30 ส.ค. 2019 เวลา 04:00
บันทึกที่จะหยิบขึ้นมาอีกครั้งเมื่อจะเขียนหนังสือให้ลูก
ถ้าวันนึงผมมีลูก ผมคิดว่าจะลองเขียนหนังสือให้ลูกอ่าน
ความคิดนี้เกิดขึ้นตอนนที่ผมอ่านบทความ “9 หนังสือเด็กโดยนักเขียนเบอร์ใหญ่” ของ The Matter
Cr.Fatherly.com
ในบทความพูดถึงนักเขียนรุ่นใหญ่ที่ปกติเขียนแต่เรื่องหนักๆมาลองเขียนหนังสือเด็กเพราะพวกหนูๆขอร้อง
.
อย่างเช่น Salman Rushdie เขียน “Haroun and the Sea of Stories” ก็เพราะลูกชายมาบอกว่าทำไมพ่อไม่ลองเขียนงานให้เด็กๆอ่านบ้าง
.
หรือ Leo Tolstoy ก็เขียน “Azbuka” ที่เป็นหนังสือสอนการอ่าน การเขียน การนับให้กับเด็กๆ
ถือว่าเสียงเรียกร้องของหนูๆมีพลังไม่เบาเลยทีเดียว นอกจากนี้นักอ่านเด็กยังมีแรงซื้อมากกว่าที่เราคิด พวกเขาไม่จำเป็นต้องลังเลว่ามีงบซื้อหนังสือเท่าไหร่ ถ้าชอบเล่มไหนก็หยิบจากชั้นแล้วขอให้พ่อแม่ซื้อให้ก็พอแล้ว
เด็กก็เหมือนกับแมวแหละ พออ้อนหน่อยเราก็ต้องยอม
แล้วหนังสือเด็กเนี่ย มันเขียนกันง่ายกว่านิยายผู้ใหญ่รึเปล่า โดยปกติวรรณกรรมเด็กจะมีขนาดบางกว่า แต่ความบางก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเขียนได้ง่ายกว่า
เพราะนักเขียนจะต้องนำเสนอสิ่งที่ต้องการสื่อลงไป….ด้วยจำนวนหน้าที่น้อยกว่า
ผมหาข้อมูลเพิ่มนิดหน่อย บังเอิญไปเจอบทความใน Reedsy.com พบว่าการจะเขียนหนังสือเด็กมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด
สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ จะเขียนให้เด็กวัยไหนอ่าน เพราะหนังสือเด็กหนึ่งเล่มไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกช่วงอายุ
อย่างหนังสือภาพเหมาะกับเด็กอายุ 5-7 ปี ภาพมีความสำคัญพอๆกับเนื้อเรื่อง มันเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่เริ่มหัดอ่าน จำนวนคำมีน้อย แค่ประมาณ 500 คำหรือต่ำกว่า 1,000 คำ
Cr.Reedsy.com
เด็กอายุ 6-10 ปีที่ผ่านการอ่านหนังสือภาพมาซักพักก็อาจจะลองอ่านนิทานหรือนิยายขนาดสั้น จำนวนคำตั้งแต่ 2,000-5,000 คำกำลังพอเหมาะ แต่ภาพประกอบก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการอ่านสำหรับเด็กกลุ่มนี้
เด็กอายุ 8-12 ปีที่หมกมุ่นกับการอ่านก็อาจจะลองนิยายที่มีจำนวนคำตั้งแต่ 30,000-50,000 คำ หนังสือที่เด่นในกลุ่มนี้ก็อย่างเช่นนิยายของ Roald Dahl ภาพประกอบในหนังสือกลุ่มนี้จะน้อยกว่าสองกลุ่มแรกมาก
Cr.Reedsy.com
ส่วนเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปก็น่าจะเริ่มสนุกไปกับนิยาย Young Adult ที่เริ่มมีให้อ่านเยอะขึ้น มันเป็นหนังสือที่อยู่ระหว่างนิยายเด็กกับนิยายผู้ใหญ่ จำนวนคำตั้งแต่ 50,000-100,000 คำ หนังสือกลุ่มนี้จะเล็งไปที่เด็กที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เนื้อหาอาจจะไม่ใช่แนวผจญภัยเหมือนหนังสือเด็กวัยแรกๆ แต่จะเป็นเรื่องราวของตัวเอกที่พยายามหาทางออกจากปัญหา อย่างเช่น The Hunger Games
เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะเขียนให้กับเด็กวัยไหน สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ตัวละครที่น่าจดจำ มันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการที่จะเป็นหนังสือเด็กขายดี
Jenny Bowman บรรณาธิการหนังสือเด็กบอกว่ามีกฎทองกฎหนึ่งในการสร้างตัวละครนั่นคือ
เด็กๆต้องการอ่านเรื่องราวของเด็กที่โตกว่าพวกเขานิดหน่อย
สมมติถ้าตัวเอกมีอายุ 11 ปี (อย่างเช่น Harry Potter) ก็จะดึงดูดนักอ่านอายุ 9 ปี
กฎนี้ยังใช้ได้แทบทุกกรณีและยังยากที่จะถูกทำลาย
Brian Saliba ซึ่งก็เป็นบรรณาธิการหนังสือเด็กเสริมอีกว่า เด็กมักมีอารมณ์ร่วมกับตัวละคร ดังนั้นนักเขียนจึงควรสร้างตัวละครที่สามารถเชื่อมโยงถึงตัวเด็กได้ (อย่างเจ้าหนู Tom Sawyer ที่ตอนหนึ่งโดนป้าทำโทษทั้งที่ไม่ได้ทำผิดก็อาจทำให้เด็กคนหนึ่งเจ็บปวดได้เพราะเขาเคยผ่านประสบการณ์แบบนั้น)
แต่ความเชื่อมโยงก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหมือนชีวิตจริงซะทีเดียว เขาแนะนำให้นักเขียนก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมๆ สมมติถ้าคุณจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่โตขึ้นอยากเป็นหมอ ลองคิดเพิ่มเข้าไปอีกว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเด็กคนนั้นเป็นหุ่นยนต์
ทีนี้ก็มากันที่เนื้อเรื่อง
Anna Bowles บรรณาธิการหนังสือเด็ก (อีกแล้ว) บอกว่า นักเขียนส่วนใหญ่มักลืมไปว่า นิยายเด็กมีไว้สำหรับเด็ก นักเขียนมือใหม่มักจะเขียนหนังสือเด็กในมุมมองที่ผู้ใหญ่มองเด็ก คิดว่าควรเขียนให้เด็กในเรื่องมีความน่ารักและตลกบ้างเล็กน้อย
แต่ความจริงแล้วพวกเขาต้องการเรื่องราวที่ตนเองเป็นฮีโร่ พวกเขาอยากที่จะเป็นคนขับเคลื่อนเหตุการณ์ พวกเขาต้องการเผชิญหน้ากับความท้าทายและทำการตัดสินใจ
ธีมของหนังสือจึงเป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อนักอ่านวัยเยาว์ ควรถามตัวเองว่า
.
ทำไมคุณถึงเขียนหนังสือเล่มนี้
.
คุณต้องการให้หนังสือเล่มนี้สอนอะไรเด็กๆ
.
อะไรคือสิ่งที่ตัวละครได้เรียนรู้ในตอนจบ
ในเรื่อง The Bomb and the General ของ Umberto Eco เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอนุภาคที่อยู่ในปรมาณู แต่เหล่าอนุภาคไม่อยากทำร้ายคนเลยแอบหนีออกจากระเบิด วันที่ระเบิดถูกทิ้งก็เลยไม่มีอานุภาพใดๆทั้งสิ้น มนุษย์ก็เลยยุติสงคราม
สิ่งที่ Eco ต้องการสอนก็คือ สันติภาพ
ส่วนใน Charlotte’s Web ตัวละคร Wilbur ได้เรียนรู้เรื่องความเป็นเพื่อน และ Faith Sunderly ในเรื่อง The Lie Tree ก็ค้นพบธรรมชาติของความจริง
Bowles เสริมเรื่องธีมอีกเล็กน้อย เธอบอกว่าคุณสามารถพาเรื่องไปได้เกือบทุกที่แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านักอ่านของคุณเป็นนักอ่านรุ่นเล็ก คุณจะเขียนเรื่องราวการทรยศก็ได้ แต่ควรเป็นการหักหลังของเพื่อนรัก ไม่ใช่เรื่องของสามีที่ไม่ซื่อสัตย์
และเรื่องราวของคุณควรมีแค่ธีมเดียวเท่านั้น
แล้วควรเล่าเรื่องแบบไหน ก็เล่าแบบที่เราถนัดแต่ต้องพัฒนาแนวทางนั้นจนเฉียบคม
เราสามารถศึกษาจากนักเขียนรุ่นก่อนอย่างเช่น Roald Dahl จากนั้นก็ทำสิ่งที่ศิลปินชอบใช้คือ “ขโมย” เทคนิคต่างๆแล้วนำมาปรับให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง
อันที่จริงที่ควรให้ความสำคัญก่อนคือธีมที่จะเล่า ถ้าเลือกธีมเหมาะกับช่วงอายุก็สามารถทำให้เด็กสนุกกับการอ่านได้
แต่มันก็มีวิธีเล่าที่เหมาะกับเด็กอยู่ ดังนั้นเราต้องศึกษาและพยายามนึกถึงเสียงการเล่านั้นทุกครั้งที่ทำการเขียน
ข้อควรระวังในการเล่าเรื่องคือ คำศัพท์
คุณสามารถโชว์คลังคำศัพท์ที่มากมายของคุณได้ทุกที่ แต่ต้องไม่ใช่ที่หนังสือเด็ก จำไว้เสมอว่าคำศัพท์ที่เด็กๆใช้ในทุกๆวันนั้นต่างจากของเรา เราไม่ควรใช้คำศัพท์หรูหราที่โชว์ว่าเรารู้มากกว่าเด็ก
คำศัพท์ง่ายๆบวกกับบริบทก็เพียงพอที่เด็กจะทำความเข้าใจเรื่องราวที่คุณเล่า
แล้วเพลงล่ะ ควรจะแต่งเนื้อเพลงเพิ่มเข้าไปเหมือนในการ์ตูนดิสนีย์ด้วยมั้ย
ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำได้ดีขนาดไหน มันอาจจะทำให้เนื้อเรื่องสนุกขึ้น แต่ถ้าทำได้ไม่ดีพอมันก็สามารถทำลายเรื่องของคุณได้เช่นกัน
Judith Paskin บรรณาธิการหนังสือเด็ก (บ.ก. เต็มไปหมดเลย) กล่าวว่าบางครั้งตัวละครในหัวก็มักต้องการที่จะร้องเพลง เธอเองก็มีประสบการณ์แบบนี้ตอนที่เขียนหนังสือเด็กเล่มหนึ่งและไม่สามารถหยุดเจ้าตัวนั้นให้เลิกร้องเพลงได้ เธอจึงแนะนำว่าถ้าไม่สามารถหยุดให้มันร้องเพลงได้ คุณก็ต้องทำการแคสติ้งมันหน่อย และมันต้องทำให้ได้เพอร์เฟ็คด้วย
Cr.Reedsy.com
สิ่งสุดท้ายที่เป็นตัวบอกความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเด็กและวรรณกรรมผู้ใหญ่ก็คือ ภาพประกอบ
ภาพที่สวยงามจะเป็นตัวดึงดูดนักอ่านรุ่นเล็กทั้งหลาย ฉะนั้นเมื่อทุ่มเทเขียนเรื่องราวเต็มที่แล้วก็ไม่ควรที่จะลืมให้ความสำคัญกับภาพประกอบ ถ้าคุณเลือกที่จะพิมพ์หนังสือเองก็ต้องใส่ใจกับการเลือกนักวาด
Cr.creativebloq.com
Cr.publishingperspectives.com
Cr.willterry.blogspot.com
คุณต้องขอดูพอร์ตฟอลิโอของเขา นักวาดแต่ละคนมีสไตล์ของตัวเอง เลือกคนที่เหมาะกับเรื่องราวของคุณ
คุณต้องถามคำถามกับเขา นักออกแบบชอบที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับงานของพวกเขาอยู่แล้ว ลองถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ กระบวนการทำงานออกแบบ หรือไม่ก็วิธีร่วมงานกัน
และต้องไม่ลืมดูงบประมาณของคุณด้วย กำหนดงบให้เรียบร้อยก่อนออกไปคุย ค่าจ้างนักออกแบบมีหลายราคา คุณควรต้องทำให้แน่ใจว่าเขาจะให้สิ่งที่คุณต้องการได้และคุณมีเงินพอจ่ายให้กับสิ่งที่คุณต้องการ
แล้วเราจำเป็นต้องมีบรรณาธิการมั้ย
ถ้าถามใน Reedsy.com ที่ผมอ่านมาก็ต้องแนะนำว่าควรมี ถึงจะเขียนแค่ 1,000 คำก็ควรมีเพราะอย่างคำแนะนำที่ผ่านมาก็พบว่าพวกเขาสามารถเห็นจุดที่เรามองข้ามได้
แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ลองเอาให้เพื่อนอ่าน คนในครอบครัวอ่าน หรือไม่ก็ลองขอคำปรึกษาในกลุ่มนักเขียนหนังสือเด็ก
วิธีที่ได้ผลเร็วกว่านั้นคือ เอาให้เด็กๆอ่าน เด็กไม่โกหกอยู่แล้ว นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ
ดังนั้นลองเอาหนังสือให้พวกเขาอ่าน
แล้วคุณจะได้ฟีดแบ็กแบบซื่อสัตย์โดยที่ไม่ทันตั้งตัว
ข้อมูลอ้างอิง :
โฆษณา