26 ก.ย. 2019 เวลา 04:30 • ข่าว
❄️เคยหนาวจับใจ
‼️แต่วันนี้ชาวสวิสต้องมาไว้อาลัยธารน้ำแข็งที่หายไป
ผู้คนหลายสิบคนพากันสวมชุดสีดำเดินขึ้นภูเขาในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อไว้อาลัยกับการละลายของธารน้ำแข็งอัลไพน์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง🙀
ประชาชนประมาณ 250 คนรวมถึงเด็กๆ เข้าร่วมการปีนเขา 2 ชั่วโมงบนเนินเขาพิโซล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ใกล้พรมแดนลิกเตนสไตน์และออสเตรีย เพื่อไปยังส่วนปลายของธารน้ำแข็งพิโซล (Pizol glacier) ที่ละลายอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่อยู่ในระดับความสูงประมาณ 2,700 เมตร เคยหนาวเย็นตลอดปี และมีปริมาณน้ำแข็งมหาศาล
"เรามาอยู่ที่นี่ เพื่อกล่าวคำอำลาแก่พิโซล" นักธารน้ำแข็งวิทยาชาวสวิส มัทเธียส ฮุสส์ กล่าวในสุนทรพจน์ ขณะที่ เอริก เปตรินี บาทหลวงประจำเมืองเมลส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็ง กล่าวว่า "ขอพระเจ้าช่วยเรารับมือกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของภาวะโลกร้อนด้วยเถิด"
ด้าน อเลสซานดร้า เดเจียโคมี แห่งสมาคมสวิสเพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศบอกกับสำนักข่าว AFP ว่า ธารน้ำแข็งพิโซลได้สูญหายไปในปริมาณมหาศาล ซึ่งจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่ถือว่ามันเป็นธารน้ำแข็งอีกต่อไป
มัทเธียส ฮุสส์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคนิค ETH ในซูริกเผยกับ AFP ว่า "ตั้งแต่ปี 1850 เราประเมินว่า มีธารน้ำแข็งสวิสมากกว่า 500 แห่งได้หายไปตลอดกาล ซึ่งรวมถึง 50 แห่งที่ได้รับการตั้งชื่อ"
ฮัสส์ ยังบอกด้วยว่า พิโซลอาจไม่ใช่ธารน้ำแข็งแห่งแรกในสวิตเซอร์แลนด์ที่หายไป แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นธารน้ำแข็งแห่งแรกที่ละลายไปโดยผ่านการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มติดตามธารน้ำแข็งในปี 1893 และพิโซลได้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งถึง 80-90% ตั้งแต่ปี 2006 เหลือปริมาณน้ำแข็ง 26,000 ตารางเมตร หรือเล้กกว่าสนามฟุตบอล 4 แห่งต่อกัน
จากการคาดการณ์โดย Glacier Monitoring Switzerland หรือ GLAMOS เกือบ 80% ของธารน้ำแข็งในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ถือว่าเป็นธารน้ำแข็งน้อย หรือมีขนาดเล็กมาก หรือ Glacierets
นอกจากนี้ ฮุสส์ และนักวิทยาศาสตร์ของสถาบัน ETH คนอื่นเตือนว่ากว่า 90% ของธารน้ำแข็งอัลไพน์อาจหายไปในช่วงปลายศตวรรษนี้ หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจากการศึกษาของพวกเขาซึ่งตีพิมพ์ในเดือนเมษายนระบุว่า เทือกเขาแอลป์จะสูญเสียมวลน้ำแข็งอย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2100
ภาพชุด
ภาพจาก AFP
ภาพจาก AFP
ภาพจาก AFP
การเปลี่ยนของโลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ภาวะโลกร้อน มนุษย์เป็นผู้เร่งให้เกิดเร็วขึ้น พวกเราหยุดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไม่ทันแล้ว
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับ
โฆษณา