7 ก.ย. 2019 เวลา 10:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"กบ" อม ลูก ?
ภาพนี้เป็นฝีมือของศิลปินชื่อว่า Peter Schouten
เป็นภาพที่เมื่อมองผ่าน ๆ คล้ายว่า กบใหญ่กินกบเล็ก
แต่หากดูดี ๆ มัน คือ กบตัวน้อย ๆ กำลังคลานออกจากปากกว้าง ๆ ของกบตัวใหญ่ ซึ่งที่จริงแล้ว คือ แม่ ของมันนั่นเอง
นี่คือ กบสายพันธุ์พิเศษ ที่เคยมีอยู่จริงร่วมสมัยเรา ที่มีความโดดเด่นในความสามารถฟักไข่จนลูกโตในกระเพาะ หรือเรียกว่า “gastric-brooding frog”
กบชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1972 อาศัยในพื้นที่แบบป่าชื้นของควีนสแลนด์ในออสเตรเลีย
ความน่าสนใจ อยู่ที่ความแตกต่างจากกบส่วนใหญ่ที่มักออกไข่เป็นกลุ่มแพ เกาะเหนียวอยู่ตามวัชพืช จนเข้าสู่ระยะฟักตัวเป็นลูกอ๊อด และเป็นลูกกบน้อย
ก่อนจะให้ไปหากินกันเองตามธรรมชาติ โดยแม่กบคอยปกป้องอยู่ใกล้ ๆ ตามสัญชาตญาณ
แต่กบ gastric-brooding frog หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rheobatrachus silus “ทำ” มากกว่านั้น
ร่างกายของแม่กบ ถูกออกแบบมาให้มีความพิเศษ
สามารถเก็บ “ไข่” ผสมแล้วขนาด 5 มิลลิเมตร ให้อยู่ในกระเพาะได้ยาวนาน 6 สัปดาห์ โดยไม่กินอะไร
เพื่อให้ไข่แต่ละใบ มีการพัฒนาการตามอายุ เติบโตเป็นลูกอ๊อด และเป็นกบตัวจ้อย อยู่ในกระเพาะนั้น
โดยรอบหนึ่ง ๆ แห่งการ “ตั้งท้อง” แม่กบจะมีไข่จำนวนราว 40 ฟอง ที่รอการเติบโต
ไข่เหล่านี้ จะรอดจากการถูกกรดไฮโดรคลอริคในกระเพาะทำลาย (ซึ่งในคนก็มีกรดนี้ในกระเพาะเช่นกัน)
1
เพราะรอบ ๆ ไข่จะมีเมือกจากการผลิต prostaglandin E2 (PGE2) มาหุ้มไว้ ซึ่งจะมีการผลิตเพิ่มอีกเมื่อ ไข่ กลายเป็น ลูกอ๊อด ทำให้เปอร์เซ็นต์รอดมีประมาณ 50-60 %
คาดว่าไข่ที่เสียหายไป เกิดจากแม่กบไม่สามารถกลืนไข่ทั้งหมดลงในกระเพาะ หรืออาจจะมีไข่ไม่สมบูรณ์ หรือถูกย่อยไปโดยน้ำกรดในกระเพาะบ้าง
เมื่อได้เวลา กระเพาะแม่กบจะขยายใหญ่ตามปริมาตรลูกที่เบียดแน่น กระตุ้นให้เกิดการสำรอกลูกกบออกมา ในสัปดาห์ที่ 6 อาทิตย์
แม้กบ gastric-brooding frog จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ แต่มีการเก็บตัวอย่างกบไว้ในช่วงท้าย ๆ เพื่อหวังว่า วันหนึ่งอาจใช้ประโยชน์ได้
ผ่านมาจนถึงปี 2013 (หลังโปรเจคโคลนนิ่งแกะดอลลี่ทำสำเร็จ) ก็ถึงเวลาโปรเจคของกบสายพันธุ์นี้
ภายใต้ปฏิบัติการชื่อ Lazarus Project เพื่อคืนชีพกบ gastric-brooding frog
นักวิทยาศาสตร์ ได้นำนิวเคลียส (ซึ่งมี DNA ของกบ gastric-brooding frog ที่เก็บแช่แข็งไว้ 30 กว่าปี) มาทำการถ่ายลงในเซลล์ไข่ของกบสายพันธุ์ Mixophyes fasciolatus
(โดยได้ทำให้นิวเคลียสเดิมในเซลล์ไข่ของกบ Mixophyes fasciolatus อยู่ในภาวะไม่สามารถทำงานได้แล้วก่อนนั้น)
อันเป็นหลักการของการทำ cloning ที่จะใช้เซลล์ใด ๆ ที่ไม่ใช่ เซลล์ไข่หรือสเปิร์ม (เรียกรวม ๆ ว่า somatic cell) ของสัตว์ที่จะจำลอง มาใส่ในเซลล์ “แม่บุญธรรม”
เป้าหมายที่แท้ คือ การได้ลูกสัตว์ที่สมบูรณ์ อย่างแกะดอลลี่ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว
แต่สำหรับ Lazarus Project การคืนชีพกบ gastric-brooding frog ไม่เป็นเช่นนั้น
แม้จะมีไข่หลังการถ่ายโอนนิวเคลียสแสดงการแบ่งตัว เป็นตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ (embryo) ในระยะต้นๆ ได้
แต่ทว่า ไม่มีตัวอ่อนตัวใดที่เติบโตมาเป็นตัวเต็มวัยได้
เท่ากับว่าโคลนนิ่งได้ผลไม่สำเร็จอย่างที่คาดหวัง
หากเมื่อวาน เพื่อนพี่น้องได้อ่านตอน โคลนนิ่ง เสือทัสมาเนียน (ซึ่งวันที่ 6 เดือน 9 ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบสูญพันธุ์ของเสือน้อย Tasmanian Tiger อย่างเป็นทางการครบ 83 ปี)
อ่านตอน เสือทัสมาเนียนได้สะดวก คลิกลิ้งค์นี้
ความพยายามโคลนนิ่งเสือ Tasmanian Tiger ก็เกิดหลังจากโครงการ Lazarus Project ที่พอจะเห็นความคืบหน้าของกระบวนการทำ Cloning บ้างในกบ (แม้จะไม่สัมฤทธิ์ผล)
ซึ่งเสือ Tasmanian Tiger ก็ยังไม่สามารถโคลนนิ่งได้สำเร็จในปี 2019 ที่ผ่านมา แต่มีความพยายามอยู่เรื่อย ๆ (อ่านรายละเอียดตามลิ้งค์ด้านบน)
และเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา มีการให้สัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่า การฟื้นคืนชีพสิ่งมีชีวิตหลายพันธุ์ในอดีต อย่างหนังหนังจูราสสิคพาร์แทบจะเป็นไปไม่ได้
อย่างการพยายามคืนชีพ แมมมอธ นกพิราบสื่อสาร (Ectopistes migratorius) เสือทัสมาเนียน นก dodo แห่งมาดากัสการ์ หรือกบ gastric-brooding frog
แต่อย่างไรก็ตาม เทคนิคการ cloning และอื่น ๆ ที่มากับการก้าวกระโดดของวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องจีโนม Genome การถอดรหัสต่าง ๆ การตัดแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต
จะช่วยเพิ่มความหวัง ในการแก้ไขความด้อยของยีนในสัตว์บางสปีชีส์ เพื่อให้ถ่ายทอดลักษณะที่แข็งแรงขึ้นไปยังรุ่นลูกหลาน
ทำให้ลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์สิ่งมีชีวิตอีกนับ 2 หมื่น สปีชีส์ ในระยะอีก 20-30 ปีข้างหน้านี้
ที่เกิดจากการไม่สามารถส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงทาง DNA โดยธรรมชาติ ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศต่าง ๆ ที่ผันผวนอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษนี้
(ตามหลักความเป็นจริงแล้ว วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ต้องใช้ระยะเวลานานมาก กว่าจะส่งผ่านมาทาง DNA รุ่นสู่รุ่น)
แอดขอจบท้ายที่เรื่องของการโคลนนิ่งสุนัข
ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่เกาหลีใต้ทำได้สำเร็จตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005
โดยครั้งนั้นเป็นการนำเซลล์ร่างกายของสุนัขพันธุ์แอฟริกันฮาวนด์ มาโคลนนิ่ง ฝากไว้กับ “แม่อุ้มบุญ” พันธุ์พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
ซึ่งได้ลูกสุนัขเพศผู้ “สนูปปี้” ที่มีลักษณะเป็นแอฟริกันฮาวนด์
ต่อมาอีก 2 ปี เมื่อสนูปปี้เข้าวัยหนุ่ม ทีมวิจัยได้เอาสเปิร์มของ สนูปปี้ ไปผสมเทียมกับ สุนัขตัวเมีย 2 ตัว เพื่อให้คลอดลูก
ผลคือ ประสบความสำเร็จ ได้ลูกสุนัข 10 ตัว ซึ่งเก้าในสิบตัว แข็งแรงสุขภาพดี (อีก 1 ตัว ตายไปเมื่ออายุ 1 เดือน)
ต่อมา ก็มีการโคลนนิ่งสุนัขอีกหลายพันธุ์ เช่น บีเกิ้ล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ที่มีความสามารถในการดมกลิ่นตรวจจับสารเสพย์ติดที่แม่นยำ
เรียกว่า ลูกสุนัขที่มาจากการโคลนนิ่งมีประสิทธิภาพเหมือน “ตัวแม่” กว่า 90% ฝึกให้เป็นสุนัขดมกลิ่นได้อย่างคาดหวังผลได้สูง
ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.2008 ทีมวิจัยร่วมญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ก็ได้โคลนนิ่งสุนัขพันธุ์ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ และ พิตบูลล์เทอร์เรียร์ (กรณีโคลนนิ่ง พิตบูลล์เทอร์เรียร์ ทำจากเซลล์เนื้อเยื่อใบหู)
โดยตัวแม่แบบ เป็นสุนัขที่มีความสามารถพิเศษในการดมกลิ่นเซลล์มะเร็งในปัสสาวะและลมหายใจ ซึ่งลูกสุนัขที่ได้จากการโคลนนิ่ง มีหลายตัว ได้รับการฝึกฝนต่อและกลายเป็น “การโคลนนิ่งสุนัขเพื่อการค้า” ครั้งแรกของโลก
และล่าสุดที่เป็นข่าว เมื่อต้นปี 2019 เป็นการโคลนนิ่งสุนัขตำรวจ ในจีน
จาก “ตัวแม่” ที่เป็นพันธุ์วูล์ฟด็อก เพศเมีย ชื่อ ฮัวหวงหม่า
ที่มีฉายาว่า “หมาเชอร์ล็อก โฮล์มส์ มีประวัติดีในการจับฆาตกรได้ 12 ราย คลี่คลายคดีได้มากกว่า 20 คดี
ได้ลูกสุนัข “คุนซุน” ตัวเมีย ที่มีลักษณะเหมือนกับตัวแม่ 99% ซึ่งกำลังได้รับการฝึกเพื่อเป็นสุนัขตำรวจต่อไป
หากจะกล่าวว่า การทำโคลนนิ่ง ก็เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ระบบนิเวศและการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต
แต่ที่เห็นแล้ว คือ ผลของการโคลนนิ่ง มีการใช้เพื่อการค้า การใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งผลประโยชน์จะตกแก่ใครบ้าง สุดวิสัยที่จะกล่าวได้
นกไดโนสคูล🐦
โฆษณา