4 ก.ย. 2019 เวลา 03:13
ตามล่า! หาบัตรประชาชน ตอนที่ 1
สำหรับผู้ป่วยบางคน บัตรประชาชนใบเล็ก ๆ อาจเป็นสิ่งกำหนดความเป็นความตายได้
เมื่อซัก 10 กว่าปีที่แล้ว ผมกลับจากใช้ทุนต่างจังหวัด มาเรียนต่อเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์
ในปีแรกนั้นเอง มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ผมต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ
แต่ความทุ่มเทที่ผมลงแรงไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการแพทย์แต่อย่างใดเลย
ในแต่ละเดือน แพทย์ที่มาเรียนต่อ จะถูกหมุนเวียนไปทำงานที่หอผู้ป่วยต่าง ๆ กัน
ตอนนั้น ขึ้นเดือนใหม่ ผมก็มาพึ่งขึ้นมาทำงานที่หอผู้ป่วยสามัญที่ตึกเก่าหลังหนึ่ง
ผมได้เป็นเจ้าของไข้ผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้นรายหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคเชื้อราฮิสโตพลาสมาแบบแพร่กระจาย (disseminated histoplasmosis) เห็นเป็นตุ่มตามหน้าตามตัวเต็มไปหมด และนอนโรงพยาบาลมาได้ซักระยะแล้ว
ผมให้ยาฆ่าเชื้อราตามปกติ ก็น่าจะตรงไปตรงมา แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ผู้ป่วยรายนี้ เคยมารักษาโรคติดเชื้อราตัวนี้หลายรอบแล้ว เวลามารักษาที่โรงพยาบาลทุกครั้งได้ยาก็ดีขึ้น พอเปลี่ยนเป็นยากินให้กลับบ้าน นัดมาเริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี ก็ไม่เคยกลับมาตามนัด ติดตามตัวก็ไม่ได้
ผ่านไปหลายเดือนก็จะมีพลเมืองดีนำตัวส่งโรงพยาบาลในสภาพงอมพระรามด้วยเชื้อราตัวเดิม แล้วก็มาเริ่มต้นให้ยาฆ่าเชื้อรากันใหม่ พอดีขึ้นกลับบ้านก็หายตัวไปอีก จนกลับมาในสภาพร่อแร่ วนเวียนอย่างนี้อยู่หลายรอบ
ในยุคนั้น ผู้ป่วยเอชไอวีมักจะมีแพทย์อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อเป็นผู้ติดตามรักษา แพทย์ทั่วไปยังไม่ค่อยมีความชำนาญพอ แน่นอนว่าผู้ป่วยรายนี้ก็มีแพทย์โรคติดเชื้อคอยติดตาม
1
อาจารย์โรคติดเชื้อที่ดูผู้ป่วยรายนี้อยู่ วิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วยรายนี้ว่าเป็นเพราะผู้ป่วยรายนี้ไม่มีบัตรประชาชน
เมื่อไม่มีบัตรประชาชน ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ 30 บาทได้
เวลาอาการทรุดมาห้องฉุกเฉิน อาการหนักจะมีสิทธิหรือมีเงินจ่ายหรือไม่ เราก็ต้องให้การรักษาไปก่อนเสมอ
ผู้ป่วยไม่มีสิทธิ ไม่มีเงิน ก็เป็นหน้าที่ของสังคมสงเคราะห์ ส่วนใหญ่ก็ให้ติดหนี้ไว้ ผู้ป่วยก็ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เป็นเรื่องปกติ ป่วยอีกก็มาให้ติดหนี้เพิ่มอีกไปเรื่อย ๆ โรงพยาบาลของรัฐก็เหมือนสร้างมาเพื่อให้ขาดทุนอยู่แล้ว เราก็รักษากันไปตามปกติ
แต่พออาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับ ก็ไปอยู่ตามสวนสาธารณะ หรือใต้สะพาน ถึงวันหมอนัดก็เบี้ยวทุกครั้ง เพราะสำหรับการมาตรวจที่โอพีดี (ผู้ป่วยนอก) ไม่ได้จัดว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ถ้าไม่มีเงินจ่าย ก็จะไม่ได้ยา ผู้ป่วยก็ไม่ยอมมา อันที่จริงค่าเดินทางยังไม่มีด้วยซ้ำ
ประเด็นมันอยู่ที่ เราเชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นคนไทย แต่เขาไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะมี บังเอิญว่าเขาทำบัตรประชาชนช้าไปแค่ 16 ปี!
1
ตอนแรกก็ขอให้สังคมสงเคราะห์ช่วย แต่สังคมสงเคราะห์ก็ส่ายหัวจนปัญญา
เลยเป็นที่มาของปฏิบัติการตามล่าหาบัตรประชาชน เพื่อทวงคืนสิทธิ์ให้กับผู้ป่วย!
โปรดติดตามตอนต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา