15 ส.ค. 2019 เวลา 23:44 • ประวัติศาสตร์
.
พวกเขาทำเช่นนี้เป็นประจำในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้มีแนวโน้มว่าจะมากกว่าปีอื่นเสียด้วย เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 1 ศตวรรษของเหตุการณ์ที่ชาวเกาหลีทุกคนไม่มีวันลืม
.
นั่นคือ "ขบวนการซัมอิล" ซึ่งผมจะขมวดเรื่องราวของมันให้สั้นและอ่านง่ายที่สุดนะครับ...
.
หมุนเข็มนาฬิกากลับไปในห้วงประวัติศาสตร์ คาบสมุทรเกาหลีมีสถานะเป็นประเทศราชของจีนมายาวนาน การเป็นเมืองประเทศราชหรือเมืองขึ้นนั้นหมายความว่า พวกเขามีวัฒนธรรมหลายอย่างเป็นของตัวเอง เป็นต้นว่า ชาติพันธุ์ สถาบันกษัตริย์ การแต่งกาย ภาษา ตัวหนังสือ ความเชื่อ ฯลฯ แต่ตกเป็นเบี้ยล่างของชาติอื่น
.
ราชวงศ์โชซอนซึ่งปกครองเกาหลีในขณะนั้น แม้จะเก่าแก่ติดอันดับราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก (518 ปี) แท้ที่จริงก็ไม่ได้มีอำนาจมากมาย ต้องสวามิภักด์กับจีนแทบตลอดยุคสมัย
.
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าอัตลักษณ์ #ความเป็นเกาหลี ถูกกดทับไว้ด้วยสถานะประเทศราช คนหมู่มากในโลกเวลานั้นมองว่าเกาหลีไม่ใช่ชาติ แต่เป็นเพียงดินแดนในอาณัติของจีน ทำนองเดียวกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่ถูกปกครองโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนในตอนนี้
.
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นมีการปฏิรูปเมจิ ยกสถานะประเทศเป็น #จักรวรรดิญี่ปุ่น นั้น พวกเขามีความกระเหี้ยนกระหือรือ ต้องการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าเยี่ยงมหาอำนาจยุโรป หนึ่งในวิธีที่ชาวญี่ปุ่นมองว่าจะทำให้ชาติตนเกรียงไกรได้คือการแสวงหาอาณานิคม ซึ่งหวยก็มาออกที่เกาหลี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ห่างกันเพียงหนึ่งทะเลคั่น
.
เล่าแบบข้ามๆ กองทัพญี่ปุ่นตอนนั้นแข็งแกร่งมาก รบชนะทั้งจีนทั้งรัสเซียที่มีอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลี มีการลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัธ บีบคั้นให้เกาหลียอมรับการปกครองของญี่ปุ่น จากนั้นญี่ปุ่นก็เข้ามาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ของเกาหลีในปี ค.ศ.1910 เชื้อพระวงศ์เกาหลีถูกส่งตัวไปอยู่ญี่ปุ่น และเกาหลีก็ถูกผนวกโดยญี่ปุ่น
.
เราเรียกยุคสมัยนี้ว่า #ยุคอาณานิคม กินเวลาตั้งแต่ปี 1910-1945 ตลอดเวลานั้น ประเทศเกาหลีหายไปจากแผนที่โลก โดยมีฐานะเป็นดินแดนในปกครองของญี่ปุ่นแทน
.
ครั้นอยู่ภายใต้ญี่ปุ่น เกาหลีต้องเผชิญกับภาวะการถูกกลืนชาติมากมาย ในเวลานั้นญี่ปุ่นได้ออกนโยบายกดขี่เกาหลีสารพัด เช่น ล้มสถาบันกษัตริย์ที่มีมากว่า 5,000 ปี, ผลักดันให้คนญี่ปุ่นย้ายมาอยู่ในเกาหลี, ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการ และห้ามสอนภาษาเกาหลี, ให้ตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่เป็นภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายควบคุมการประท้วงและการก่อจลาจลอีกหลายฉบับ...สิ่งเหล่านี้คือระเบิดเวลาที่รอวันจะปะทุ
.
ชนวนระเบิดดังกล่าวถูกจุดขึ้นในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1919 เมื่อพระเจ้าโคจง-อดีตกษัตริย์เกาหลี เสด็จสวรรคตที่พระราชวังต๊อกซูกุงท่ามกลางข่าวลือว่าทรงถูกญี่ปุ่นวางยาพิษ ประจวบเหมาะกับสงครามโลกครั้งที่ 1 เพิ่งจบลง ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ของสหรัฐฯได้แถลงหลักการ #การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (Self-Determination) ซึ่งถ้าพูดในแง่การเมือง นี่คือหลักการที่พูดถึงการเลือกกำหนดรูปแบบการปกครองของตนเองโดยผู้คนในดินแดนนั้นๆ เป็นแนวคิดที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลก ปลุกระดมการลุกฮือของชาวอาณานิคมทั้งหลาย
.
ทั้งสองปัจจัยข้างต้น บรรดาปัญญาชนชาวเกาหลีจึงพากันรณรงค์เรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่น ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม #ขบวนการซัมอิล (삼일 운동)
.
"ซัมอิล" แปลตรงตัวว่า "3-1" หมายถึงวันที่ 1 เดือน 3 คือวันที่ชาวเกาหลีพากันประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มจากการอ่านคำประกาศเอกราชที่สวนสาธารณะทับโกลในกรุงเคโจ (โซล) ก่อนที่การประท้วงจะขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ
.
ประมาณกันว่ามีชาวเกาหลีร่วมการชุมนุมกว่า 2,000,000 คน ใน 1,500 จุดทั่วประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นได้ส่งกำลังพลเข้ากวาดล้างอย่างเฉียบขาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 7,000 คนเป็นอย่างน้อย ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมอีกนับหมื่น สิ่งปลูกสร้างถูกเผาทำลายมากมาย ถือเป็นการนองเลือดครั้งประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์เกาหลี
.
หลังจากการลุกฮือครั้งนั้น ชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่งได้หนีไปตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่เซี่ยงไฮ้ (หนึ่งในนั้นคือ 'อี ซึงมัน' ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรก) ดำเนินการเรียกร้องเอกราชต่อไป ซึ่งความพยายามของเขาเหล่านั้นก็มาสำเร็จเมื่อญี่ปุ่นปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2
.
ถึงแม้ขบวนการซัมอิลจะไม่ประสบผลสำเร็จ หากสิ่งสำคัญที่ขบวนการนี้ฝากไว้คือการจุดประกายอัตลักษณ์ของชาติเกาหลี และได้ส่งสัญญาณไปสู่ผู้รับรู้เหตุการณ์ทั่วโลกว่าพวกตนไม่ต้องการตกอยู่ใต้อำนาจเมืองแม่อีกต่อไป
.
ด้วยเหตุนี้เอง ชาวเกาหลีจึงถือเอาวันที่ 1 มีนาคม หรือวัน "ซัมอิล" นี้เป็นวันอิสรภาพ ทุกครั้งที่วันนี้เวียนมาบรรจบ เป็นต้องรำลึกถึงวีรกรรมอันเด็ดเดี่ยวครั้งนั้น
.
จากวันนั้นมาวันนี้ 100 ปีแล้ว แต่ความภาคภูมิใจที่ผู้คนแดนโสมก็ดูเหมือนจะไม่เสื่อมคลายแม้แต่น้อย...เพราะพวกเขารู้ดีว่า "อิสรภาพ" นั้น มีค่ายิ่งยวดปานใด
.
แพทริก เหล่า
1/3/2019
จาก เพื่อนแพท
โฆษณา