25 ส.ค. 2019 เวลา 03:34 • ท่องเที่ยว
คนมันจะไม่ดัง..
อีกหนึ่งตอนที่คัดมาจากหนังสือของคุณสมพงษ์ งามแสงรัตน์
หนังสือดีๆที่ขอชวนอ่านครับผม 😻😻😻
ในเมืองซีอาน ถ้ามีเจดีย์ห่านป่าใหญ่ของพระถังซัมจั๋งได้ แล้วทำไมจะมีเจดีย์ห่านป่าน้อยบ้างไม่ได้
.
.
ตอนที่พระถังทุกข์เวทนา เดินทางไปอาราธนาพระสูตรที่อินเดีย ท่านเกือบตายเพราะหลงอยู่ในทะเลทรายเสียหลายที
.
.
หลังอดน้ำจนสลบเหมือด ท่านฝันไปว่า มีห่านป่าใหญ่ตัวหนึ่งบินไปทิศกระโน้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น ท่านเลยเดินไปตามห่านป่า จนเจอแหล่งน้ำ หลังจากนั้น 19 ปี พอกลับจากอินเดียถึงเมืองซีอาน ท่านเลยสร้างวัดสร้างเจดีย์ แล้วให้ชื่อเจดีย์นั้นว่า “ห่านป่าใหญ่” หรือต้าเอี้ยนถ่า เพื่อระลึกถึงห่านที่เคยช่วยชีวิตครั้งกระโน้น
.
.
สมัยนั้นในเมืองซีอาน ยังมีเด็กอีกคน แกชื่ออี้จิง ตอน 10 ขวบ ข่าวเรื่องพระถังซัมจั๋งอาราธนาพระไตรปิฎกกลับมายังเมืองซีอานครึกโครมเต็มสองหู เวลานั้นแกฝันว่า ให้โตกว่านี้หน่อยเถอะ อั๊วจะขอดังมั่ง
.
.
เด็กชายอี้จิง เมื่อโตขึ้น บวชเป็นพระ พออายุ 36 ท่านลงเรือเปอร์เซียล่องลงใต้ไปตามเส้นทางสายไหมทางทะเล ถึงฟิลิปินส์ เกาะสุมาตรา ผ่านช่องแคบมะละกา แล้วไปออกศรีลังกา จบที่อินเดีย รวมเวลาที่ท่านอยู่นอกเมืองจีน 24 ปี กับ 30 กว่าประเทศที่แวะผ่าน
.
.
พอกลับถึงซีอาน ท่านขนพระสูตรติดมือมาด้วย 400 เล่ม เจดีย์ที่ท่านสู้หลังขดหลังแข็งนั่งแปลพระสูตร คนเขาเรียกเลียนเจดีย์ห่านป่าใหญ่ของพระถังว่า “เจดีย์ห่านป่าน้อย” หรือเสี่ยวเอี้ยนถ่า ถึงท่านจะไม่โด่งดังแบบพระถัง แต่ที่เราเรียกกันว่าเส้นทางสายไหมทางทะเลนั้น คนคนนี้แหละเป็นผู้บุกเบิก
.
.
ใครไปซีอาน ต้องไปดูเจดีย์ห่านป่าใหญ่ของพระถังท่านแน่ แต่ผมกลับชอบเจดีย์ห่านป่าน้อยของท่านอี้จิงมากกว่าแฮะ นอกจากไม่เสียค่าเข้า อันนี้ธรรมชาติงดงามร่มรื่น ขรึมขลัง ไม่มีตบมือขายของ
.
.
สมัยที่สร้างในปี 707 เจดีย์ห่านป่าน้อยมี 15 ชั้น พอแผ่นดินไหว สองชั้นบนร่วงลงมา ตอนนี้เลยเหลือ 13 ชั้น รูปทรงมองเผินๆ ก็คล้ายเจดีย์ห่านป่าใหญ่นั่นแหละ เมื่อหลายปีก่อนเคยปีนขึ้นไปดูถึงดาดฟ้า แต่เดี๋ยวนี้ปิดเสียแล้ว
.
.
คนมีดี อย่างไงซะก็ดีไม่มีสูญ แต่ถ้าตามหลังคนดังก็จะงี้แหละ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เอ้า !! ตีปี๊บเชียร์ท่านหน่อย..
*เรื่องนี้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า เจดีย์ห่านป่าน้อยคืออะไร สำหรับท่านที่กรุณาซื้อหนังสือ “จีนเตาะแตะ กับเรื่องเล่าตะตะ” ของผมไป แหะๆ..มีแฝงๆ
ภาพประกอบจากหนังสือ จีนเตาะแตะ กับ เรื่องเล่าตุตะ โดย สมพงษ์ งามแสงรัตน์
โฆษณา