18 ส.ค. 2019 เวลา 10:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เครื่องบินโดยสารรุ่นแรกของโลก “อิลเลีย มูราเมียซ“ ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1
อิลเลีย มูราเมียซ เครื่องบินโดยสารลำแรกของโลห
อิลเลีย มูราเมียซ ตามชื่อวีรบุรุษในตำนานของชาวยูเครน แต่อย่างเป็นทางการแล้วเครื่องบินรุ่นนี้ใช้ชื่อว่า Sikorsky S-22 มันถูกสร้างขึ้นมาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นเครื่องบินขนาด 4 เครื่องยนต์
มูราเมียซ ปรากฏโฉมออกมาในปี 1913 ดีไซน์ของมันสำหรับยุคนั้น ต้องเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการเครื่องบินกันเลยทีเดียว เมื่อมีการพุ่งเป้าเพื่อให้มันเป็นเครื่องบินที่จะให้บริการด้านการพาณิชย์แบบหรูหรา มันจึงมีส่วนที่นั่งของผู้โดยสาร นอกจากนั้นก็ยังมีห้องน้ำบนเครื่องด้วย
เครื่องบินรุ่นนี้ออกแบบโดยอิกอร์ ซิกอร์สกี้ โดยพัฒนามาจากเครื่องบิน Sikorsky S-21 “ รุสสกี้ วิเทียซ “ หรือ Le Grand เครื่องบิน 4 เครื่องยนต์รุ่นแรกของโลกที่ก็ออกแบบโดยซิกอร์สกี้เช่นกัน ซึ่ง Sikorsky S-21 มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาการบินของรัสเซีย และอุตสาหกรรมเครื่องบินแบบหลายเครื่องยนต์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันให้โอกาสรัสเซียในการเป็นจุดกำเนิดของเครื่องบินโดยสารที่มีหลายเครื่องยนต์และบรรทุกผู้โดยสารได้หลายคน
แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น มันก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดชั้นดี ด้วยการติดระบบทิ้งระเบิดเข้าไป เรื่องนี้จึงทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ 4 เครื่องยนต์ลำแรกของโลกด้วย ซึ่งในช่วงปีแรกๆของสงคราม ปรากฏว่ามันไม่มีคู่แข่งเลย เพราะฝ่ายข้าศึกไม่มีเครื่องบินขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกับมัน จนกระทั่งในอีกหลายปีต่อมา
ซิกอร์สกี้ออกแบบและสร้าง “ อิลเลีย มูราเมียซ “ ที่โรงงาน Russo-Baltic Carriage Factory หนึ่งในโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกๆของรัสเซียที่เมืองริก้า ( ปัจจุบันคือเมืองหลวงของลัตเวีย ) เมื่อปี 1913 โดยหวังจะให้มันเป็นเครื่องบินโดยสารระดับหรู ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบินที่ผู้โดยสารจะมีส่วนของผู้โดยสารโดยเฉพาะ มีที่นั่งอย่างดี มีห้องนอน เล๊าจ์ หรือแม้กระทั่งห้องน้ำ ห้องนักบินก็กว้างขวาง ผู้โดยสารหลายคนสามารถไปนั่งดูการทำงานของนักบินได้ ลำตัวเครื่องก็เปิดได้ทั้งสองด้าน ทำให้ช่างเครื่องยนต์สามารถปีนออกไปที่ปีกเพื่อซ่อมเครื่องขณะที่เครื่องกำลังบินได้ สำหรับระบบทำความร้อนในเครื่องบินนั้น อาศัยความร้อนจากไอเสียที่ต่อท่อกลับเข้ามาในเครื่องบิน ส่วนแสงไฟฟ้าได้มาจากเครื่องปั่นไฟที่อาศัยพลังงานลม
แม้การออกแบบจะล้ำยุค แต่สำหรับระบบช่วยบินนั้น ปรากฏว่ายังเป็นแบบเดิม ไม่มีอะไรใหม่แต่อย่างใด
วันที่ 10 ธันวาคม 1913 “ อิลเลีย มูราเมียซ “ หมายเลข 107 ได้ออกบินครั้งแรก พอวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1914 มันก็ออกบินโชว์พร้อมด้วยผู้โดยสารบนเครื่อง 16 คน ซึ่งถือเป็นสถิติโลกสำหรับเรื่องของจำนวนผู้โดยสารช่วงเวลานั้น จากสถิตินี้ และอื่นๆทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 ทรงพระราชทานเครื่องราชฯ Order of St. Vladimir ชั้นที่ 4 ให้กับซิกอร์สกี้ รวมทั้งให้อภิสิทธิ์ ไม่ต้องเข้ารับราชการทหารในช่วงสงคราม เพื่อให้เขาเดินหน้าการพัฒนาเครื่องบินต่อไปได้ นอกจากนั้นยังพระราชทานชื่อ “ เคียฟสกี้ “ ให้กับเครื่องบินหมายเลข 107 ด้วย ขณะที่รัฐสภาก็เสนอจะให้เงินสนับสนุนการทำงานของเขา 100,000 รูเบิ้ล
ในการพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้ต่อ ซิกอร์สกี้ได้ทดสอบติดขาพิเศษเพื่อให้มันลงจอดบนพื้นหิมะ และในน้ำได้ด้วย ซึ่งหากไม่เกิดสงคราม มันก็คงจะได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องบินโดยสารไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซิกอร์สกี้ได้ดัดแปลงให้มันเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ที่สามารถบรรทุกระเบิดได้ 800 กิโลกรัม ติดปืน 9 กระบอกรอบตัวเพื่อใช้สำหรับการป้องกันตัว ในส่วนของเครื่องยนต์ก็ติดเกราะหนา 5 มิลลิเมตร โดยสำหรับเวอร์ชั่นการทหารในครั้งนี้ มันถูกออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับภารกิจการบินไกล
ตอนสงครามเริ่ม รัสเซียมีเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้แค่ 2 ลำ แต่ก็เร่งสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ พวกมันออกทำหน้าที่ทิ้งระเบิดครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1915 โดยเป็นการโจมตีแนวรบของเยอรมัน ฝ่ายเยอรมันไม่ค่อยอยากส่งเครื่องบินรบออกไปจัดการกับเครื่องบินทิ้งระเบิดยักษ์ลำนี้ จากเหตุผลทั้งความใหญ่โตของมัน และจากอาวุธปืนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนที่หาง รัสเซียเสียเจ้ายักษ์ลำแรกไปในการสู้รบเมื่อ 12 กันยายน 1916 และก็เป็นลำเดียวที่เสียไปในการสู้รบของสงครามครั้งนี้
ระหว่างปี 1913 – 1918 รัสเซียสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบนี้ออกมา 73 ลำ ซึ่งพวกมันก็ได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ด้านการเปิดศักราชทางด้านการบินมากมาย ทั้งการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดหนัก การจัดฝูงบินทิ้งระเบิดเพื่อเป้าหมายข้าศึก การโจมตีตอนกลางคืน การประเมินความเสียหายจากการทิ้งระเบิดด้วยภาพถ่าย นอกจากนั้นก็มีเรื่องของการพัฒ นายุทธศาสตร์ในการสู้รบกลางอากาศกับเครื่องบินขับไล่หลายลำของเครื่องบินทิ้งระเบิด และจากการพัฒนาระบบอาวุธ ทำให้ความแม่นยำในการทิ้งระเบิดสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์
รวมแล้วในสงครามโลก พวกมันออกบินกว่า 400 เที่ยว ทิ้งระเบิดไป 65 ตัน พอถึงปี 1916 หลายประเทศเริ่มผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบนี้ขึ้นมาบ้างโดยใช้มันเป็นต้นแบบ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียและซิคอร์สกี้เองก็ขายใบอนุญาตให้รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสนำไปผลิตเองได้ เยอรมันเองก็พยายามก็อปปี้มันโดยเก็บซากเครื่องบินที่ถูกยิงตกเมื่อปี 1916 ไปศึกษา
1
แต่สำหรับฝ่ายรัสเซีย มองว่าการพัฒนามันมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว การติดอาวุธ การปรับแต่งต่างๆทำให้เครื่องบินหนักเกินไป พัฒนาการของวงการอุตสากรรมการบินและโรงงานตอนนั้นก็พัฒนาไปเร็วมาก ทำให้เกิดเครื่องบินรุ่นใหม่ออกมามากมาย เครื่องบินทิ้งระเบิดของประเทศอื่น ตอนนี้ก็บินได้เร็วกว่ามันเสียอีก ซิคอร์สกี้ ก็เลยหันไปพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่แทน
หลังการปฏิวัติปี 1917 ยังคงมีการผลิตมันออกมาอีกไม่กี่ลำ โดยบางลำถูกนำมาใช้ตามเป้าประสงค์เดิมของมันคือการเป็นเครื่องบินโดยสาร “ อิลเลีย มูราเมียซ “ เวอร์ชั่นเครื่องบินโดยสารลำสุดท้ายปลดระวางไปเมื่อ 10 ตุลาคม 1922 ปีเดียวกับ “อิลเลีย มูราเมียซ “ เวอร์ชั่นทิ้งระเบิด
รวมแล้ว มีการเครื่องบินรุ่นนี้ออกมาทั้งสิ้น 85 ลำ
“Infinite development drive by Swivel”
โฆษณา