7 ส.ค. 2019 เวลา 12:16 • ธุรกิจ
Learning Visual Diary #18 : Why High Performance People use Grid Book? part2
สวัสดีครับ​ทุกท่าน​ วันนี้เรามาคุยกันต่อกับวิธีจดโน๊ต​ จากหนังสือ 'ทำไมคนทำงานเก่งที่สุดถึงใช้สมุดกราฟ'​ ของคุณทะคะฮะชิ ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่องหลักการของหนังสือไปแล้ว วันนี้ตามที่เกริ่นไว้ก็จะมาเน้นที่การประยุกต์ใช้​ละกันนะครับ
คือมัน​อย่างนี้​ครับ...
"คนเราควรเปลี่ยนวิธีใช้สมุดโน๊ต 3 ครั้งในชีวิต"
ประโยคนี้เป็นประโยคที่หนังสือยกขึ้นมาตั้งจุดสนใจให้กับเรา ตั้งแต่เด็กส่วนใหญ่​เมื่อเราเข้าสู่กระบวนการศึกษา เราเริ่มใช้สมุดโน๊ตแล้วครับ เราจดทุกอย่างที่ครูบอก (จริงๆครูเป็นคนบอกให้จด)​ เป็นการจดที่ปราศจาก​ความเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์​ เพราะเมื่อเราอายุเท่านั้น สิ่งที่เราต้องการคือการฝึกการใช้ร่างกาย สร้างความสัมพันธ์​ระหว่างประสาทส่วนต่างๆ แต่มันก็ไม่มีประโยชน์เมื่อเราโตขึ้น ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุ​ที่เราควรเปลี่ยนวิธีการอย่างน้อย 3 ครั้ง ตามลักษณะ​การเรียนรู้ของเรา
1
ครั้งที่ 1 เมื่ออายุ 13 คุณเริ่มเข้าสู่ชั้นมัธยมแล้ว คุณต้องเริ่มเปลี่ยนจากการลอกทุกอย่าง เป็นการทำความเข้าใจ เราเรียกสมุดโน๊ตแบบนี้ว่า "สมุดโน๊ตช่วยจำ"
ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 22 คุณเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งที่คุณควรทำมันมากกว่าการทำความเข้าใจแต่เป็นการคิดวิเคราะห์​ เราเรียกสมุดโน๊ตแบบนี้ว่า "สมุดโน๊ตช่วยคิด"
ครั้งที่ 3 เมื่อคุณอายุ 28 ตำแหน่งคุณเริ่มสูงขึ้น ซึ่งคุณต้องมีความสามารถในการนำเสนอและถ่ายทอด ดังนั้น เราควรเปลี่ยนมาใช้ "สมุดโน๊ตเพื่อการนำเสนอ"
ซึ่งทั้งสามแบบยังอยู่บนพื้นฐานของการบันทึก 3 ช่องอยู่ ลองมาพิจารณาแต่ละแบบครับ
2
สมุดโน๊ตช่วยจำ เป็นยังไง?
แบบแรกจะเหมาะกับใช้ในการเรียน การที่เราจะจำอะไรได้ดีติดแน่นเนี้ย มันต้องเข้าใจครับ เราจะก้าวข้ามจากการจดโน๊ตแบบจดทุกตัวได้นั้น ต้องรู้จักคำว่า "เชื่อมโยง" ลองดูว่าแต่ละส่วนของการโน๊ตมีเทคนิคยังไงครับ
1
(1) ส่วนแรกคือ ส่วนการจดเนื้อหา เวลาจดเลิกมองกระดานแล้วจดทุกอย่างลงกระดาษ ให้มองกระดานแล้วจดจำสิ่งที่จะจดแล้วค่อยจด การมองแล้วจดไปด้วย จะทำให้สมองขาดการคิดตาม กลายเป็นการฝึกเขียนเฉยๆ มันช่วยเพิ่มความชำนาญแต่ไม่ช่วยให้เราเข้าใจ
(2) ส่วนที่สอง คือ ประเด็นสำคัญที่ได้จากเนื้อหา มีอะไรที่เราฟังหรือจดแล้วรู้สึกสำคัญให้ใส่ตรงนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะมันทำให้เราคิดวิเคราะห์ และเราต้องพยายามเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เราจดทางซ้ายด้วยครับ​
(3) ส่วนที่สาม คือ พื้นที่สรุป หลังจากคิดวิเคราะห์​ซึ่งถือเป็นการแยกเรื่องสำคัญออกมาเป็นชิ้นๆ การสรุปคือการสังเคราะห์​คือ จับมันมารวมกันอีกครั้งในแบบที่เราเข้าใจ นั่นหมายถึงการเข้าถึงแก่นของเนื้อหาจนสามารถถ่ายทอดในแบบที่เราเข้าใจได้ การสรุปจับใจความเป็นทักษะที่ต้องใช้การฝึกฝนครับ แรกๆจะเหนื่อยหน่อยต้องฝึกเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อการสรุปครับ
ในการเรียนสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจ เราสามารถทำได้จากการวิเคราะห์​และสังเคราะห์​นี่แหละครับ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ได้จากการเรียนจริงๆแล้วมันผ่านการเรียบเรียงมาแล้วนะ ซึ่งตรงนี้แหละที่ต่างกับการทำงานมากเลยครับ ลองมาดูสมุดโน๊ตเล่มต่อไปกันครับ
3
สมุดโน๊ตช่วยคิด เป็นยังไง?
เนื้อหาการเรียนมันผ่านการเรียบเรียงแล้ว แต่เนื้อหาที่ได้จากการทำงานเนี่ยไม่ใช่เลยนะครับ ความยากและความต่างที่ชัดเจนของสมุดช่วยจำกับสมุดช่วยคิด คือ เป้าหมายของสมุดช่วยคิด คือ “การคัดทิ้ง” และนำไปสู่การกลั่นกรองเนื้อหาเพื่อหาคำตอบคือหัวใจ ลองดูว่าทำยังไงได้บ้างครับ
(1) เนื้อหาก็ยังแบ่งเป็น 3 ส่วนครับ แต่จะต่างหน่อยตรงที่พื้นที่ส่วนแรกเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประชุมหรือเป็น fact ส่วนที่สองจะเป็นเนื้อหาที่เราวิเคราะห์ได้ (ผ่านการกรองของเราละ) ส่วนสุดท้าย คือ การดำเนินการ ซึ่งก็คือคำตอบที่เราต้องการจากการประชุมนั่นเอง
(2) หัวใจของการคัดทิ้ง คือ ต้องเลิกคิดว่า จดๆเอาไว้ก่อน เผื่อๆเอาไว้สักวันอาจจะจำเป็นก็ได้ ทำไมเราควรเลิกนิสัยนี้ คำตอบง่ายมากครับ คือ โอกาสที่เราจะกลับมาดูมันแทบไม่มี และ มันแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ ไม่สามารถจัดระเบียบความคิดได้ครับ
(3) เทคนิคสำคัญของการคัดทิ้ง คือการถามครับ มันช่วยให้เราได้ทวนความคาดหวังกับคู่สนทนาให้ตรงกันได้ หลายๆครั้งเราก็ใช้วิธีการนี้เพื่อสรุปการประชุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันและสรุปเป็นวิธีการร่วมกันครับ
หลังจากที่เราเรียนรู้ทักษะของสมุดโน๊ตช่วยคิดแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เรากรองความคิดที่วุ่นวายในที่ประชุม (ทุกคนไม่ได้เรียบเรียงและพร้อมจะพูดและฟังในสิ่งที่ตนอยาก) เราก็จะไปเรียนรู้สมุดเล่มที่สามกันครับ
1
สมุดโน๊ตเพื่อการนำเสนอ เป็นยังไง?
คำว่านำเสนอในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำ presentation เท่านั้นครับ แต่เนื้อหาจริงๆคือการถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจในเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นจากการพูดคุย เสนอขาย เจรจาครับ หลักการการจดโน๊ตยังเหมือนเดิม แต่อาจมีเทคนิคที่เพิ่มขึ้นครับ เป้าหมายของสมุดโน๊ตเล่มนี้ คือ การถ่ายทอด ต้องคิดขนาดว่าเมื่อทำเสร็จเราสามารถตัดการจดบันทึกนี้มาลง PowerPoint ได้เลยครับ เรามาเรียนรู้คุณสมบัติ 3 ข้อที่ทำให้เราได้สมุดโน๊ตเพื่อการนำเสนอกันครับ
1
(1) เลียนแบบรูปแบบการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลักๆก็คือ การพาดหัว ใช้รูปหรือกราฟเล่าเรื่อง และมีข้อมูลเสริมด้านข้าง
(2) เริ่มจากข้อสรุป เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการสื่อสารเข้าถึงคู่สนทนาทันที การนำเสนอควรเริ่มที่ข้อสรุปเลย ก็เหมือนการพาดหัวหนังสือพิมพ์ครับ เราเอาเนื้อหาสำคัญขึ้นมาก่อนเลยแล้วข้อมูลสนับสนุนค่อยตามมา การทำเช่นนี้หมายถึงว่า เราจะเริ่มต้นด้วยความคิดที่กระจ่าง เข้าใจเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่งั้นก็เขียนสรุปไม่ได้ใช่ใหมครับ (ต้องฝึกกล้ามเนื้อการสรุปและเรียบเรียงครับ)
(3) เลือกใช้รูปภาพหรือแผนภูมิที่เหมาะสม เวลาจดเนื้อหาสิ่งสำคัญคือเนื้อหา แต่เวลานำเสนอ สิ่งสำคัญคือ เนื้อหาและความสวยงามครับ นอกจากแผนภูมิที่สวยงามจะช่วยให้ดึงความสนใจของคู่สนทนา มันยังช่วยให้เราเห็นเป็นภาพ ซึ่งช่วยให้การสื่อสารดีขึ้นมาเลยครับ คนเราจดจำเป็นภาพได้ดีกว่าอยู่แล้วละครับ (ก็เป็นเหตุที่ผมชอบการทำ visual note นะครับ ^^)
1
สมุดทั้งสาม เหมือนเป็นตัวแทนของกระบวนการเรียนรู้ของสมอง คือ จดจำ วิเคราะห์ และถ่ายทอดครับ จนถึงตอนนี้ผมยังใช้เทคนิคเขียนสามช่องในทางปฎิบัติอยู่ ผมยืนยันว่ามันช่วยให้เราเรียงความคิดได้ดี และเมื่อทำเสร็จ ก็สามารถส่งต่อให้ทีมงานได้เลยอีกตะหาก ของแบบนี้ต้องฝึกครับ และการฝึกมันก็เพิ่มทักษะส่วนตัวของเราเอง ช่วยเพิ่มพลังในการเรียนรู้ของเราเอง ถ้าสมุดโน๊ตคือสะพานเชื่อมเนื้อหากับสมอง การพัฒนาการจดโน๊ตก็คือการทำให้การเรียนรู้ราบรื่นและสามารถเก็บเนื้อหาสำคัญได้นั่นเองครับ
1
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา