019 เวลา 10:49 • ไลฟ์สไตล์
หลายๆ คงเห็นจากข่าวกันแล้วใช่ไหมครับว่าในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน" ส่วนต่อขยายที่ข้ามไปฝั่งธน จะเปิดทดสอบให้พวกเราได้ไปลองนั่งกันแล้ว!
ว่าแต่เคยสงสัยกันมั้ยครับ ว่ารถไฟฟ้าสายนี้มันคือสายไหน? วิ่งไปไหนได้บ้าง? แล้วใช่อันเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดินตอนนี้หรือเปล่า?
วันนี้ Living Pop ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ว่ามันคืออะไรกันแน่ มีเส้นทางจากไหนไปไหน แล้วเมื่อเปิดบริการจะคิดค่าโดยสารเท่าไหร่ รวมไปถึงเรื่องจำนวนขบวนรถไฟที่จะมาให้บริการที่หลายๆ คนสงสัยว่าจะสามารถรับคนได้เพียงพอหรือเปล่า
ตามมาดูกันเลยครับ
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีลักษณะเป็นสายวงแหวนรอบเขตตัวเมืองกรุงเทพฯ โดยเกือบทั้งหมดจะวิ่งเกาะอยู่บนแนวถนนวงแหวนรัชดาภิเษกครับ
โดยสายสีน้ำเงินส่วนแรกเปิดให้บริการในปี 2547 ลักษณะของสายนี้ในตอนที่เปิดจะอยู่ใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นเส้นทางจาก “สถานีหัวลำโพง” ถึง “สถานีบางซื่อ” ซึ่งจะไม่ได้ผ่านเข้าเมืองตรงๆ แบบสายสีเขียว แต่ก็ยังผ่านจุดสำคัญๆ เช่นสีลม, อโศก, รัชดา, ลาดพร้าว
โดยเน้นเชื่อมโยงไปจุดต่างๆ ของเมือง และเชื่อมต่อกับทุกสายที่วิ่งเข้าเมืองครับ
ซึ่งปัจจุบันสายสีน้ำเงินเองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ครึ่งวงกลมนี้ครับ แต่กำลังสร้างส่วนต่อขยายมาด้านฝั่งธนเพิ่มเติม ให้เส้นทางเชื่อมคล้ายกับลักษณะของวงกลม แถมยังมีส่วนที่ต่อเพิ่มออกไปนอกเมืองทางด้านถนนเพชรเกษมด้วย
โดยส่วนต่อขยายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้ครับ
🚇 ส่วนต่อขยายส่วนใต้ (จากด้านหัวลำโพง)
จากสถานีหัวลำโพงไปจนถึงสถานีหลักสอง (หน้าเดอะมอลล์บางแค) จำนวนสถานีที่เพิ่มขึ้นมา 11 สถานี
ส่วนนี้มีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน 2562 และจะมีการทดสอบระบบเสมือนจริงตั้งแต่ช่วงกรกฎาคมนี้ และจะเปิดเต็มรูปแบบช่วงเดือนกันยายนครับ
ในส่วนนี้จะมีบางช่วงเป็นใต้ดิน โดยจะผ่านทางเยาวราช มาทางวังบูรพา และลอดใต้แม่น้ำผ่านถนนอิสรภาพ ก่อนที่จะขึ้นมาบนดินที่สถานีท่าพระ เป็น interchange กันกับส่วนต่อขยายที่มาจากทางจรัญฯ แต่ไม่สุดแค่นั้น สายนี้ยังวิ่งต่อไปทางถนนเพชรเกษมอีกไปจนถึงสถานีหลักสองที่หน้าเดอะมอลล์บางแคครับ
🚇 ส่วนต่อขยายส่วนเหนือ (จากด้านบางซื่อ)
แบ่งออกเป็นสองช่วง
ช่วงแรกคือจากสถานีบางซื่อถึงสถานีเตาปูน (1 สถานี) เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2560 เชื่อมต่อกับสายสีม่วง
และอีกช่วงหนึ่งคือตั้งแต่สถานีเตาปูน ไปบรรจบกับส่วนต่อขยายส่วนใต้ ที่สถานีท่าพระ จำนวนสถานี 8 สถานี ไม่รวมสถานีท่าพระครับ
ส่วนนี้มีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2563 ครับ
ดังนั้น รถไฟฟ้าสายนี้จะมีส่วนที่เป็น "ใต้ดิน" และ "ลอยฟ้า" ในสายเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของรถไฟฟ้าทั่วไป ไม่ต้องแปลกใจนะครับ
เมื่อเปิดให้บริการเต็มตลอดสายแล้ว สถานีท่าพระจะเป็นสถานีสำหรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง คล้ายๆ สถานีสยาม ใครที่นั่งมาจากฝั่งเพชรเกษม-บางแค อยากจะไปจรัญ เตาปูน สวนจตุจักร สามารถเปลี่ยนขบวนที่สถานีท่าพระได้ครับ (ระยะทางจะสั้นกว่านั่งตรงไปอ้อมเมือง)
รายละเอียดเรื่องรูปแบบการเดินรถ ลองอ่านเพิ่มเติมที่ www.livingpop.com/mrt-blue-line-extension นะครับ
ค่าโดยสารจะแพงมั้ย??
สำหรับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะคิดค่าโดยสารตามระยะทางครั้งเดียวต่อเนื่องกันทั้งสาย (ไม่ได้คิดแยกส่วนหลัก-ส่วนต่อขยายแบบ BTS)
โดยจะมีค่าโดยสารอยู่ที่ 16-42 บาทถ้าอยู่ในสายสีน้ำเงินอย่างเดียว และ 16-70 บาท ถ้าข้ามไปสายสีม่วงครับ
ส่วนใครที่นั่งไปต่อ BTS ก็จ่ายค่าโดยสารแยกกันเหมือนเดิมครับ T_T
จะมีขบวนรถไฟมาเพิ่มหรือเปล่า ปัจจุบันก็แน่น+รอนานอยู่แล้ว…
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีขบวนรถไฟให้บริการอยู่ 19 ขบวน ความยาวขบวนละ 3 ตู้ จุคนได้ขบวนละประมาณ 1,000 คนครับ
ซึ่งใครที่ใช้บริการประจำก็จะมีภาพจำว่าในชั่วโมงเร่งด่วนมักจะมีปัญหารถไฟเต็ม ต้องรอหลายขบวนกว่าจะได้เดินทาง
แน่นอนว่าเมื่อมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ก็จะต้องมีการสั่งซื้อขบวนรถไฟมาเพิ่ม โดยส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินที่กำลังจะเปิดให้บริการนั้น ได้มีการสั่งขบวนรถไฟมาเพิ่มอีก 35 ขบวน (ยาว 3 ตู้/ขบวน) เมื่อรวมกับของเก่า 19 ขบวนแล้วจะทำให้มีรถไฟให้บริการได้ถึง 54 ขบวนเลยทีเดียว
โดยขบวนแรกมาถึงไทยตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา และจะทยอยส่งมาจนครบภายในต้นปี 2563 ครับ
เร็วๆ นี้ทาง รฟม. จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเปิดทดลองให้ผู้โดยสารใช้บริการจริง เราจะติดตามมาอัปเดตให้ในโอกาสต่อไปครับ
อย่าลืมกด Follow ติดตามเพจของเราด้วยนะครับ ^^
โฆษณา