17 ก.ย. 2019 เวลา 04:08 • ข่าว
‘อักษะ’ โรงเรียนในอินเดียที่รับขยะพลาสติกแทนค่าเทอม
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กนักเรียนจะมาโรงเรียนพร้อมกับถุงหลายใบ โดยปกติเรามักจะจินตนาการว่าถุงเหล่านั้นเต็มไปด้วยหนังสือ แต่สำหรับโรงเรียนหนึ่งในอินเดีย ถุงเหล่านั้นเต็มไปด้วยขยะ
อินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกล้นประเทศ วันหนึ่งมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากถึง 26,000 ตัน
ชาวบ้านในเมือง Pamohi เมืองที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอัสสัมที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ใช้ขยะพลาสติกมาเผาเพื่อให้ความร้อนในช่วงฤดูหนาวอันแสนโหดร้ายของหมู่บ้านที่อยู่แถบเชิงเขาหิมาลัย ทั้งนี้การเผาขยะพลาสติกในที่เปิดโดยไม่มีการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นส่งผลเสียมากกว่าผลดีแต่ก็สะท้อนถึงปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามในปี 2016 Parmita Sarma และ Mazin Mukhtar ได้เดินทางมาที่เมืองนี้และตั้งโรงเรียนอักษะ (Akshar Forum School) ขึ้น พวกเขามาพร้อมไอเดียใหม่โดยการขอให้ผู้ปกครองของเด็กจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นขยะพลาสติกอย่างน้อย 25 ชิ้นต่อสัปดาห์
ตั้งแต่นั้นมาเมื่อเสียงกระดิ่งของโรงเรียนดังขึ้นภาพเด็กนักเรียนที่ต่อแถวกันอย่างเป็นระเบียบเพื่อเข้าโรงเรียนพร้อมถุงขยะพลาสติกในมือจึงกลายเป็นภาพชินตาของโรงเรียนแห่งนี้
Akshar Foundation
โรงเรียนอักษะตั้งขึ้นมาพร้อมกับกองทุน ชื่อ กองทุนอักษะ หรือ Akshar Foundation เพื่อรับบริจาคค่าใช้จ่ายต่างๆในโรงเรียน ดังนั้นการจ่ายค่าเทอมด้วยขยะพลาสติกจึงเหมือนเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เด็กในชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วมและช่วยกันดูแลชุมชนของตัวเองมากกว่า
"เดิมทีพวกเราอยากสร้างโรงเรียนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆกับเด็กเลย แต่หลังจากมาดูงานที่ชุมชนแห่งนี้พวกเราตระหนักถึงความหนักหนาของปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังจำสมัยที่ฉันเป็นเด็กนักเรียนแล้วต้องนั่งเรียนไปพร้อมควันพิษเต็มห้องเพราะชาวบ้านแถวนั้นเผาขยะพลาสติกเพื่อให้ความอบอุ่นได้ มันแย่มาก พวกเราจึงอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น" Parmita Sarma หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนกล่าว
นักเรียนบางส่วนทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่มที่ศูนย์รีไซเคิลของโรงเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ERDF ขั้นตอนแรกจะทำการคัดแยกขยะพลาสติก บางส่วนส่งไปรีไซเคิล แต่สำหรับพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้จะถูกนำมาทำเป็นอิฐ (Eco-bricks) โดยใส่พลาสติกชิ้นเล็กๆหรือห่อลูกอมอัดเข้าไปในขวดให้แน่นแล้วนำไปใช้แทนอิฐ ใช้สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มีโครงสร้างง่ายๆในโรงเรียน
Akshar Foundation
ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้ทำให้ขยะพลาสติกหมดไป แต่ก็เป็น 'การจัดการขยะ' อีกวิธีหนึ่งโดยไม่ทิ้งให้ขยะพลาสติกสร้างมลภาวะกระจัดกระจายในสิ่งแวดล้อม และนำมาใช้ประโยชน์เป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างแทนอิฐจริงได้
ภาพตัวอย่าง Eco-Bricks
pinterest.com
observers.france24.com
sundaypost.com
เริ่มจากเด็ก 20 คน ผ่านไป 3 ปี ขณะนี้โรงเรียนอักษะมีเด็กนักเรียนมากกว่า 100 คน อายุตั้งแต่ 4 ถึง 15 ขวบ ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเท่านั้น โรงเรียนแห่งนี้ยังทำให้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กลดลงอย่างมากอีกด้วย
แทนที่จะออกจากโรงเรียนมาทำงานรับจ้างโดยได้ค่าแรงแค่วันละ 75 บาท โรงเรียนอักษะส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนเป็นครู เด็กที่โตกว่าจะได้รับเงินจากการสอนหนังสือให้เด็กเล็ก และจะได้ค่าสอนเพิ่มเมื่อเด็กมีความรู้มากขึ้น สามารถสอนเนื้อหาที่ยากขึ้นได้
Akshar Foundation
นอกจากนี้ Parmita Sarma และ Mazin Mukhtar ยังได้รับการสนับสนุนเงินจากหลายองค์กรในเมืองเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ให้นำ ‘อักษะโมเดล’ มาส่งต่อความรู้ให้กับโรงเรียนต่างๆ ชักชวนให้โรงเรียนรัฐเข้าร่วมโครงการ เรียนรู้ระบบของโรงเรียนอักษะเป็นเวลา 6 เดือน โดยมีเป้าหมายสูงสุดว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของโรงเรียนรัฐทั้งหมดในอินเดียได้
References/อ้างอิง>>
Original post/ลิงค์ต้นฉบับ>>
โฆษณา