21 ส.ค. 2019 เวลา 13:52 • การศึกษา
เราไม่เรียกทิชชู่ว่า Tissue เฉยๆ ในภาษาอังกฤษ
สำหรับคนที่สนใจเรียนรู้ภาษาต่างชาติ แต่ละคนก็มีเทคนิคเฉพาะตัวหรือมีวิธีที่ได้ผลดีในการศึกษาสำหรับตัวเองแตกต่างกันไป บางคนถนัดท่องศัพท์ บางคนไม่ชอบการท่อง ก็ต้องอาศัยตัวช่วย เรียนรู้ผ่านสื่อ ผ่านหนัง ละคร เพลง หรืออื่นๆ
เวลาสมองว่าง เราชอบดูนั่นนี่ คิดไปเรื่อยเปื่อย และชอบคิดว่าจะอธิบายสิ่งที่อยู่ในหัวเราตอนนี้เป็นภาษาอังกฤษยังไง อย่างสมมติว่าอ่านบทความอะไรสักอย่างอยู่ แล้วเราจะเล่าให้เพื่อนฝรั่งฟัง เราจะพูดว่าไงดี คำศัพท์ที่ต้องใช้คืออะไร
เราพบว่าวิธีนี้ได้ผลสำหรับตัวเองเพราะเริ่มจากสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนใจ ก็จะช่วยให้เราจำได้ง่าย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีสมาร์ทโฟน มีแอพต่างๆ มีอากู๋กูเกิล มีพี่วิกิ(พีเดีย) มีพี่ยูทูบ ยิ่งช่วยให้การค้นคว้าเป็นไปได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะ
อย่างเมื่อหลายวันที่ผ่านมานี้ เราได้ดู ได้อ่านข่าวร้ายเรื่องมาเรียม พะยูนน้อยขวัญใจคนไทยต้องลากลับดาวพะยูนแบบไม่ทันให้กองเชียร์ตั้งตัว โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเศษพลาสติกที่ไปอุดตันในลำไส้ของน้อง ส่งผลให้คนไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องการใช้และกำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก มากกว่าเดิม
2
นอกเหนือจากขยะพลาสติกแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่คนใกล้ตัวเราพูดถึงกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือทิชชู่เปียก ตามข้อมูลที่ได้มา สิ่งนี้ เมื่อเป็นขยะ จะใช้เวลานานถึงร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย ฟังดูแล้วน่าสยองไม่ใช่ย่อย
ทีนี้ก็มานึกว่า เอ๊ะ ทิชชู่เปียก ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไรนะ มันไม่ใช่ Wet tissue แน่ๆ และฝรั่งเองก็ไม่เรียกกระดาษชำระ/กระดาษทิชชู่ว่า Tissue เฉยๆ แบบเราแน่นอน
ทิชชู่เปียกใช้เวลาย่อยสลายถึงร้อยปี
คำตอบคือ ฝรั่งเรียกทิชชู่เปียกว่า Wet wipes หรือ Baby wipes ค่ะ คำหลังนี่น่าจะเป็นเพราะบรรดาแม่ๆ คือผู้บริโภคกลุ่มหลักของสินค้าประเภทนี้ ส่วนกระดาษทิชชู่แบบม้วนที่เราใช้กัน เขาเรียกว่า Toilet paper หรือ Toilet roll ซึ่งฝรั่งมองว่าเอาไว้ใช้ในห้องสุขาเท่านั้น และนี่เป็นเหตุผลที่ฝรั่งหลายคนทำหน้ารับไม่ได้เมื่อเห็นกระดาษทิชชู่แบบม้วนตั้งไว้ให้ลูกค้าใช้เช็ดปากในร้านอาหารทั่วไปในบ้านเรา
ถ้าเป็นกระดาษที่ใช้เช็ดปาก ฝรั่งจะใช้อีกแบบหนึ่งค่ะ เป็นกระดาษหนาๆ แบบที่ใช้ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด และฝรั่งเรียกว่า Napkin หรือ Paper napkin นอกจากนี้ยังมีกระดาษม้วนใหญ่ๆ เนื้อหนา ซับน้ำ ซับคราบมันได้ดี แบบที่เอาไว้ใช้ในครัว เรียกว่า Paper towel บางคนก็ใช้สำหรับรองซับน้ำมันจากอาหารหรือขนมประเภททอดๆ มีน้ำมันเยอะ ซึ่งควรใช้แบบที่เขียนกำกับไว้ว่าเป็นกระดาษแบบ Food grade ที่จะไม่ปล่อยสารอะไรต่อมิอะไรใส่อาหารของเรา
5
ส่วนคำว่า Tissue paper นั้นใช้เรียกกระดาษอเนกประสงค์ที่เนื้อบางกว่า Paper towel ลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แยกแผ่นกัน จะไม่อยู่ในลักษณะม้วนค่ะ ของฝรั่งจะมีหลายสีและบางทีก็ไม่นุ่มเท่าของบ้านเรา และความที่มีหลายสี บางทีก็จะถูกนำไปใช้เป็นวัสดุงานฝีมือราคาถูก เช่น ทำดอกไม้กระดาษ อะไรพวกนี้ และถ้าใช้เช็ดผิว เช็ดหน้า ก็จะเรียกว่า Facial tissue paper หรือถ้าเป็นคนอเมริกันก็จะเรียกยี่ห้อไปเลยว่า Kleenex
1
กลับมาที่ทิชชู่เปียก ประเด็นดราม่าที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามันมีทิชชู่เปียกแบบที่ย่อยสลายได้ ซึ่งจะเขียนกำกับไว้ว่า Biodegradable และคนมักสับสนว่าเป็นอย่างเดียวกับแบบที่ทิ้งลงชักโครกได้ ซึ่งจะเขียนกำกับไว้ว่า Flushable
แต่ความจริงคือไม่ใช่อย่างเดียวกันเสมอไปค่ะ
ทิชชู่เปียกแบบ Flushable หมายถึงทิ้งลงโถส้วมได้ กดชักโครกได้ ไม่ตัน แต่ไม่ได้แปลว่าย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ถ้าต้องการใช้ทิชชู่เปียกที่ย่อยสลายได้ ก็ต้องเพ่งดูว่ามีคำว่า Biodegradable หรือไม่ แต่ทีนี้ มันก็ยังมีปัญหาตามมาอีกว่า ไอ้ทิชชู่เปียกที่มันย่อยสลายได้นี้ ย่อยแล้วจะกลายเป็นอะไร ซึ่งคำตอบก็คือจะมีส่วนหนึ่งที่สลายตัวเป็นไมโครพลาสติกค่ะ
อย่าตกใจค่ะว่าทำไมมีพลาสติกในทิชชู่ที่หน้าตาเหมือนผ้า คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ผ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีหลายประเภทที่ผสมพลาสติกค่ะ เพื่อการใช้งานที่ทนทานและคงรูปที่ดีกว่าเส้นใยธรรมชาติล้วนๆ ในทิชชู่เปียกก็มีการใช้ใยผสมพลาสติกเพื่อการอุ้มน้ำที่ดี ไม่อย่างนั้นทิชชู่จะแห้งเร็วเกินไป
1
ขณะที่เสื้อผ้านั้นเรายังใช้ซ้ำได้หลายครั้ง แต่ทิชชู่เปียกนี่คือใช้แล้วต้องทิ้งเลย เรียกว่ากลายเป็นขยะหลังใช้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที แล้วถ้าเราใช้สัก 5 แผ่นต่อวัน เดือนนึง ปีนึง เราจะสร้างขยะเท่าไหร่ คิดแล้วขนลุก
ดังนั้น ถ้ายังต้องใช้ทิชชู่เปียก ก็ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็น และทิ้งให้ถูกที่ จะดีที่สุดค่ะ.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา