26 ส.ค. 2019 เวลา 14:43 • การศึกษา
"นำบัตรกดเงินสดไปถอนเงิน พอถูกทวงจะอ้างว่าไม่มีสัญญากู้ ไม่ต้องใช้เงินได้หรือไม่ ?"
เรื่องการกู้ยืมเงินนั้นมักจะมีปัญหาแปลก ๆ มาให้เราได้พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ
Cr. pixabay
อย่างที่แอดมินได้เคยเขียนไว้หลายครั้งแล้วว่า การกู้ยืมเงินนั้นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
ทีนี้ ก็มีลูกหนี้หัวหมอบางราย ซึ่งอาจจะพอมีความรู้ด้านกฎหมายอยู่บ้าง
ประกอบกับอาศัยความหนาของใบหน้า ในเวลาที่เจ้าหนี้มาทวงถามให้ชำระหนี้ เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าว
โดยอ้างว่า การใช้บัตรกดเงินสดเพื่อนำเงินสดมาใช้นั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้กู้มาแสดง
เจ้าหนี้พอได้ยินก็ถึงกับอึ้ง เพราะไม่คิดว่าคุณลูกหนี้ที่เคารพ จะคิดได้ขนาดนี้
ที่คิดได้น่ะไม่เท่าไหร่ แต่ต้องอาศัยความใจกล้า หน้า... ขนาดไหน ถึงคิดข้ออ้างนี้ขึ้นมาได้
แต่เจ้าหนี้มีเหรอจะถอดใจง่าย ๆ
เอ็งมวยวัดมา แต่ข้ามวยอาชีพ
จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลให้ชำระหนี้ซะให้เข็ด ลองดูซิว่าศาลท่านจะตัดสินออกมายังไง
โดยเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ชำระเงินจำนวน 318,933.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 249,337.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย (อ้าว...ไหงเป็นอย่างนี้ 😂😂😂)
โจทก์อุทธรณ์และเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยจึงยื่นฎีกา ส่วนศาลฎีกาท่านจะตัดสินออกมายังไง เรามาดูกันครับ
การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเองทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป
Cr. pixabay
การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9
ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8089/2556)
📌 สรุปว่า การใช้บัตรกดเงินสดไปถอนเงินจากตู้กดเงิน ถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้กู้แล้ว เพราะตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ได้บอกไว้ชัดเจนว่า
ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
โดยรหัสส่วนตัวที่ใช้สำหรับกดเงินเปรียบเสมือนเป็นการลงลายมือชื่อแล้ว
งานนี้คงได้แต่รอดูว่า จะมีข้ออ้างอะไรใหม่ ๆ มาให้เจ้าหนี้ปวดหัวเล่นอีก
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา