31 ส.ค. 2019 เวลา 09:48 • ธุรกิจ
FIRE MOVEMENT แนวคิดเคลื่อนที่อย่าง Fire
จุดเปลี่ยนของอารยะธรรมของมวลมนุษยชาติใหญ่ๆในประวัติศาสตร์มีอยู่ 4 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือเมื่อมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ค้นพบวิธีการจุดไฟได้ พวกเขาได้ใช้ไฟในการปรุงอาหาร ทำให้เคี้ยวง่ายขึ้นย่อยง่ายขึ้น
ครั้งที่สอง คือ ค.ศ.1830 เมื่อ “จอร์จ สตีเฟนสัน” ได้สร้างรถไฟสายแรกได้สำเร็จ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการคมนาคมครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งทำให้เขาได้รับฉายาว่าบิดาแห่งรถไฟ
ครั้งที่สาม คือ ค.ศ. 1879 เป็นวันที่หลอดไฟหลอดแรกโดยฝีมือของ โธมัส อัลวา เอดิสัน ถูกเปิดให้สว่างขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหลอดไฟฟ้าคือการก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์ชาติขนาดไหน
และครั้งที่ 4 คือปัจจุบัน เมื่อมนุษย์ค้นพบ Fire Movement ที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกตลอดไป มันคืออะไร มาดูกันได้เลยครับ
บนโลกนี้มีแนวคิดการใช้ชีวิตที่หลากหลายมาก และผมก็พึ่งเคยได้ยินแนวคิด Fire Movement ไม่นานมานี้ ซึ่งย่อมาจาก Financial Independence, Retire Early หรือการมุ่งเข้าสู่อิสรภาพทางการเงินและเน้นเกษียณให้เร็วที่สุด หากจะอธิบายให้เห็นภาพ คือการสร้างเน้นสร้างตัวให้เร็วที่สุด และกดค่าใช้จ่ายในชีวิตให้ต่ำที่สุดเพื่อที่จะได้เป็นอิสระจากงานที่ไม่ชอบหรืองานที่เราทำแค่เพื่อให้ได้เงินไปวันๆ แล้วใช้เวลาที่เหลือไปทำในงานที่มันเติมเต็มชีวิตจริงๆโดยไม่เกี่ยงว่าจะเงินหรือไม่ได้เงินก็ตาม
แนวคิดนี้มีความเชื่อว่าเราไม่ควรใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย แต่ควรใช้เงินซื้อความสุข นั่นก็คือการสร้างหรือซื้อทรัพย์สินเพื่อทำให้เรามีรายได้มากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่เราต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องงานอีกต่อไป ซึ่งในเว็บไซต์ Thaipublica ได้ยกกรณีศึกษาของ Steve Adcock และภรรยาซึ่งประกอบอาชีพเป็นวิศวกรทั้งคู่ พวกเขาสามารถเกษียณอายุได้ตั้งแต่อายุ 35 ปีด้วยทรัพย์สินกว่าล้านเหรียญ พวกเขาใช้เวลา 15 ปีในการทำงานเก็บเงินและลงทุนเพื่อพุ่งเป้าไปยังการเกษียณให้เร็วที่สุด โดยเขาไม่ซื้อบ้านซื้อรถราคาแพง ไม่กินอาหารแพงๆ แต่เน้นประหยัดและทำทุกอย่างเพื่อไปถึงอิสรภาพทางการเงินให้เร็วที่สุด
1
คือโดยปรกติ มนุษย์เราพอเริ่มต้นทำงาน เราก็จะมักเอาเป้าหมายอย่าง บ้าน รถ การท่องเที่ยว อาหารดีๆไว้เป็นอันดับแรกๆ ส่วนการเกษียณนั้นก็เอาเป็นอันดับท้ายๆเลย แต่หากเป็นการดำรงชีวิตแบบ Fire Movement นั้นจะทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง คือเอาเรื่องบ้าน รถ ท้องเที่ยว อาหารดีๆไว้ทีหลังสุด ถ้ามี ก็เอาแค่เท่าที่จำเป็นจริงๆ หรือซื้อในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการหารายได้ เช่น ซื้อรถก็เพราะเอามันมาใช้หาเงิน ซื้อมือถือก็เพราะต้องการเน้นทำงานเป็นหลัก ซื้อหนังสือเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเป็นต้น ใช่ หลักการ Fire Movement จะยอมทำทุกอย่างทั้งหมดเพื่อพุ่งเป้าไปที่เกษียณเป็นอันดับแรก ที่เหลือค่อยว่ากัน โดยชนกลุ่มนี้จะเน้นที่การออมเงินหนักมากและลงทุนในสินทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดการเติบโตขึ้นในอนาคตจนมากพอที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองและคนที่รักได้ เมื่อทำได้ตามเป้าแล้ว จะเอาชีวิตไปทำงานงานต่อในที่ที่ไม่กดดันให้ตัวเองเครียดตลอดเวลา หรือไปเติมเต็มชีวิตตัวเองก็ได้
โดยเป้าหมายที่พวกเขาต้องการ คือต้องมีมูลค่าทรัพย์สิน 25 เท่าของเงินที่ใช้จ่ายรายปี ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนั้นให้เร็ว จะต้องกดค่าใช้จ่ายในชีวิตให้ต่ำที่สุด เรียกว่าเข้าสู่โหมดโคตรงก และเร่งศักยภาพในการหารายได้ให้พุ่งขึ้นสุดอย่างการพัฒนาตัวเองเพื่อขึ้นเงินเดือน เป็น Freelance หรือการสร้างธุรกิจส่วนตัว เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท 1 ปีคุณจะมีค่าใช้จ่ายราวๆ 180,000 บาท เท่ากับคุณต้องมีทรัพย์สินราวๆ 4,500,000 แล้วค่อยๆให้ทรัพย์สินมันปันผลออกมา ซึ่งมันเป็นเงินก้อนใหญ่เลยหละ คือ มันใหญ่จริงๆใช่มั้ยหละ
เท่านั้นยังไม่พอ หลักการนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะพอคนเรามีเงิน มันก็อยากจะมีนู้นมีนี่ เหมือนคนมีอำนาจนั่นเเหละ แถมยังไม่รู้ว่าระหว่างทางจะเจออะไรอีก เช่น เจ็บป่วย ตลาดหุ้นตก รวมไปถึงเรื่องจิตตกมากมาย แม้แต่ผมเองพอทำงานเริ่มมีเงินเก็บแล้ว มันก็อยากซื้อรางวัลเป็นความสุขของชีวิต ผมเลยเลือกออมเงินเอาไว้กินใช้ส่วนหนึ่ง ลงทุนส่วนหนึ่ง และเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ให้รางวัลชีวิตตัวเอง ในประเทศไทยก็มีหลายคนที่ใช้หลักการนี้ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าพวกเขายินดีจะเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองหรือไม่ หากคุณอยากจะรู้เรื่อง Fire Movemet มากกว่านี้ ก็กดติดตามช่องแล้วกันครับ เดี๋ยวจะแปลจากต่างประเทศมาให้ครับ
โฆษณา