19 ก.ย. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา เชลล์ชวนชิม กับภารกิจแอบแฝง
นักชิมในอดีตหลายคน เวลาจะเลือกทานอาหาร Street Food สักร้าน
สิ่งแรกที่เขาจะมองหาคือ ป้ายการันตีความอร่อยที่ชื่อว่า เชลล์ชวนชิม
แต่แล้วอยู่ๆ เชลล์ชวนชิม ก็หายไปเฉยๆ จนมาวันนี้ป้าย เชลล์ชวนชิม
ได้กลับมาอีกครั้ง ด้วยวิธีคิดที่ แตกต่างไปจากเดิม
MarketThink เลยพามาสะกดรอยตำนาน ป้ายการันตีความอร่อยที่มีอายุ 58 ปี
ไล่ตั้งแต่ จุดเริ่มต้น - การหายไป - และการกลับมาครั้งใหม่
เชลล์ชวนชิม เกิดจาก ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งตอนนั้นทำงานในตำแหน่ง
ผู้จัดการส่งเสริมการขายและโฆษณา บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด
3
โดยมีความคิดที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมทำอาหารคนไทยจากที่นิยมใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงทำอาหาร เปลี่ยนมาเป็นการใช้แก๊สหุ้งต้ม ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้บริษัท เชลล์ฯ สามารถจะขายแก๊สได้มากขึ้น
เลยมาปรึกษาหาไอเดียกับ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์
จึงได้บทสรุปกันว่า เป็นการแนะนำร้านอาหารอร่อยๆ ทั่วประเทศ พร้อมติดป้าย “เชลล์ชวนชิม”
ทำให้ ณ เวลานั้น บริษัท เชลล์ฯ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตระเวนชิมร้านอาหารทั่วประเทศ
ร้านไหนอร่อยก็จะติดป้ายโลโก้ของ “เชลล์ชวนชิม” โดยยุคแรกเป็นรูปหอยเชลล์
ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นรูปชามลายคราม
1
อีกทั้งยังมีการเขียนแนะนำร้านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในยุคนั้น
ทั้ง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, นิตยสารฟ้าเมืองไทย และ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
แต่แล้วจุดเปลี่ยนของ “เชลล์ชวนชิม” ก็เกิดขึ้น
เมื่อผู้สนับสนุนหลักอย่างบริษัท เชลล์ฯ ขายกิจการแก๊สหุงต้ม ให้แก่ เวิลด์แก๊ส
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ทำให้ในเวลาต่อมา บริษัท เชลล์ฯ ตัดสินใจยกเลิกการสนับสนุน “เชลล์ชวนชิม” ในช่วงปี พ.ศ. 2554 เพราะตัวเองก็เลิกธุรกิจแก๊สหุงต้ม
1
ทำให้เวลานั้น มรว.ถนัดศรี เองก็เลือกจะเดินหน้าต่อแต่เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนัดศรีชวนชิม” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ (ปัจจุบันท่านเสียชีวิตในวัย 93 ปี)
เมื่อเวลาผ่านไป 8 ปี บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก็เลือกที่จะนำ เชลล์ชวนชิม กลับมาอีกครั้ง โดยให้ ม.ล. ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ลูกชายคนเล็กของ มรว. ถนัดศรี มารับหน้าที่ในการรีวิวร้านอาหาร
1
เพียงแต่ครั้งนี้รูปแบบนำเสนอเปลี่ยนไปจากหน้ากระดาษมาเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ผ่าน Facebook, YouTube, website โดยวางแผนที่จะแนะนำร้านอาหารอร่อยใหม่ๆ มากกว่า 100 ร้านภายในสิ้นปีนี้
ส่วนเป้าหมายการกลับมาของ “เชลล์ชวนชิม”ครั้งนี้
บริษัทฯ มีแผนการที่จะนำร้านอาหารที่ได้รับตราเชลล์ชวนชิม
มาเปิดให้บริการที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
1
ซึ่งวิธีคิดของบริษัท เชลล์ฯ ในการทำธุรกิจรีวิวร้านอาหาร
ก็ไม่ได้แตกต่างจากไอเดียตั้งต้นของ บริษัท มิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส
2
โดย มิชลิน ไกด์ มีจุดเริ่มต้นด้วยการรีวิว โรงแรมและร้านอาหาร ในประเทศฝรั่งเศสก่อน
โดยมีเป้าหมายแอบแฝงคือให้คนออกเดินทางโดยรถยนต์มากขึ้น
เพื่อเพิ่มยอดขายยางรถยนต์ให้แก่ตัวเอง
1
จากวันนั้นถึงวันนี้ มิชลินไกด์ กลับมาไกลเกินกว่าที่คิด เพราะมีการจัดอันดับ
ร้านอาหารและโรงแรมมากกว่า 40,000 แห่งในกว่า 24 ประเทศทั่วโลก
1
อีกทั้ง มิชลินไกด์ ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัท มิชลิน นอกจากขายยางรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก
เพราะรู้หรือไม่ว่าในปี 2560 ที่ มิชลิน ไกด์ มาติดดาวให้ร้านอาหารในกรุงเทพ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องจ่ายเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 131 ล้านบาท เป็นค่าลิขสิทธิ์ “มิชลิน สตาร์”
1
ส่วนการกลับมาของ เชลล์ชวนชิม ครั้งนี้จะทำได้เหมือน มิชลินไกด์ หรือไม่
ที่สามารถหารายได้จากธุรกิจรีวิวร้านอาหารได้อย่างมหาศาล
ก็คงขึ้นอยู่กับว่าบริษัทเชลล์ฯ จะจริงจังกับธุรกิจรีวิวร้านอาหารมากน้อยแค่ไหน ?
References : ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด, วิกิพีเดีย, shellshuanshim, ผู้จัดการ
1
โฆษณา