9 ก.ย. 2019 เวลา 00:30 • ไลฟ์สไตล์
ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อการสร้างทีม ตอนที่ 2
สวัสดีและขอบคุณผู้ติดตามเพจทุกท่านครับ
ชี้แจงกันก่อนเข้าเรื่อง บทความในเพจนี้ ผมอาจจะไม่ได้โพสต์เนื้อหาในเพจต่อเนื่องเท่าไหร่นะครับ เนื่องจากมีเพจหลักที่ผมดูแลอยู่
จริงๆหลายท่านที่มาโพสต์ มาเม้นต์ ผมติดตามหมดทุกเพจรวมถึงเข้าไปทักทายอยู่บ่อยๆ แต่ท่านอาจจะไม่ทราบ เพราะผมใช้เพจหลักเข้าไปทัก(ขอไม่เปิดเผยเพจหลักนะครับ ) ผมอยากให้คนที่ติดตามผมในเพจนี้ติดตามเพราะชอบในเนื้อหาการสอนนำกิจกรรมมากกว่าเพราะเราความคุ้นเคยที่ทักทายกันปกติในบทความ ขอบคุณมากจริงๆที่เข้ามาให้กำลังใจกันอยู่เสมอ
ผมสัญญาว่าจะเข้ามาเขียนบทความในเพจนี้ให้ได้สัปดาห์ละ 1-2 บทความแน่นอนครับ
บทที่แล้วเราได้ทำการยกตัวอย่างกิจกรรมละลายพฤติกรรมไปจนถึงเริ่มได้กลุ่มในเบื้องต้นแล้ว
ถือเป็นการสลายเกราะที่ขวางกั้นสัมพันธภาพระหว่างคนออกไป สิ้นสุดที่การจัดกลุ่มตามสั่ง ให้ได้ปะทะสังสรรค์ ไปรวมกลุ่มคนที่เกิดวันเดียวกัน คนใส่เสื้อสีเดียวกัน และปิดท้ายด้วยการแบ่งกลุ่มตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งมีมากมายหลายวิธี (เคยบอกเทคนิคการแบ่งกลุ่มไปแล้วในหัวข้อ ลำดับการนำกิจกรรม ) ส่วนจะแบ่งเป็นกี่กลุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าอบรม
โดยส่วนตัว ผมมักจะไม่ให้เกิน 12 คน ต่อกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรมที่จัด
ถ้ากิจกรรมนั้นต้องการคนจำนวนมากช่วยกันทำภารกิจก็สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกในทีมได้มากตามเหมาะสมของกิจกรรม (แต่ละกลุ่มควรนั่งเป็นวงกลม เพื่อให้สมาชิกในทีมได้เห็นหน้าและทำความรู้จักกัน)
หลังจากได้กลุ่มเรียบร้อยแล้ว ควรให้สมาชิกพูดคุย จำชื่อกันให้ได้ อาจเล่นเป็นเกม ให้เวลา 2 นาที จำชื่อเพื่อน ในกลุ่ม แล้วสุ่มคนใดคนหนึ่งมาไล่ชื่อเพื่อนแข่งกันระหว่างทีมก็ได้ จากนั้น ให้แต่ละทีมตั้งชื่อกลุ่มของตัวเองจะได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
เมื่อตั้งชื่อกลุ่มแล้ว รวมพลังทีมกันหน่อย ผู้นำกิจกรรม ผายมือไปที่ทีมใด สมาชิกทุกคนในทีมจับมือกันพร้อมพูดชื่อกลุ่มตัวเองดังๆ 2 ครั้ง (ผายมือไล่ไปเรื่อยๆ มีจังหวะหลอกล่อเพื่อสร้างความสนุกสนานบ้าง)
จากนั้นจึงเริ่มการแข่งขันระหว่างทีมเพื่อให้สมาชิกในทีมได้ทดลองทำงานร่วมกัน การเรียงกิจกรรมควรเริ่มจากง่ายไปหายาก จากนี้ไปจะเป็นตัวอย่างกิจกรรมเพื่อการสร้างทีม ในเบื้องต้น
บอกกันอีกครั้งครับ กิจกรรมที่ยกตัวอย่างมานี้ถือเป็นเกมในกลุ่มเกมโบราณของผม ดังนั้น เกมเหล่านี้จะไม่ใช่เกมใหม่ครับ ผมเอามายกตัวอย่างให้เห็นภาพและเพื่อให้คนที่ต้องการฝึกนำกิจกรรมเอาไปใช้ได้ง่ายๆ
สำหรับท่านที่ต้องการเกมใหม่จะมีบทเรียนเรื่องการสร้างและประยุกต์เกมในบทท้ายๆ อันนั้นจัดเต็มเรื่องการคิดเกม หาเกม ให้เต็มที่เลยครับ
- เกมโยนชื่อกลุ่ม
แต่ละกลุ่มจะโยนชื่อกลุ่มแข่งกัน โดยเริ่มที่ทีมไหนก่อนก็ได้ (ผู้นำกิจกรรมเป็นผู้กำหนด) ทีมเริ่มต้นพูดชื่อกลุ่มตัวเอง 2 รอบ ตามด้วยชื่อกลุ่มต่อไปที่ต้องการจะส่งต่อ เมื่อทีมแรกพูดส่งไปทีมไหนให้ทีมนั้นๆตะโกนรับด้วยชื่อกลุ่มตัวเอง 2 รอบ ตามด้วยชื่อกลุ่มต่อไปที่ต้องการจะส่งต่อ
มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ ทุกทีมไม่สามารถโยนคืนให้กลุ่มที่โยนชื่อมาให้เราได้ เช่น ถ้าทีม สิงโต ส่งไปให้ทีมเสือ ด้วยการโยนว่า “สิงโตๆ เสือๆ” แล้วทีมเสือจะโยนย้อนกลับมาที่ทีม สิงโตไม่ได้ เล่นอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทีมไหนพูดชื่อกลุ่มตัวเองผิดหรือหรือพูดชื่อกลุ่มอื่นผิดถือว่าตกรอบ (ถ้าตกรอบแล้วถือว่าหมดสิทธิ์เล่น ทีมไหนโยนไปให้ทีมที่ตกรอบแล้วก็จะตกรอบเช่นกัน)
- เกมปลาโลมา
ผู้เล่นแต่ละทีมนั่งเป็นวงกลม มีประโยคที่จะต้องพูดทั้งหมด 3 ประโยค สมาชิกในทีมผลัดกันพูดคนละประโยค ใครเริ่มก่อนก็ได้แล้ววนไปในวงเรื่อยๆ 3 ประโยคนั่นคือ 1. ปลาโลมา.... ตัว 2. กระโดด.....ที 3. จ๋อม การพูดจะเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆตามจำนวนปลาโลมาที่เพิ่มขึ้น เช่นในรอบแรกเริ่มที่ปลาโลมาหนึ่งตัว - กระโดดหนึ่งที - จ๋อม หมดรอบแล้ว ก็เพิ่มทุกอย่างเป็นการทำ2ครั้ง เป็นปลาโลมา 2 ตัว- ปลาโลมา 2 ตัว – กระโดดสองที - กระโดดสองที – จ๋อม – จ๋อม นับเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ ทีมที่ชนะคือทีมที่สามารถพูดได้จำนวนปลาโลมามากที่สุด หมายเหตุ- เพื่อความสนุกควรมีเวลาให้แต่ละทีมซ้อมนิดหน่อยจากนั้นเมื่อแข่งขันจริง เล่นทีละทีม ขอความร่วมมือจากสมาชิกทีมอื่นเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ เชื่อผมเถอะเวลาพูดผิดนี่ อย่างฮา!!!
- เกมมังกรลอดถ้ำ
ให้ผู้เล่นรวมกลุ่มเป็นวงกลม นับหมายเลขประจำตัว(1 2 3 4 ...) วนจากซ้ายไปขวาจนครบ ให้ผู้เล่นยืนขึ้นแล้วจับมือกัน เมื่อผู้นำจะพูดหมายเลขคู่ใดคู่หนึ่งขึ้นมา เช่น 8-9 ให้คนที่ถูกเรียกยกแขนขึ้นเป็นถ้ำ หัวแถวและหางแถวต้องวิ่งไปลอดถ้ำ ใครเสร็จก่อนโดยที่มือไม่หลุดถือว่าชนะ กิจกรรมนี้เล่นได้หลายรอบ สามารถใส่เงื่อนไขเพิ่มเติมได้ในรอบหลังๆ เช่น บอกคู่หมายเลขมา 2 คู่ เมื่อผู้เล่นลอดคู่หมายเลขแรกจบแล้วให้ลอดคู่หมายเลขที่สองต่อทันที
เกมด้านบนนี้คือตัวอย่างกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานเป็นทีม ก่อนนำไปสู่กิจกรรมหลัก ซึ่งมีมากมายหลายรูปแบบ เช่น
กิจกรรม Rally สามารถแยกได้เป็น Walk Rally (เดินเข้าฐาน) , Bike Rally (ใช้จักรยานเป็นพาหนะ) หรือ Rafting Rally (การล่องแก่งเรือยาง) ซึ่งไม่ว่าจะใช้พาหนะอะไรเป็นการเดินทางของทีม จุดหลักของRally คือการเข้าฐานกิจกรรม ซึ่งคุณต้องออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่จะใช้สรุปกิจกรรม
กรณีที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวนมาก และมีหลายทีม เราสามารถให้แต่ละทีมแข่งขันกันภายในฐานได้เลย โดยเล่นพร้อมกันสองทีม สามทีม หรือ กี่ทีมก็ได้ตามความเหมาะสม
หรือถ้าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวนไม่มาก
เล่นไปด้วยกัน พร้อมกันทุกทีมก็ได้ครับ ไม่ต้องมีการเข้าฐาน สนุกไปอีกแบบ อย่ายิดติดกับรูปแบบกิจกรรมมากจนเกินไปครับ เน้นเป้าหมายและได้เรียนรู้ตามจุดประสงค์ของเกมเป็นหลัก
ตัวอย่างกิจกรรมฐาน Walk Rally
- ฐานลำเลียงหรรษา
สมาชิกในทีมช่วยกันลำเลียงสิ่งของต่างๆเช่น แก้วน้ำ ลูกโป่ง เก้าอี้พลาสติก ฯลฯ ไปไว้ในจุดที่กำหนดให้ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีให้คือ เชือกคนละ 1 เส้น ความสำเร็จของทีมอยู่ที่จำนวนชิ้นที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายในเวลาที่จำกัด
- ฐานรักษาดวงใจ
สมาชิกในทีมช่วยกันเลือกอุปกรณ์จำนวน 3 ชนิดมาทำวัตถุที่สามารถป้องกันไข่ไก่ 2 ฟองไม่ให้ตกลงมาแตกจากการโยนที่ระดับความสูง 2 เมตร อุปกรณ์ที่มีให้เลือกคือ ลูกโป่ง หลอด ตะเกียบ เทปกาว ด้าย โฟม คัตเตอร์ หนัง ยาง กระดาษหนังสือพิมพ์ ขวดพลาสติก
- ฐานแฟนซีโดน
ส่งตัวแทนออกมาอ่านโจทย์เครื่องแต่งกาย แล้วใช้วิธีการสื่อสารผ่านการกระซิบบอกในทีมภายในเวลา30วินาทีต่อการบอก 1 ครั้ง จากนั้นแต่งตัวเพื่อนสมาชิกให้ถูกต้องตามโจทย์ที่ได้รับ
- ฐานวิ่งเปรี้ยวกางเกงใน
สมาชิกในทีมผลัดกันวิ่ง โดยคนที่วิ่งจะต้องใส่กางเกงที่กรรมการเตรียมให้แล้ววิ่งไปอ้อมหลัก ที่หลักจะมีโจทย์เลขแบบง่ายๆ 15 ข้อ ทำให้เสร็จ 1 ข้อ กลับมาผลัดมือกับเพื่อนคนต่อไป ถอดกางเกงให้เพื่อนใส่แล้ววิ่งต่อไป ทำแบบนี้จนตอบโจทย์เลขครบทุกข้อ ทีมไหนทำเวลาได้ดีและตอบถูกมากที่สุดรับคะแนนตามลำดับที่ทำได้
เกมฐาน Rally มีมากมายไม่รู้จบครับ คิดได้อิสระ ตามสบายเลย ควรจัดลำดับการเดินฐานให้ไม่สับสน โดยทั่วไปจะจัดเส้นทางเป็นวงกลมใช้การเดินตามเข็มนาฬิกา
ถ้าเป็นการจัดทีมแบบหลายทีมเข้าฐานพร้อมกัน ก็ควรให้มีการไขว้กัน เจอทีมซ้ำให้น้อยที่สุด (เช่นทีมที่เข้าคู่กันในฐานแรก ทีมหนึ่งเดินทวนเข็ม อีกทีมเดินตามเข็มก็จะไขว้กันพอดี)
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ควรคิดกิจกรรมให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เล่น และ กติกาต้องเอื้อให้ผู้นำกิจกรรมสามารถสรุปได้ตรงกับหัวข้อที่ต้องการจะสื่อสาร เกมต้องไม่หนักหรือเหนื่อยจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นผู้ดข้าร่วมกิจกรรมจะไม่ได้อะไรจากเกมเลย เขาจะแค่เล่นผ่านๆให้จบไปเพราะอยากจะพัก ควรสมดุลย์เกมให้ดี มีคิดบ้าง มีเคลื่อนไหวบ้างสลับกันไป
ตอนนี้รู้สึกจะยาวมาก ขอจบเท่านี้ก่อนครับ
เมื่อเห็นภาพรวมกิจกรรมทั้งหมดแล้ว บทต่อไปผมจะบอกเทคนิคการนำกิจกรรมอันเป็นเคล็ดวิชาท่าไม้ตายในการนำเกมให้สนุกสนานมากยิ่งขึ้นครับ
โฆษณา