23 ส.ค. 2019 เวลา 11:49 • ประวัติศาสตร์
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระราชพิธี
ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ
มาจากคำ 3 คำ คือ
อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร)
นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู)
ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา)
ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย
ในฮินดูปกรณัมปรัมปรา อนันตะ หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่
รู้จักกันในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ
เป็นผู้ที่มีเศียรหนึ่งพัน (ประดับด้วย) อัญมณีหนึ่งพันที่ส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง
คัมภีร์ปุราณะของอินเดียกล่าวว่า อนันตะอาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง 7 ชั้น
และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว
บางคัมภีร์อธิบายว่า อนันตะมีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกิ (ไทยเรียกวาสุกรี)
ซึ่งมีเจ็ดเศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ 7
อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย
เรื่องราวจากคัมภีร์ข้างต้นให้อิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทยที่เล่าสืบต่อกันมาว่า
ใต้โลกของเรามีปลาอานนท์ ซึ่งแบกโลกไว้ คราใดปลาอานนท์ขยับตัว โลกจะสั่นคลอนเกิดแผ่นดินไหว
ยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเจ็ดเศียรบันดาลให้เกิดฝน ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์
ดังนั้นพระองค์จึงควรมีเรือพระที่นั่งเป็นพญาอนันตนาคราช
สอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่า พระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในช่วงกาลดับสลายและเริ่มต้นการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 - 2394)
แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394 - 2411)
ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2453 - 2468)
และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2457
หัวเรือจำหลักรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก
ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว
กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน
เรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร
ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน
หากชอบบทความนี้ LIKE + SHARE + FOLLOW เป็นกำลังใจ
สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา