26 ก.ย. 2019 เวลา 05:00 • ความคิดเห็น
ลดใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่? ถ้าเป็นไปได้ ใช้ให้น้อยดีที่สุด
เมื่อเดือนก่อนมีรุ่นพี่ที่รู้จักเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี และนี่คือภาพที่เขาถ่ายเก็บไว้และยื่นมาให้ดู บทสนทนาเริ่มจาก--
“วันที่ไปจันฯกินข้าวที่ร้านอาหารแถวชาดหาด กินเสร็จเลยอยากจะไปเดินเล่นซะหน่อย เห็นตั้งแต่ไกลว่ามีอะไรสะท้อนแสงอยู่เต็มไปหมด เดินไปใกล้ๆถึงเพิ่งเห็นว่าคือสิ่งเหล่านี้”
"เห็นไปแนวยาวไปตามชาดหายสุดสายตา"
"เดินดูไปเรื่อยๆก็พบว่ามีทุกอย่างเลย"
นี่คือคำว่าให้ภาพเล่าเรื่องของจริง เพราะแค่เห็นก็สะท้อนใจและเกิดคำถามขึ้นมากมาย เคยอ่านข้อความหนึ่งผ่านตาว่าขยะในทะเล 75% มาจากขยะบนบก เพราะฉะนั้นที่เรารณรงค์ว่าไม่ควรทิ้งขยะลงทะเลนั้นจะได้ผลแค่ราว 25% ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะเหล่านี้ด้วยซ้ำ
แปลว่าขยะทุกชิ้นที่เราผลิตขึ้นไม่ว่าจะทิ้งลงถังหรือไม่ก็มีโอกาสหลุดรอดไปลงทะเลได้อยู่ดี สาเหตุก็มาจากหลายอย่าง เช่น
• การจัดการขยะและการขนส่งที่ไม่ดีพอ ปลิวตกจากรถขยะ/เรือขยะ
• ขยะที่ถูกเผาอย่างไม่ถูกวิธี หรือ เผาในระบบเปิด กลายเป็นขยะชิ้นเล็กๆปลิวกระจายไปลงคลองหรือแม่น้ำ
• ภูเขากองขยะตามแหล่งต่างๆที่มีโอกาสกระจัดกระจายไปตามลมและฝน
ขยะมีอยู่มากมายรอบตัวเรา ดังนั้นแทนที่จะหวังพึ่งการกำจัดขยะอันเป็นปลายทางสุดท้าย สู้กำจัดขยะตั้งแต่เริ่มแรก คือไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดจะดีกว่าไหม
หลังจากที่คุยกันเรื่องขยะเหล่านี้ก็มีประเด็นหลากหลายไหลเข้ามาในบทสนทนา แต่ที่อยากจะเขียนถึงวันนี้คือเรื่อง 3R
Reduce : ลดการใช้ ⭐️⭐️⭐️
Reuse : ใช้ซ้ำให้มากที่สุด ⭐️⭐️
Recycle : ผ่านกระบวนการต่างๆ นำกลับมาใช้ใหม่ (ในรูปแบบเดิมหรือรูปแบบใหม่) ⭐️
ซึ่งอยากให้เรียงลำดับความสำคัญจากบนลงล่าง เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะมีการพูดถึงรีไซเคิลกันมาก หลายหน่วยงานพยายามหาวิธีรีไซเคิลขยะพลาสติกแต่จริงๆแล้วกระบวนการของการรีไซเคิลบางวิธีทำให้เกิดก๊าสไดออกซิน ซึ่งถือเป็นมลภาวะทางอากาศ pm2.5 เพราะเป็นควันก๊าซโมเลกุลเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้และเต็มไปด้วยสารพิษ
มนุษย์ใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดของโลกมาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นก่อนการใช้ชีวิตประจำวันโดยตระหนักถึงความสิ้นเปลืองบางอย่างอยู่เสมอแล้วลดใช้ให้น้อยที่สุด เช่น ปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ใช่ ไม่เปิดน้ำให้ไหลไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่กินข้าวเหลือทิ้ง ล้วนเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ส่งผลดีต่อโลกทั้งสิ้น
ถ้าเราลดปริมาณการใช้ก็แล้ว ใช้ซ้ำก็แล้วแล้ว ยังเหลือขยะพลาสติกก็ค่อยแยะขยะและทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อนำมาเข้าสู่วิธีการของรีไซเคิลเป็นทางเลือกสุดท้าย จะได้มีขยะหลุดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
กรมอุทยานฯสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
รูปนี้เป็นส่วนหนึ่งจากวิดีโอของกรมอุทยานฯสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช เป็นภาพขยะที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯช่วยกันเก็บมาจากทะเลในทุกๆวัน จะเห็นว่าส่วนใหญ่เต็มไปด้วยขวดน้ำพลาสติก ซึ่งขวดน้ำพลาสติกใสหรืออีกชื่อเรียกว่า ขวด PET เป็นพลาสติกที่มีอัตราการรีไซเคิลสูงเป็นอันดับต้นๆ เพราะแยกง่าย แต่ก็ยังเก็บจากทะเลได้เป็นปริมาณมาก
วันหลังเพจ EveryGreen คงได้เขียนเรื่องการรีไซเคิลเพิ่มเติม แต่วันนี้ขอเน้นเรื่องการ Reduce หรือ การใช้ให้น้อยที่สุด ก่อนนะคะ
ภาพสุดท้ายของวันนี้ คือแก้วและหลอดของกรีนเอง ถ่ายไว้นานแล้ว กรีนพกแก้วและหลอดส่วนตัวเวลาไปร้านกาแฟ หรือซื้อเครื่องดื่มตามร้านต่างๆ ล้างแล้วใช้ซ้ำมาได้ปีกว่าละ อย่างน้อยก็ลดแก้วพลาสติกไปได้หลายใบเลย
แต่ก็มีบ้างนะ วันไหนที่ไม่ได้พกแก้วมา แล้วอยากกินน้ำหวานก็จะหักห้ามใจ ถือเป็นการลดหวานไปในตัว แต่ถ้าวันไหนแพ้ใจตัวเองจริงๆก็จะซื้อแก้วที่ร้าน ไม่ได้เคร่งกับตัวเองเกินไป แต่ก็เกิดขึ้นน้อยมาก :)
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ ถ้าบทความนี้ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจพกแก้วส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่มตามร้านค้าก็จะดีมากเลยค่ะ ❤️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา