6 ก.ย. 2019 เวลา 14:30 • ประวัติศาสตร์
“ปาท่องโก๋ อาหารที่เกิดจากความแค้น”
“ปาท่องโก๋” อาหารที่หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะด้วยความกรอบของแป้งที่ทอดด้วยน้ำมันร้อน ๆ และรสชาติที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งไม่ว่าจะทานเป็นของกินเล่น หรือจะทานคู่กับโจ๊กร้อน ๆ ซักชาม หรือกาแฟเข้ม ๆ ซักถ้วยในยามเช้าก็ตาม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปาท่องโก๋เป็นอาหารง่าย ๆ ที่สร้างความสุขให้กับพวกเรามาอย่างยาวนาน
Storm.mg
“อาหารหมื่นลี้”
ปาท่องโก๋ เป็นชื่อเรียกของอาหารจีนชนิดหนึ่ง ทำมาจากแป้งสาลี นำมาตัดเป็นท่อน ๆ และประกบเข้าด้วยกัน เสร็จแล้วจึงนำไปทอดในกระทะด้วยน้ำมันร้อน ๆ จนพอง กรอบ มีสีเหลือทอง ซึ่งชาวจีนจะเรียกอาหารชนิดนี้แตกต่างกันไปตามสำเนียงของแต่ละภูมิภาค เช่น ทางเหนือจะเรียกว่า “กั่วจี” สำเนียงแต้จิ๋ว เรียกว่า “อิ่วจา ก้วย” ส่วนสำเนียงกลางจะนิยมเรียกกันว่า “โหยวเถียว” ซึ่งแปลว่า ท่อนแป้งทอดน้ำมัน
Pixabay
“ชื่อที่ได้มาจากความเข้าใจผิด”
เป็นเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า จริง ๆ แล้ว ปาท่องโก๋แบบดั้งเดิมนั้นไม่ได้มีหน้าตาในแบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นอาหารชนิดหนึ่งซึ่งทำมาจากแป้งข้าวเจ้ากับน้ำตาลทราย มีลักษณะสี่เหลี่ยม หน้าตาคล้ายขนมถ้วยฟู ออกเสียงว่า “ไป่ถังกั่ว” หรือ “ไป่ถังเกา”
ซึ่งที่มาของความสับสนของชื่อที่เรียกขานกันในทุกวันนี้ เกิดขึ้นเพราะพ่อค้ามักจะทำ “ไป่ถังกั่ว” ขายไปพร้อมกับ
“โหยวเถียว” (ปาท่องโก๋ที่เรากินกัน)
แต่คนไทยนิยมทานโหยวเถียวมากกว่า และเข้าใจผิดว่าโหยวเถียวคือไป่ถังกั่ว
mrspskitchen.net
ต่อมาเมื่อไป่ถังกั่วขายไม่ดีจึงลดเมนูเหลือ
โหยวเถียวเพียงอย่างเดียว คนไทยเราจึงเข้าใจผิดเรียกโหยวเถียวว่าไป่ถังกั่ว หรือ “ปาท่องโก๋” มาตลอดจนถึงทุกวันนี้
“ทำไมปาท่องโก๋ต้องติดกัน”
เรื่องนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์ซ้อง มีขุนนางกังฉินชื่อว่า “ฉินฮุ่ย” มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาคนสนิทของฮ่องเต้ ได้เกิดความอิจฉาริษยาแม่ทัพ
“งักฮุย” เนื่องจากงักฮุยเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจและเป็นที่รักของราษฎร จึงได้ใส่ร้ายป้ายสีงักฮุยว่าเป็นกบฏขายชาติ จนถูกจับและถูกลอบสังหารในคุกในเวลาต่อมา
pantip.com
ชาวบ้านที่เคารพงักฮุยเมื่อทราบข่าวการตาย ก็โกรธแค้นฉินฮุ่ยเป็นอย่างมาก แต่ในขณะนั้นฉินฮุ่ยมีอำนาจอยู่ในมือมากมาย ชาวบ้านที่โกรธแค้นจึงหาทางระบายด้วยการเอาแป้งมาปั้นเป็นเส้น 2 เส้นและบีบให้ติดกัน สมมุติว่าเป็นฉินฮุ่ยและภรรยา
นำลงไปทอดในกระทะที่มีน้ำมันเดือดแล้วเอามากินเพื่อระบายความแค้น ซึ่งเป็นที่มาของปาท่องโก๋ที่เรารับประทานกันในปัจจุบัน
21 ปีภายหลังการตายของแม่ทัพงักฮุย ในรัชสมัยของฮ่องเต้ซ่งเซี่ยว ได้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาไต่สวนใหม่และได้อภัยโทษให้แก่งักฮุย พร้อมตั้งศาลบูชาเทพเจ้างักฮุยขึ้น ณ ทะเลสาบซีหู เมืองหังโจว ซึ่งด้านข้างศาลเจ้าจะมีรูปปั้นของฉินฮุ่ยกับภรรยาและบ่าวรับใช้สองคนตั้งอยู่ในลักษณะคุกเข่า เพื่อแสดงถึงการสำนึกผิดและขอขมาแก่งักฮุย และให้คนถ่มน้ำลายใส่เพื่อเป็นการประณามและระบายความแค้นแก่คนขายชาติ
Wikipedia
เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว ลองย้อนกลับมาถามตัวเองดูว่าเราได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง
สำหรับผมแล้วได้เห็นถึงความสำคัญของ "ที่มา" เพราะขนาดอาหารทานเล่นอย่างปาท่องโก๋ ยังมีที่มาและประวัติศาสตร์ยาวนานให้คนได้ศึกษาและได้จดจำ
แล้วตัวเราเองล่ะจำได้หรือไม่ว่ามีที่มาจากไหนและได้ทำอะไรให้คนอื่นได้นึกถึง
ในเวลาที่จากโลกนี้ไปแล้วรึยัง
"ส่งท้าย"
เนื่องจากบทความนี้ เป็นบทความที่ 100 ของเพจกฎหมายย่อยง่าย ซึ่งผมในฐานะแอดมินขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจและติดตามกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ผมจึงถือโอกาสนี้ขออนุญาตลงบทความเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ หรือประวัติศาสตร์มาสอดแทรกกับเรื่องกฎหมายบ้างพอเป็นสีสัน ซึ่งหวังว่าทุกคนจะให้การตอบรับเป็นอย่างดีเหมือนที่ผ่านมานะครับ
- ขอบคุณครับ -
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา