25 ก.ย. 2019 เวลา 11:59 • กีฬา
นี่คือตอนจบของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในวงการกีฬา การกระโดดครั้งสำคัญของดิ๊ค ฟอสบิวรี่ ที่เปลี่ยนแปลงโลกของกรีฑาไปตลอดกาล
1
ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว เลื่อนไปอ่าน Part 1 ก่อนนะครับ อยู่ในโพสต์ก่อนหน้านี้ 1 โพสต์ครับ เพื่อความต่อเนื่องของเนื้อเรื่องนะครับ
1 ปีแห่งความทรมานของดิ๊ค ฟอสบิวรี่มาถึง
สถิติในสมัยมัธยมของเขาคือ 197 เซ็นติเมตร ถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว เทียบกับสถิติโอลิมปิกในขณะนั้นอยู่ที่ 218 เซ็นติเมตร เท่ากับว่า ช่องว่างระหว่างเขา กับเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ห่างกันแค่ 21 เซ็นติเมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาที่ให้ไว้กับโค้ชเบอร์นี่ ว้ากเนอร์ คือเขาต้องเปลี่ยนจากท่า Fosbury Flop มาใช้ท่า Straddle
1
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของขาลงในชีวิตของฟอสบิวรี่
1
สถิติการกระโดดของฟอสบิวรี่ ในช่วงปี 1 ของมหาวิทยาลัยโอเรกอน เขากระโดดได้เพียง 175 ซม.เท่านั้น
เขาพยายามทำท่า Straddle แต่ก็ไม่สามารถจัดระเบียบร่างกายได้เสียที คือกระโดดได้สูงนะ แต่ในจังหวะม้วนขาให้พ้นคาน เขาทำไม่ได้ จะไปเกี่ยวคานร่วงตลอด
ยิ่งกระโดด สถิติก็ยิ่งลดถอยลงเรื่อยๆ จนโค้ชมองว่า หรือฟอสบิวรี่ จะเอาดีทางการกระโดดสูงไม่ได้
โค้ชว้ากเนอร์จับเขาไปแข่งขันวิ่งกระโดดข้ามรั้ว และ แข่งเขย่งก้าวกระโดด กลายเป็นปีแห่งความจับฉ่าย ฟอสบิวรี่ซ้อมกีฬามั่วไปหมด
1
"ทุกครั้งที่เขามาสนามซ้อม ผมรู้เลยว่าเขารู้สึกเศร้า" ดั๊ก สวีต เพื่อนร่วมทีมกรีฑาเล่า "โค้ชเบอร์นี่ไม่ได้สังเกตเลยว่า มันเสียเวลาไปเปล่าๆ เมื่อบังคับให้ฟอสบิวรี่ใช้ท่า Straddle"
1
สำหรับฟอสบิวรี่ จากเด็กหนุ่มที่มีแวว ชื่อของเขาเริ่มหายไปจากสารบบ ของวงการกระโดดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ามันอึดอัดขนาดนั้น แล้วทำไมฟอสบิวรี่ไม่กลับไปใช้ท่า Fosbury Flop ล่ะ?
1
ใช่ เขาอยาก แต่อย่าลืมว่าเขาให้สัญญากับโค้ชไปแล้วว่า จะขอรับทุนของมหาวิทยาลัย แลกกับการใช้ท่า Straddle
ในขณะที่ชีวิตในสนามกรีฑาอยู่ในขาลง แต่ในห้องเรียน ในฐานะนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ เขากลับทำได้ดีมากๆ แม้แต่อาจารย์ในคณะก็ยังชื่นชมว่าฟอสบิวรี่สามารถเป็นวิศวกรที่ดีได้แน่
ฟอสบิวรี่มองเห็นอนาคตหลังจากเรียนจบ ถ้าเขาเอาดีสายกรีฑาไม่ได้ ก็ยังสามารถเอาความรู้วิศวะไปประกอบอาชีพได้
ดังนั้นเขาจึงไม่อยากเสียทุนการเล่าเรียนไป พ่อแม่ของเขาก็ไม่ได้ร่ำรวยมาจากไหน ถ้าหากไม่มีทุนการศึกษา คงไม่สามารถส่งเขาเรียนจบมหาวิทยาลัยได้แน่
ฟอสบิวรี่จึงอดทนใช้ Straddle ต่อไป แม้มันจะทำให้สถิติของตัวเองร่วงลงมาเรื่อยๆก็ตาม
1
ผ่านไป 1 ปี ฟอสบิวรี่ขึ้นมหาวิทยาลัยปี 2
ชมรมกรีฑาต้อนรับเด็กใหม่ปี 1 เข้ามาสู่ทีม และหนึ่งในนั้นคือจอห์น ราเดติช น้องใหม่ที่มาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เด็กคนนี้พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม
"ผมตั้งใจว่าจะขึ้นเป็นมือ 1 ของทีมกระโดดสูงภายในปีนี้" ราเดติชกล่าวอย่างไม่ไว้หน้า เขาไม่มองฟอสบิวรี่ในสายตาด้วยซ้ำ
"ผมใช้ท่าอะไรน่ะหรอ? ต้อง Straddle อยู่แล้ว อีกท่านึง เขาเรียกอะไรนะ ที่นอนหลังแอ่นข้ามรั้ว มันตลกเกินไป ผมไม่ใช้มันหรอก"
ราเดติช ไม่ได้เอ่ยชื่อมาตรงๆถึงฟอสบิวรี่ แต่ทั้งโลกมีฟอสบิวรี่ใช้ท่านั้นอยู่คนเดียว มันก็คือการแขวะรุ่นพี่นั่นแหละ
การแข่งขันแย่งมือ 1 ในทีมกระโดดสูงจึงเริ่มขึ้น ปรากฏว่า ด้วยท่า Straddle มันเห็นผลกันแต่แรกอยู่แล้ว
3
ฟอสบิวรี่ ทำความสูงได้ 175 ซม. ส่วนราเดติช ทำได้ 208 ซม. ห่างกันเกิน 1 ไม้บรรทัด
1
"ถ้าให้ผมทำนายว่าใครจะได้เหรียญทองโอลิมปิก ผมคงพนันข้างราเดติช" ชัค แม็คนีลผู้ช่วยโค้ชของมหาวิทยาลัยโอเรกอน ยอมรับ "ราเดติชมีร่างกายที่แข็งแรงกว่า และมีจังหวะสปริงตัวที่ดีกว่า"
1
มกราคม 1967 ชีวิตมหาวิทยาลัยปี 2 ของฟอสบิวรี่ ตกต่ำทุกอย่าง ในทีมกรีฑาเขากลายเป็นตัวสำรองของรุ่นน้อง
1
การเรียนที่คณะวิศวะก็ยากยิ่งขึ้น เขาได้ GPA 2.0 ผ่านเกณฑ์พอดีเป๊ะ เกือบจะโดนรีไทร์
เคราะห์ซ้ำเมื่อแฟนสาว มาราลี่ สเต็ดแมน ที่คบกันมา 2 ปี ก็ทิ้งเขาไปอีก โดยบอกว่าคิดกับฟอสบิวรี่แค่เพื่อนเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกรักเหมือนเดิมอีกแล้ว
เขาเริ่มเข้าผับดื่มเบียร์มากขึ้น และซ้อมกีฬาน้อยลง ในจุดนั้นไม่มีใครคิดว่า ฟอสบิวรี่จะกลับมาได้
1
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1967 เมื่อโค้ชเบอร์นี่ ว้ากเนอร์ เห็นความผิดปกติของฟอสบิวรี่ จึงเข้าไปคุยด้วยเป็นการส่วนตัว
"ฉันไม่เห็นนายซ้อมหนักเหมือนเดิม และแต่ละครั้งที่นายซ้อมก็ดูเหมือน นายไม่มีสมาธิกับตัวเลยนะ"
"นายโชคดี ที่ได้รับทุนการศึกษา แต่ถ้าอะไรยังเป็นแบบนี้อยู่ มหาวิทยาลัยก็อาจยกเลิกทุนในปีต่อไปได้เหมือนกัน"
เมื่อว้ากเนอร์พูดจบ ฟอสบิวรี่ ทรุดลงไปอย่างหมดแรง และเอามือกุมไปที่หน้า เขาสารภาพไปทุกอย่าง ว่าเขาพยายามเต็มที่แล้ว กับท่า Straddle แต่มันไปไม่ถึงไหนจริงๆ
ฟอสบิวรี่ ที่ดูนิ่งเงียบมาตลอด ระบายความรู้สึกออกมา ทำให้โค้ชรู้ได้ว่า ตัวเองอาจบีบคั้นเด็กมากเกินไป ให้ทำในวิธีที่ตัวเองต้องการอย่างเดียว
1
"โค้ช ตอนนี้ชีวิตผมมีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องเรียน ที่คณะวิศวะก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ใจผมก็ยังทุ่มเทเต็มที่กับกรีฑานะ สิ่งที่ผมอยากจะขอโค้ช มีอย่างเดียว คือแค่สักครั้งได้ไหม ให้ผมได้ใช้ท่า Fosbury Flop ในการแข่งเถอะ"
5
ว้ากเนอร์ ยังคงเชื่อมั่นว่าท่า Straddle คือท่าที่ดีที่สุด หลักฐานคือ นักกีฬาระดับโลก ทุกคนใช้ท่านี้หมด แต่คำขอร้องอย่างจริงใจจากฟอสบิวรี่ ทำให้เขายอมใจอ่อน
1
"โอเค ลองดูสักครั้งแล้วกัน" โค้ชว้ากเนอร์ตกลง
1
ปลายเดือนมีนาคม 1967 การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยที่เมืองเฟรสโน่ รัฐแคลิฟอร์เนีย โค้ชว้ากเนอร์ส่งฟอสบิวรี่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตต
1
ฟอสบิวรี่เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี เขาจะกลับมาใช้ท่าฟล็อป เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง
1
ฟอสบิวรี่ กระโดดได้ 208 เซ็นติเมตร เป็นสถิติสูงสุดที่เขาทำได้ และคว้าเหรียญทองในการแข่งขัน
โค้ชว้ากเนอร์ เมื่อเห็นผลการแข่งขัน และเห็นรอยยิ้มของฟอสบิวรี่ จึงเดินมาหาแล้วบอกว่า "โอเค เราจะลืมท่า Straddle ไปซะ การทดลองจบลงแล้ว มันไม่เวิร์ค แต่จากนี้ ฉันจะศึกษานาย ถ่ายวีดีโอนายทุกการกระโดด และมาหาวิธีพัฒนาให้นายเก่งขึ้น ด้วยการกระโดดแบบฟล็อปกัน"
"แม้ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แต่บางที นายอาจกำลังเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่อยู่"
1
จากวันนั้นฟอสบิวรี่ กลับมาใช้ท่ากระโดดแบบฟล็อป แต่เขาก็ต้องทนเสียงวิจารณ์จากสื่อมวลชนที่ดูถูกสารพัด
"ฟอสบิวรี่ วัย 20 นักศึกษาปี 2 เขาคือเจ้าของท่ากระโดดที่ตลกที่สุดในชีวิตที่คุณเคยเห็น" จอร์จ มายเยอร์ คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ซีแอตเติ้ล ไทม์ส เขียน
"นักกระโดดสูงที่ขี้เกียจที่สุดในโลก" นสพ.ลอสแองเจลิส เฮรัลด์ วิจารณ์อย่างขบขัน เพราะท่ากระโดดมันเหมือนนอนแผ่หลากลางอากาศ ไม่ได้ดูดุดันมีพลังเหมือนท่า Straddle
ถึงตรงนี้ ชื่อเสียงของฟอสบิวรี่ ก็โด่งดังมากๆในฐานะเจ้าของท่าประหลาด ผู้คนชอบดูเขา เพราะท่ามันสวยดี ไม่เหมือนใคร แต่ในมุมของ สื่อมวลชน และคณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐฯ กลับไม่ค่อยเชื่อมือเท่าไหร่ คิดว่าเป็นแค่ตัวฮาประจำการแข่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ฟอสบิวรี่ กับโค้ชว้ากเนอร์ก็ไม่สน พวกเขายึดมั่นใน Fosbury Flop ต่อไป และสถิติของฟอสบิวรี่ก็ขยับขึ้นมาเป็น 210 เซ็นติเมตร เขาอยู่ห่างจากสถิติเหรียญทองโอลิมปิกครั้งล่าสุด แค่ 8 ซม.เท่านั้น
2
ตอนนี้ ฟอสบิวรี่ แซงหน้า น้องปี 1 ในชมรม จอห์น ราเดติช ขึ้นมาเป็นมือ 1 อีกครั้ง
ตลอด 2 ปี ฟอสบิวรี่ พัฒนาสถิติขึ้นมาเรื่อยๆ แม้จะโดนหัวเราะเยาะในทุกสนามที่เขาไปแข่งก็ตาม
เข้าสู่วันที่ 29 มิถุนายน 1968 การแข่งขันที่สำคัญที่สุดมาถึง คือการทัวร์นาเมนต์ที่ลอสแองเจลิส ซึ่งแม้ไม่เคยมีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คนในวงการก็รู้กันว่า แชมป์ของรายการนี้ จะเป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งโอลิมปิก
2
เวลานั้น โดยฟอสบิวรี่ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 4 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เขามีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งร่างกายและจิตใจ
1
ในการแข่งที่แอลเอ นักกีฬาทั่วประเทศไม่จำกัดอายุ ต่างมาคัดตัวกันถ้วนหน้า โดยตามธรรมเนียมแล้ว ผู้มีสถิติดีที่สุด อันดับ 1-3 จะถูกเลือกไปแข่งโอลิมปิกที่เม็กซิโก ในวันที่ 12 ตุลาคม 1968 ต่อไป
แน่นอน สำหรับนักกรีฑา ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าโอลิมปิกอีกแล้ว มันคือความฝันอันสูงสุด ดังนั้นบรรยากาศการแข่งจึงเต็มไปด้วยความตึงเครียด
ครั้งนี้ ฟอสบิวรี่ ต้องเจอคู่แข่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลิว ฮอยต์ นักกีฬาของทหารเรือ, เรย์นัลโด้ บราวน์ เด็กอัจฉริยะวัย 17, เอ๊ด คารูเธอร์ส ตัวแทนทีมชาติเมื่อโอลิมปิกครั้งก่อน รวมไปถึงรุ่นน้องในชมรม จอห์น ราเดติช ก็มาแข่งขันด้วย
การแข่งขันดำเนินไปเรื่อยๆ สุดท้าย มีนักกีฬา 6 คน ทำความสูงได้ 210 เซ็นติเมตร แต่ไม่มีใครไปไกลกว่านั้น
2
จนมาถึงคิวของดิ๊ค ฟอสบิวรี่ เขาเรียกความสูง 216 ซม.
ครั้งแรกฟอสบิวรี่กระโดดไม่ผ่าน จนมาถึงครั้งที่ 2 เขารวมสมาธิใหม่ และกระโดด ยกก้น สปริงขา ข้ามบาร์ไปอย่างเพอร์เฟ็กต์ ฟอสบิวรี่คว้าแชมป์ด้วยสถิติ 216 ซม.
1
ในที่สุดเขาก็ทำได้ ลบคำสบประมาทของทุกคนได้ และคว้าตั๋วโอลิมปิกได้สำเร็จ! ครอบครัวของเขาทุกคนดีใจกันลิงโลด ในที่สุด ท่ากระโดดที่ใครๆก็ว่าประหลาด สามารถเอาชนะนักกระโดดสูงทั้งประเทศได้แล้ว
2
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปแค่ 1 เดือน คณะกรรมการโอลิมปิก หักมุมคนทั้งวงการ เมื่อประกาศว่า การแข่งที่แอลเอ ที่ฟอสบิวรี่ชนะ ไม่ได้ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่า ใครจะได้ไปโอลิมปิก
1
ไม่เคยมีกฎไหนที่บอกว่าผู้ชนะที่แอลเอ จะได้ไปโอลิมปิก มีแต่แฟนๆและสื่อมวลชนที่ตีความกันไปเอง
คณะกรรมการโอลิมปิก ประกาศว่าการแข่งขันรายการอีโค่ ซัมมิต ที่เลก ทาโฮ ในวันที่ 6 กันยายน 1968 ต่างหาก ที่จะเป็นรายการตัดสินว่านักกีฬาคนไหนจะได้สิทธิไปแข่งที่เม็กซิโก
มีคนวิจารณ์ว่า สาเหตุที่คณะกรรมการเลือกแบบนี้ เพราะฟอสบิวรี่ชนะนั่นแหละ ใครจะยอมปล่อยให้ตัวโจ๊กไปแข่งในฐานะทีมชาติได้ ที่ชนะในแอลเอ อาจจะเป็นช็อตฟลุ้กก็ได้ ดังนั้นต้องมีการทดสอบใหม่อีกรอบ
สภาพจิตใจของฟอสบิวรี่นั้นย่ำแย่มาก "ผมคิดว่าตัวเองได้เป็นตัวแทนทีมชาติแล้วเสียอีก"
อย่างไรก็ตาม โค้ชว้ากเนอร์ พยายามกระตุ้นให้ฟอสบิวรี่ได้คิดว่า ต่อให้คนอื่นจะพยายามขัดขวางอย่างไรก็ช่าง ขอแค่เขาคว้าชัยชนะอีกครั้งในการแข่งที่เลก ทาโฮ ก็ยังได้ไปโอลิมปิกอยู่ดี เขาชนะคนอื่นมาแล้วรอบนึง แล้วทำไมจะชนะไม่ได้อีก
1
และในที่สุดเมื่อการแข่งขันมาถึง ฟอสบิวรี่ สามารถทำได้จริงๆ เขาคว้าสิทธิตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ ร่วมกับ เอ็ด คารูเธอร์ส นักกระโดดสูงผิวดำ วัย 23 ปี
โอลิมปิกเกมส์ที่เม็กซิโก ซิตี้ ทั้งโลกจะได้เห็น Fosbury Flop
การแข่งขันโอลิมปิก ที่เม็กซิโก ซิตี้ มาถึง บรรยากาศในแคมป์ทีมชาติ นั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด
เอ็ด คารูเธอร์ส ตัวแทนสหรัฐฯอีกคน ไม่ค่อยชอบหน้าดิ๊ค ฟอสบิวรี่เท่าไหร่ เขามองว่าฟอสบิวรี่ คือตัวโจ๊ก ที่จะทำลายชื่อเสียงของวงการกรีฑาด้วยซ้ำ
ในขณะที่ฟอสบิวรี่ เป็นนักกรีฑาที่สูงโย่ง ผอมแห้ง มีความเป็นเด็กเนิร์ด และมีความฝันอยากเป็นวิศวกร แต่คารูเธอร์ส เป็นนักกีฬาพันธุ์แท้ ก่อนจะมาเล่นกรีฑา เขาเล่นอเมริกันฟุตบอลมาก่อน ร่างกายเขากำยำแข็งแกร่ง และมีความเร็วแบบที่ฟอสบิวรี่ไม่มี
2
"ผมเล่นทั้งอเมริกันฟุตบอล และบาสเกตบอล แต่ฟอสบิวรี่ ไม่ติดทีมบาส หรืออเมริกันฟุตบอล ในระดับมัธยมด้วยซ้ำ ที่สำคัญเขาทำ Straddle ไม่เป็น เขาเป็นแค่เด็กฮิปปี้สติเฟื่องเท่านั้น"
1
ดังนั้นในการแข่งครั้งนี้ นอกเหนือจากจะแข่งกับประเทศอื่นแล้ว ระหว่าง ฟอสบิวรี่ กับ คารูเธอร์ส มันเป็นเหมือนการแข่งขันของคนสองขั้ว
คนหนึ่งเป็นนักกีฬาขนานแท้ มีทั้งพลัง และความเร็ว ใช้ท่า Straddle ที่ทั้งโลกใช้กัน
ส่วนอีกคน เป็นนักศึกษาวิศวะ ผอมแห้ง ร่างกายไม่แข็งแกร่ง และใช้ท่า Fosbury Flop ที่ไม่มีใครในโลกใช้เลย
1
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของกระโดดสูง มีขึ้นวันที่ 20 ตุลาคม ที่สนามอัซเตก้า ท่ามกลางคนดู 8 หมื่นคน บรรยากาศในการแข่งไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบได้
2
ตัวเต็งในการแข่งคือ เอ็ด คารูเธอร์ส กับ วาเลนติน กาฟริลอฟ จากโซเวียต ขณะที่ฟอสบิวรี่มีการประเมินว่า จบเหรียญทองแดงได้ก็หรูแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งคนที่มั่นใจว่า ฟอสบิวรี่ จะไม่จบแค่ทองแดง คนนั้นคือ โค้ชเบอร์นี่ ว้ากเนอร์
1
"ผมคิดว่า เขาจะได้เหรียญทอง"
สถิติโอลิมปิก ก่อนการแข่งขันอยู่ที่ 2.18 เมตร ทำขึ้นโดยวาเลรี่ บรูเมล จากโซเวียต ในปี 1964
นี่เป็นตัวเลขที่น่ากลัว มนุษย์คนหนึ่ง จะกระโดดได้สูงถึง 2.18 เมตรเลยหรือนี่
การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น คู่แข่งรายอื่นๆ ค่อยๆแผ่วไป จนเหลือม้าแค่ 3 ตัวเท่านั้น คือ ฟอสบิวรี่ , คารูเธอร์ส และ กาฟริลอฟ
2.14 เมตร
- ฟอสบิวรี่ ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 1)
- คารูเธอร์ส ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 3)
- กาฟริลอฟ ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 1)
1
2.18 เมตร
- ฟอสบิวรี่ ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 1)
- คารูเธอร์ส ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 3)
- กาฟริลอฟ ข้าม (ไปกระโดด 2.20 เมตรเลย)
ถึงตรงนี้ ทั้งฟอสบิวรี่ และ คารูเธอร์ส ทำสถิติโอลิมปิกเทียบเท่าของเดิมแล้ว แต่ด้วยศักยภาพที่มี พวกเขายังไปได้อีก
2.20 เมตร
- ฟอสบิวรี่ ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 1)
- คารูเธอร์ส ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 3)
- กาฟริลอฟ ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 1)
1
ทั้ง 3 คนกลายเป็นเจ้าของสถิติร่วมของกระโดดสูงชายในโอลิมปิก ถึงตรงนี้ยังเดาไม่ได้ว่าใครจะได้เหรียญทอง โดยสเต็ปความสูงต่อไป คือ 2.22 เมตร
- ฟอสบิวรี่ ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 1)
- คารูเธอร์ส ผ่าน (กระโดดครั้งที่ 2)
- กาฟริลอฟ ไม่ผ่าน
ในตอนนี้ คู่แข่งจากโซเวียตตกรอบไปแล้ว 1 คน เท่ากับว่าเป็นการดวลกันของ ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ กับ เอ็ด คารูเธอร์ส สองคนสองขั้ว ต่างเรียกความสูงที่ 2.24 เมตร
1
ในประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาสหรัฐฯ ไม่เคยมีใครผ่านกำแพง 2.24 เมตรได้มาก่อน แต่ทั้งฟอสบิวรี่ และ คารูเธอร์ส กำลังจะท้าทายกำแพงนั้น
คารูเธอร์ส วิ่งใช้ท่า Straddle ในการกระโดดครั้งแรก ปรากฏว่าไม่ผ่าน สลับมาเป็นฟอสบิวรี่ครั้งแรก ก็ไม่ผ่านเช่นกัน
มาครั้งที่ 2 คารูเธอร์สก็ยังไม่ผ่านอีก เช่นกัน ครั้งที่ 2 ของฟอสบิวรี่ เขาชนคานล้มลงมา ความสูงระดับ 2.24 เมตรมันยากจริงๆ
เข้าสู่การกระโดดครั้งที่ 3 ครั้งนี้ สำหรับคารูเธอร์ส สำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่ผ่านฟอสบิวรี่จะการันตีเหรียญทองทันที เนื่องจาก กฎของการกระโดดสูงนั้น ถ้าหากทำความสูงเท่ากัน จะย้อนไปดูว่าตลอดทัวร์นาเมนต์ ใครชนคานล้ม จำนวนครั้งน้อยกว่า ซึ่ง ฟอสบิวรี่พลาดน้อยกว่า
ปรากฏว่า คารูเธอร์ส กระโดดไม่ผ่าน เป็นครั้งที่ 3 ตอนนี้เหรียญทองเป็นของฟอสบิวรี่แน่นอนแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับดิ๊ค ฟอสบิวรี่ เขาไม่พอใจแค่เหรียญทองโอลิมปิกเท่านั้น เขาต้องการสร้างบางอย่าง ให้คนได้จดจำไปตลอดกาล
เขาต้องการให้โลกได้เห็นว่าสถิติโอลิมปิกของกระโดดสูง สามารถสร้างได้ด้วยท่า Fosbury Flop ที่เขาเคยโดนหัวเราะเยาะมาทั้งชีวิต
ดังนั้นเหรียญทองยังไม่พอ แต่เขาอยากสร้างสถิติโอลิมปิก
ในการกระโดดครั้งสุดท้าย ฟอสบิวรี่ ยืนกำหมัดแน่น เขาก้มหน้ารวบรวมสมาธิทั้งหมด การเดิมพันของชีวิตเขาอยู่ที่การกระโดดครั้งนี้
1
คุณแม่ของฟอสบิวรี่ เฮเลน อยู่ที่สแตนด์ในวันนั้น เธอกำหมัดตามลูกชายไปด้วย จากเด็กคนที่เล่นกีฬาอะไรก็ไม่เป็นสักอย่าง ตอนนี้เขากำลังเดิมพันกับหน้าประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก
ที่รัฐโอเรกอน ในสหรัฐฯ ร้านคาเฟ่ใกล้มหาวิทยาลัยเปิดทีวีถ่ายทอดสด และมีนักศึกษาหลายร้อย รุมดูทีวีจอเดียว ทุกคนส่งใจเชียร์รุ่นพี่ฟอสบิวรี่ ให้ทำได้
"แกทำได้" ฟอสบิวรี่บอกกับร่างกายตัวเอง เขายืนนิ่งๆเขย่าตัวอยู่ 37 วินาที ในหัวของเขาคิดถึงภาพจรวดที่กำลังจะทะยานขึ้นสู่อวกาศ จากนั้นก็เริ่มนับถอยหลัง
3
2
1
... ไปเลย
ฟอสบิวรี่ วิ่งทะยานไปสู่เป้าหมาย ทั้งสนามเงียบกริบ เป็น 0.9 วินาทีที่เงียบที่สุดในการแข่งขัน
ฟอสบิวรี่กระโดดเหินฟ้า ปล่อยลำตัวให้โค้ง ขยับสะโพกให้พ้น และสุดท้ายดีดขาของตัวเองให้พ้นบาร์ที่ตั้งตระหง่านอยู่
ฟอสบิวรี่ กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางทั้งหมด ลงมาที่เบาะ คานด้านหลังไม่ขยับเลยแม้แต่นิดเดียว
แฟนๆที่อัซเตก้าปรบมืออย่างบ้าคลั่ง ขณะที่ฟอสบิวรี่ ทำอะไรไม่ถูก เขาไม่ได้ชูมือสะใจ ไม่ได้แหกปากอะไรเลย เขาแค่หันไปดูบาร์อีกครั้งว่ามันไม่หล่นมาจริงๆ
ใช่ มันไม่หล่น และเขาเพิ่งสร้างสถิติโอลิมปิกไป ด้วยความสูง 2.24 เมตร ด้วยท่าที่เขาคิดค้นขึ้นเอง Fosbury Flop
1
ผ่านไปหลายวินาที ฟอสบิวรี่ เริ่มรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ที่เขาสร้างขึ้น เขาหันไปดูสกอร์บอร์ด และเห็นตัวเลข 2.24
ถึงตรงนั้นฟอสบิวรี่ ตะโกนแหกปากออกมา "ทำได้แล้วโว้ยยย!"
และในมุมหนึ่งที่สแตนด์ โค้ชเบอร์นี่ ว้ากเนอร์ ชูกำปั้นขึ้นฟ้าด้วยความสะใจ เขาก็บอกแล้วก่อนแข่งจำได้ไหม ว่าฟอสบิวรี่ จะได้เหรียญทอง
จากท่าทางที่ทุกคนหัวเราะเยาะ มาตอนนี้ไม่มีใครตลกอีกแล้ว
"ไม่มีนักกรีฑาคนไหนในโอลิมปิกครั้งนี้ จะได้เสียงเชียร์จากแฟนๆ ทั้งในสนาม และหน้าจอทีวี มากเท่ากับดิ๊ค ฟอสบิวรี่อีกแล้ว เขาคือสถาปนิกผู้ออกแบบท่ากระโดดอันงดงาม ที่เรารู้จักกันในชื่อ Fosbury Flop" อาเธอร์ เดลีย์ นักข่าวคนดังจาก นิวยอร์ก ไทม์ส เขียนบทความสดุดี
1
ขณะที่ฟอสบิวรี่ ก็ถูกนักข่าวกีฬาทั้งโลกรุมถามรัวๆ ว่า เขาคิดค้นท่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร และมีวิธีการฝึกซ้อมแบบไหน
2
จากที่เคยถูกมองข้าม ท่าของฟอสบิวรี่ กลายเป็นอาวุธที่นักกีฬากระโดดสูงทั้งโลกต้องศึกษา เพราะมันเห็นชัดๆว่าได้ผลดีจริงๆ
สำหรับฟอสบิวรี่ หลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิก เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่จุดสูงสุดของโลกแล้ว จึงตัดสินใจอำลาวงการไปอย่างสง่างาม ก่อนจะกลับไปเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์
ในปี 1972 ฟอสบิวรี่ ได้ปริญญา วิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สเตต ก่อนจะออกไปเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ กาเลน่า เอ็นจิเนียริ่ง เขามีอาชีพที่มั่นคง แต่ก็แน่นอน แม้จะเป็นวิศวกร แต่ก็ยังไม่เคยมีใครลืม ว่าท่ากระโดดของเขามันมหัศจรรย์เพียงใด
หลังจากโอลิมปิกเกมส์ 1968 ที่เม็กซิโก นักกีฬาทั้งโลก ก็เปลี่ยนจาก Straddle มาใช้ Fosbury Flop ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถทำความสูงได้ดีกว่า
"ท่ากระโดดที่ตลกที่สุด" ในวันนั้น กลายเป็น "ท่าที่ทุกคนใช้ในวันนี้"
1
นี่คือหนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมของวงการกีฬาโลก
แน่นอน ในอนาคตอาจจะมีใครคิดค้นท่าอื่นที่เจ๋งกว่านี้ก็ได้ แต่ ณ จนถึงเวลานี้ปี 2019 ยังคงไม่มี
เรื่องของ ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ มันทำให้เราได้เห็นว่า การคิดค้นสิ่งใหม่ ที่ฉีกออกจากขนบธรรมเนียมเดิม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถูกยอมรับ
1
เพราะผู้คนคุ้นเคยอยู่กับสิ่งเดิมมานานหลายปี และพวกเขาก็คิดว่า คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าสิ่งเดิมๆที่มีอยู่
1
ดังนั้นแนวคิด หรือเทคนิคใหม่ๆ ต้องผ่านการทดลอง การพิสูจน์ และผ่านคำดูถูก ซ้ำแล้วซ้ำอีก คนคิดค้นสิ่งใหม่ต้องผ่านความเจ็บปวดเสมอ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรามั่นใจว่าแนวทางของเรามันดีจริงๆ จงหนักแน่นเข้าไว้ อย่าไปกลัวอะไร
รู้ได้ไง ว่าวิธีของเรา จะไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เหมือนอย่าง Fosbury Flop
#Fosbury
โฆษณา