2 ก.ย. 2019 เวลา 13:53 • การศึกษา
“วิวข้างทาง เรื่องเล็กน้อยที่มองข้ามไม่ได้ ?”
หลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่คงเคยเดินทางด้วยรถไฟกันใช่มั้ยครับ ผมหมายถึง รถไฟ ปู๊น ๆ ฉึกฉัก ๆ ที่เราคุ้นเคยกัน ไม่ใช่รถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตามที่หลาย ๆ คนเข้าใจนะครับ
Cr. pixabay
สำหรับตัวผมเองต้องขอรับสารภาพว่าในชีวิตที่ผ่านมาเพิ่งเคยเดินทางด้วยรถไฟเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
ครั้งแรก ตอนเดินทางกลับจากอยุธยามากรุงเทพฯ ด้วยความที่อยากนั่งรถไฟฟรีเลยถือโอกาสลองใช้บริการ ปรากฏว่าจากที่เคยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงด้วยรถยนต์ กลับเพิ่มเป็น 4 ชั่วโมง สรุปคือ ใช้เวลาเพิ่มขึ้นเท่าตัว (หากมีเวลาน้อยไม่แนะนำครับ)
ส่วนครั้งที่ 2 อัพเกรดขึ้นมาหน่อย ผมซื้อตั๋วรถไฟแบบเหมาห้องโดยสาร ขบวนด่วนพิเศษ เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสุรินทร์
ปรากฏว่าดีขึ้นกว่าครั้งแรกมาก ใช้เวลาเดินทางพอ ๆ กับรถยนต์ คงเพราะรถด่วนพิเศษจะจอดรับผู้โดยสารเพียงไม่กี่สถานี ซึ่งในส่วนของห้องโดยสารก็ถือว่าเหมาะสมกับราคา มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณ wifi จอทีวีส่วนตัว ห้องอาบน้ำ สรุปว่า ได้ความประทับใจกลับมาพอสมควร
นั่นคือประสบการณ์นั่งรถไฟที่ผ่านมา
กลับมาที่เรื่องกฎหมาย
ถ้าผู้อ่านเห็นหัวข้อของบทความนี้แล้วอาจจะงงอยู่ซักหน่อย ว่าวิวข้างทางจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายยังไง และมีความสำคัญขนาดไหน... เรามาดูกันเลยครับ
Cr. pixabay
เรื่องมีอยู่ว่ามีคุณพี่ท่านหนึ่ง ท่านรับราชการอยู่จังหวัดอยุธยาแต่มีภูมิลำเนาและบ้านพักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ต้องใช้บริการรถไฟขบวนด่วนพิเศษเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาอยู่เป็นประจำ ซึ่งเวลาเดินทางในแต่ละครั้งก็ไม่ใช่น้อย ๆ ประมาณครั้งละ 10 ชั่วโมง
ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบดูวิวข้างทาง แต่เมื่อขึ้นรถไฟแล้ว กลับพบว่าได้มีการนำแผ่นป้ายโฆษณาสินค้าและบริการมาปิดที่บริเวณกระจกหน้าต่างตู้โดยสารของรถไฟขบวนดังกล่าว ทำให้บดบังวิวทิวทัศน์ ไม่สามารถมองผ่านกระจกออกไปเพื่อพักสายตาได้ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้เป็นที่ต่อทรมานร่างกายและจิตใจ
แกเลยไปร้องเรียนต่อการรถไฟฯ เพื่อขอให้ลอกป้ายโฆษณานั้นออก แต่การรถไฟฯ ได้ตอบปฏิเสธ เนื่องจากเป็นสัญญาที่ได้ทำไว้กับบุคคลภายนอกในการติดป้ายโฆษณาดังกล่าว
Cr. pixabay
เมื่อถูกการรถไฟฯ ปฏิเสธ แกเลยมาฟ้อง การรถไฟฯ ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากกระจกหน้าต่างของตู้โดยสารขบวนรถไฟ (คู่ความในคดีปกครองจะไม่เรียกว่า โจทก์ หรือ จำเลย แต่จะเรียกว่า “ผู้ฟ้องคดี” หรือ “ผู้ถูกฟ้องคดี”)
1
ซึ่งศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่า...
“ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์และของอื่น ๆ ซึ่งเป็นบริการสาธารณะ
ในการจัดทำบริการสาธาณะดังกล่าว นอกจากจะต้องจัดให้มีขบวนรถไฟสำหรับขนส่งอย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังจะต้องดูแลรักษาส่วนต่าง ๆ ของตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี และสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร
Cr. pixabay
โดยเฉพาะหน้าต่างตู้โดยสารของขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ารถโดยสารทุกชนิดจะต้องมีหน้าต่าง ซึ่งหน้าต่างรถโดยสารไม่ได้มีไว้สำหรับให้แสงสว่างจากภายนอกรถส่องเข้ามาภายในรถเท่านั้น
แต่ยังมีไว้สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่ภายนอกรถ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระวังอันตรายที่อาจเกิดจากภายนอกรถอีกด้วย
รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างจึงไม่อาจเรียกได้ว่ารถโดยสาร แต่เป็นรถขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ และต้องถือว่าผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีหน้าต่างปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุ ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้โดยสาร
Cr. pixabay
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุก ขบวน มีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างรถตู้โดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสาร"
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 231/2550)
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา