17 ก.ย. 2019 เวลา 11:34 • การศึกษา
“ลูกจ้างระวัง…ตบหน้าตัวเองระหว่างประชุม อาจถูกเลิกจ้างได้ !?”
การควบคุมอารมณ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมการทำงานที่ต้องพบปะกับผู้คนมากมาย หลากหลายอาชีพและต่างที่มา
1
Cr. pixabay
การแสดงออกที่ผิดพลาดต่อหน้าคนจำนวนมากนั้น อาจทำให้เราถูกตัดสินไปตลอดอาชีพการงานได้เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าการแสดงออกในครั้งนั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาดเพียงครั้งเดียวในชีวิตก็ตาม
เหมือนกับคุณพี่ท่านนี้ ซึ่งผมขอเรียกว่า
“พี่โจ๊ก” ซึ่งแม้ว่าจะมีประสบการณ์ทำงาน
มายาวนานจนได้รับความไว้วางใจให้เป็นถึง
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร แต่ด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบทำให้แสดงออกด้วยท่าทีที่ไม่เหมาะสมในการประชุมจนเป็นสาเหตุให้ถูกเลิกจ้างในเวลาต่อมา
อยากรู้แล้วใช่มั้ยครับ ว่าพี่โจ๊กแกแสดงท่าทีอย่างไร รุนแรงขนาดไหนถึงขนาดที่ทำให้ถูกเลิกจ้างได้ เรามาดูกันเลยดีกว่า
พี่โจ๊กเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เริ่มงานกับบริษัทเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 273,145 บาท ต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2557 พี่โจ๊กถูกบริษัทเลิกจ้าง แกเลยเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงานเพื่อขอให้จ่ายค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ค่าขาดรายได้ ฯลฯ รวมเป็นเงิน 105,753,133 บาท
ฝ่ายบริษัทซึ่งเป็นจำเลยได้ให้การต่อศาลว่า สาเหตุที่เลิกจ้างเนื่องจากโจทก์มีจิตใจและอารมณ์อ่อนไหวรุนแรง โดยในระหว่างการประชุมโจทก์พูดทำนองว่าหากตนเองผิดก็จะลงโทษตัวเอง “พร้อมกับตบหน้าตัวเอง 2 – 3 ครั้ง" โจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงแต่กลับประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่เก็บอารมณ์ความรู้สึกต่อหน้าพนักงานและเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งยังพูดและ “ตบโต๊ะใส่นาย A ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล” ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกามีความเห็นว่า โจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูง รับผิดชอบด้านการจัดซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าให้แก่บริษัทจำเลย การจัดซื้อวัตถุดิบนับว่าเป็นขั้นตอนการผลิตสินค้าที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง หากปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้จำเลยผลิตสินค้ามาจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลธุรกิจของจำเลยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
การที่โจทก์ไม่สามารถควบคุมอารมณ์จนเป็นเหตุให้แสดงออกทางการกระทำที่ไม่เหมาะสมในการทำงาน ย่อมทำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอึดอัดใจ ส่งผลโดยตรงที่ทำให้การทำงานในความรับผิดชอบของโจทก์ขาดประสิทธิภาพและทำให้การประสานงานกับหน่วยงานอื่นของจำเลยหรือของบริษัทในเครือจำเลยขาดประสิทธิภาพ ย่อมทำให้การผลิตล่าช้าจนเป็นเหตุให้ธุรกิจของจำเลยเสียหายได้
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้าง “ที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอแล้ว” ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4045/2560)
เห็นแล้วใช่มั้ยครับ ว่าการแสดงออกด้วยอารมณ์โกรธเพียงครั้งเดียวกลับส่งผลเสียร้ายแรงขนาดไหน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วผมหวังว่าผู้อ่านคงจะนำเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนให้แก่ตัวเองและคนที่เรารักนะครับ
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา