27 ส.ค. 2019 เวลา 08:04 • ไลฟ์สไตล์
The Environmental Crisis วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก
ย้อนหลัง 20 ปี ในประเทศไทยเอง เห็นได้ชัดว่าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมาก
ถ้าจะพูดถึง ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ทุกอย่างเชื่อมโยงกันและให้พูดทั้งวันก็คงไม่หมด สำหรับบทความ The Environmental crisis นี้ เราจะพูดถึงอยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ ที่ดูแล้วส่งผลกระทบชัดเจนที่สุด คือ
Climate change / Global warming
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ โลกร้อน
Plastic pollution
มลพิษขยะพลาสติก
โดยเราจะไม่เน้นคำถามที่ว่ามันคืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่เราน่าจะรู้กันอยู่แล้ว และที่สำคัญ ณ จุดนี้คำถามที่สำคัญที่สุดคือ "เราจะใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างไร โดยทำลายโลกให้น้อยที่สุด และรักษาโลกให้มากที่สุด โดยที่ไม่กระทบต่อความสุขการใช้ชีวิตของเรามากเกินไป "
The Environmental Crisis วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก
Ep1 ปัญหา " เรารู้ว่าอะไรควรทำ แต่ทำไมไม่ทำ ??"
1.การเปลี่ยน.. ความสะดวกสบายลดลง ยุ่งยากมากขึ้น
แน่นอนมันต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่เราจะเปลี่ยนอย่างไรให้มันยั่งยืน มันไม่ใช่แค่การทำอะไรสักอย่างเพื่อโลก แต่เราต้องเปลี่ยน ..
มั่นใจว่าทุกคนอยากช่วยโลก อยากทำอะไรให้มันดีขึ้น แต่ปัญหามันคือ
"การเปลี่ยน" เรามองว่ามันมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ยุ่งยาก เสียเวลา และที่สำคัญเราถอยตั้งแต่ยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ
ลองนึกภาพว่า ให้ตัวเองพกแก้วน้ำติดตัวตลอด ไปเที่ยว ไปทำงาน พกใส่กระเป๋าไว้เลย เวลาไปซื้อเครื่องดื่ม คือยื่นแก้วให้เขา ไม่รับหลอด ไม่รับถุง
แน่นอน.. มันคือการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ปกติก็ไปตัวเปล่า สั่งของและได้เครื่องดื่มมา ใส่แก้วพลาสติกใส พร้อมหลอด หรือบางร้านอาจแถมถุงพลาสติกหิ้วมาให้ด้วย
จินตนาการอีกว่านอกจากแก้วแล้วยังต้องพก ช้อนส้อมตะเกียบเอาไว้ใช้เอง เวลาไปซื้ออาหารใส่กล่องมา ก็ปฏิเสธไม่รับช้อนส้อมพลาสติก
แน่นอน.. มันยุ่งยาก จากที่ออกบ้านแต่ละครั้งก็พกแค่กระเป๋าใบเล็ก ๆ ใส่แค่กระเป๋าตังค์ โทรศัพท์ แต่นี้ต้องเปลี่ยน ใช้กระเป๋าใบใหญ่ขึ้นเพื่อพกแก้ว ช้อนส้อม หรืออาจมีถุงผ้าเอาไว้ใส่ของ กรณีที่เราไม่รับถุงพลาสติก
ลองจินตนาการดูแล้ว ถึงเราอยากให้คนทำตามที่เราบอกมากแค่ไหน แต่เราก็ "เข้าใจ" ว่ามันยุ่งยาก แต่ลองมองอีกมุมหนึ่ง เราเสียเวลา ยุ่งยาก ลำบากมากขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับการที่เราได้ช่วยสิ่งมีชีวิตนับล้านตัวในทะเล ฉลาม วาฬ โลมา เต่า หรือแม้แต่พะยูน "มันคุ้มค่า"
"แก้วพลาสติกที่เราทิ้งวันนี้ วันหน้ามันอาจจะอยู่ในท้องปลาวาฬสักตัวก็ได้"
"ถุงพลาสติกที่เราทิ้งในวันนี้ วันหน้ามันอาจจะครอบจมูก ครอบหัวเต่าจนมันขาดอากาศหายใจตายก็ได้"
"น้ำที่เราใช้วันนี้ มันอาจจะมีไมโครพลาสติกจากขยะที่เราเคยทิ้งปะปนอยู่ก็เป็นได้"
เราเคยเปลี่ยนแปลงอะไรตั้งมากมาย จะเปลี่ยนเพื่อสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราไม่ได้หรือ
ไม่มีโลก ก็ไม่มีชีวิต ไม่มีชีวิต ทุกอย่างที่ทำมา "ไร้ความหมาย" .
2. ความกล้า.. เราต้องแสดงจุดยืนของเราให้ชัดเจนมากพอ
ปัญหานี้โดยส่วนตัวก็เจอ เราอาจจะมองว่ามันไม่ใช่ปัญหา อะไรที่เราคิดว่าดีก็ทำไป ไม่ต้องสนใจใคร
ความจริงคือต้องยอมรับว่า "คนรักโลกมีเยอะ แต่คนที่จะลุกขึ้นทำอะไรเพื่อโลก ยังมีไม่มากพอ"
เราต้องเจอกับคำถามว่าทำอะไร ทำเพื่ออะไร หรือบางครั้ง หลายคนก็พูดถึงสิ่งที่เราทำบ่อยๆ จนกลายเป็นความรู้สึกว่าเราดูแปลกประหลาด หลายคนไม่ทำกัน เราต้องตอบคำถามพวกนั้นบ่อยมาก ท่ามกลางสายตนคนที่ไม่เข้าใจ
เราต้องปฏิเสธถุงพลาสติก ขณะที่ร้านค้าแทบจะยัดเยียดซ้อนถุงพลาสติกให้เราหลาย ๆ ชั้น
เราต้องเก็บรวบรวมถุงพลาสติกไว้บริจาคทำถนน ไม่กล้าทิ้ง กรณีที่เราจำเป็นต้องรับถุงพลาสติกมาจริง ๆ ขณะที่ใครหลายคนมองว่ามันเป็นขยะ ทำไมเราถึงไม่ทิ้ง ( ณ ปัจจุบัน จินตนาการทุกครั้งว่าถุงพลาสติกที่ทิ้งไป สักวันมันอาจต้องอยู่ในท้องเต่าแน่ ๆ เลย )
เราต้องล้างกล่องนมบริจาคทำหลังคาเขียว ขณะที่คนอื่นกินเสร็จก็ทิ้งเลย
เราต้องทำอะไรที่ไม่เข้าพวกอีกหลาย ๆอย่าง และสิ่งที่ตามมาคือ การตอบคำถาม สายตาจากคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ
โดยส่วนตัว เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ถ้าถามว่าวิธีแก้ปัญหาคืออะไร " คือการแสดงจุดยืนของเราชัดเจนไปเลย " ใครถามอะไรก็ตอบ กล้าที่จะดูแตกต่าง หากเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง
ณ ตอนนี้ ใครหลายคนรอบข้างเรา เพื่อนเรา คนที่ทำงาน ต่างก็ชัดเจนกันหมดแล้วว่าเรารักโลกขนาดไหน ทุกอย่างที่เราพูด หรือทำลงไป คนรอบข้างจะค่อนข้างเข้าใจ และปล่อยเราไป
จริง ๆ ส่วนตัวลึก ๆ ก็หวังว่าสิ่งที่ทำอยู่ สิ่งที่พูดอยู่ทุกวันนี้ จะช่วยเปลี่ยน ช่วยให้เขาตระหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นตัวอย่างให้เขาลองเปลี่ยนอะไรบ้าง แต่เราก็ไม่ได้โฟกัสตรงนั้นเท่าไร สิ่งสำคัญคือ "ไม่ว่าใครจะคิด จะทำหรือไม่ทำ เราก็จะทำของเราอยู่อย่างนี้"
3. ความท้อแท้.. ทำไปแล้วได้อะไร
ท่ามกลางสถานการณ์โลกร้อนที่มันเลวร้ายลงทุกวัน ข่าวสัตว์ในทะเลกินถุงพลาสติกตาย และล่าสุดไฟไหม้ป่าอเมซอน
แน่นอน มันต้องเกิดคำถามว่า ทำไปแล้วได้อะไร คุ้มไหมกับการที่ฉันต้องมาเสียเวลาแยกขยะ ล้างกล่องนม เก็บถุงพลาสติก หลอดนม ฝาขวดน้ำส่งบริจาค เหตุผลก็เพราะไม่กล้าทิ้ง กลัวมันเป็นขยะในทะเล
ยอมรับว่า ส่วนตัวเคยคิดว่า จริง ๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้เลย ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นก็ได้ จะใช้ จะทิ้ง จะทำอะไรไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบ
แต่.. มันไม่สำคัญว่าทำไปแล้วเราได้อะไร ถามตัวเองว่า ถ้าไม่ทำวันนี้จะเสียใจไหมถ้าวันนี้เราทิ้งถุงพลาสติก วันหน้าเราจะเสียใจหรือเปล่า
อย่างน้อย ถ้ามีเต่าสักตัวตายเพราะกินถุงพลาสติก เราก็ไม่ใช่ฆาตกร ฆ่าเต่าตัวนั้น
ครั้งแรก เราอาจจะรู้สึกว่า มันจำเป็นต้องทำ แต่วันหนึ่งเมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นเรื่องที่เรา "อยากทำ" มันจะกลายเป็นวิถีชีวิตเรา ที่เราต้องทำแบบนี้ ที่เราต้องพกแก้วน้ำ ที่เราต้องพกถุงผ้า ที่เราจะปฏิเสธถุงพลาสติกทุกครั้งที่ซื้อของ
ถ้าเต่าทะเล ปลาวาฬ ฉลาม โลมา หรือสัตว์อีกนับล้าน ๆตัว พูดได้ มันก็จะขอบคุณเรานับพันครั้งที่ไม่ทำร้ายพวกมัน ไม่ทำลายที่อยู่อาศัย ไม่เอาสิ่งแปลกปลอมไปให้มันกิน
การรณรงค์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่การพูด แต่คือการเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น เขาจะรับรู้เข้าใจ ผ่านการกระทำ ผ่านการบอกเล่า
ผลลัพธ์ไม่ใช่ขึ้นอยู่ที่ว่า โลกเราจะดีขึ้น หรือ สัตว์ในทะเลจะตายเพราะขยะพลาสติกลดลง แต่
"ผลลัพธ์มันคือการที่เราอยากทำและเราได้ทำ"
"ผลลัพธ์มันคือการที่เราอยากช่วยโลก และเราได้ช่วย"
ภาพจาก facebook Prinya Thaewanarumitkul อาจารย์ด้านกฏหมาย ม. ธรรมศาสตร์ เป็นคนที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เน้นลงมือทำ เป็นตัวอย่างที่ดี ถือเป็นไอดอลเราอีกคนหนึ่งเลย
ปัญหาทั้ง 3 ข้อนี้ ไม่ได้เอามาจากหนังสือ หรือแหล่งข้อมูลที่ไหน แต่เกิดจากการเรียนรู้ เข้าใจตัวเอง และคนรอบข้าง
ถึงเราอยากจะให้เขาเปลี่่ยนมากแค่ไหน สักเล็กน้อยก็ดี แต่เราก็ต้องเข้าใจ
" เราเคยผ่านจุดที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อโลกมาก่อน เราเคยทำอะไรโดยที่ไม่สนใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนอย่างที่เขาทำ "
เพราะฉะนั้น ...
" การที่จะให้เขาเป็นอย่างที่เราเป็น มันก็ไม่ง่าย เหมือนกับที่ กว่าเราจะทำได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ มันก็ไม่ง่าย เหมือนกัน "
อย่างไรก็ตาม เราขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่ลุกขึ้น เปลี่ยนแปลงทำอะไรเพื่อโลก เรามาช่วยโลกไปด้วยกัน
" โลกเราจะรอดก็ต่อเมื่อ เราต้องทำเหมือนกับว่าโลกเราอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ"
" ณ วันหนึ่ง เราจะรู้ว่า ใบไม้ มีค่ามากกว่าเงิน "
ติดตามเป็นกำลังใจ กดไลค์ กดดาว ครั้งหน้าเราจะมาต่อเรื่อง เราจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดโลกร้อนได้อย่างไร ( ฉบับคนทำจริง ที่ไม่อิงแค่ตำรา และเอามาเล่า )
โฆษณา