21 ก.ย. 2019 เวลา 10:55
พระอรหันตธาตุบูรพาจารย์ วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย
พระสุธรรมเจดีย์ เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
บนถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑๑ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างจ.เลยและจ.หนองคาย เป็นเส้นทางที่สวยเลียบแม่น้ำโขงสายนี้ มีวัดสำคัญๆ ตั้งอยู่หลายแห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือวัดอรัญญบรรพต
พระพุทธรูป ภายในพระสุธรรมเจดีย์
วัดนี้มีพระสุธรรมเจดีย์ เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ซึ่งก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อถวายหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา ปัจจุบัน ท่านได้มรณภาพแล้วเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘
พระอรหันตธาตุบูรพาจารย์
พระสุธรรมเจดีย์ ได้เก็บรวบรวมสิ่งหนึ่งที่หาชมกันได้ยาก แต่ก็ไม่ควรยึดติดถือมั่น ควรถือเพียงว่า พระธาตุทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์ของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้แก่ อัฐิธาตุของพระบูรพาจารย์ พระอรหันตธาตุ และพระธาตุชนิดต่างๆ แสดงอยู่ในตู้กระจกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับองค์พระพุทธรูปในพระสุธรรมเจดีย์
อัฐิธาตุหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พระธาตุคือ กระดูกหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ที่มีคุณลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไป โดยมีลักษณะคล้าย "ธาตุ" ซึ่งหากมองโดยไม่สังเกตแล้ว ก็คล้ายกรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ
อัฐิธาตุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
การบูชาพระธาตุนั้น นอกเหนือจากจะบูชาด้วย "อามิสบูชา" คือการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องหอมต่างๆ แล้ว การบูชาด้วยการ "ปฏิบัติบูชา" เป็นอีกวิธีที่ควรปฏิบัติตามแนวอริยมรรค ๘ ประการ คือ
อัฐิธาตุหลวงปู่หลวง กตปุญโญ
๑. สัมมาทิฐิ (คิดชอบ) หมายถึง ความเห็นที่ถูกต้อง ที่ชอบตามทํานองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
อัฐิธาตุหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) หมายถึง มีความคิดที่ถูกต้อง ไม่โลภโกรธหลง เข้าถึงความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียน และไม่มักมากในกาม
อัฐิธาตุหลวงปู่สิม พุทธาจาโร
๓. สัมมาวาจา (วาจาชอบ) หมายถึง การมีวจีสุจริต ๔ ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย การเว้นจากการพูดเท็จ พูดหยาบคาย พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ
อัฐิธาตุหลวงปู่คูณ สิริวัณโณ
๔. สัมมากัมมันตะ (ปฏิบัติชอบ) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์สินผู้อื่น และการไม่ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
อัฐิธาตุหลวงปู่บัวสา สนติกโร
๕. สัมมาอาชีวะ (หาเลี้ยงชีพชอบ) หมายถึง ประกอบสัมมาอาชีพในทางถูกต้อง สุจริต ไม่คดโกง และไม่หาเลี้ยงตนในทางมิจฉาชีพทั้งปวง
อัฐิธาตุหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
๖. สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) หมายถึง ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง ตั้งใจประคองจิตใจตนเอง ที่จะป้องกันมิให้อกุศลธรรมอันลามก ที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น ละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว และทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น
อัฐิธาตุหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
๗. สัมมาสติ (สติชอบ) หมายถึง การมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นตลอดว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน หรือในทางปฏิบัติธรรม เราเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ อันประกอบไปด้วย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อัฐิธาตุหลวงปู่ขาว อนาลโย
๘. สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ) หมายถึง คือความตั้งใจมั่นโดยถูกทาง ความตั้งมั่นแห่งกุศลจิตในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิที่มีรากฐานจากการกำหนดรู้ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม
อัฐิธาตุหลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
นอกจากนี้ การบูชาพระธาตุยังได้ประโยชน์ในด้านเป็นอนุสติ ๑๐ (ความระลึกถึงอารมณ์อันควรระลึกถึง) อีกด้วยคือ
๑. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า) คือน้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์
๒. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม) คือน้อมจิตระลึกถึง และพิจารณาคุณของพระธรรม
อัฐิธาตุหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
๓. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์) คือน้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์
๔. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล) คือน้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตน ที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย
๕. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค) คือน้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรม ความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน
อัฐิธาตุหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
๖. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา) คือน้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน
๗. มรณาสติ (ระลึกถึงความตาย) อันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา และพิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท
๘. กายคตาสติ (สติอันเป็นไปในกาย) คือกำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา
อัฐิธาตุหลวงปู่ทองพูล สิริกาโม
๙. อานาปานสติ (สติ) คือกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
๑๐. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ) คือระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์
อัฐิธาตุหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ
และสุดท้ายในทริปนี้ของตัวเอง ที่ได้จากการพิจารณาพระอรหันตธาตุบูรพาจารย์ ที่ผู้ตั้งใจรวบรวมและรักษา ต้องการจะสื่อออกมา น่าจะเป็น "ไม่ควรยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ดังเช่นพระอริยะ แม้สิ้นร่าง ก็ยังเหลือธรรม"
เจริญในธรรมทุกท่าน 😊😊😊
ที่มาของข้อมูล : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
วัดอรัญญบรรพต ถ.ศรีเชียงใหม่-สังคม ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
เรียบเรียง/ภาพ : ออมศีล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา