28 ก.ย. 2019 เวลา 06:08 • สุขภาพ
"cognitive flexibility" ภูมิคุ้มกันใจ ผู้ดูแลคนไข้สมองเสื่อม
เช้าวันนี้ข้าพเจ้าตื่นมาด้วยอารมณ์ไม่สู้ดี จากความรู้สึกหงุดหงิดจากการเสพข่าวสารบางอย่าง.
ข้าพเจ้ารู้สึกโกรธ คนที่คิดแตกต่าง แม้คนนั้นจะเป็นคนรู้จัก เป็นพี่ เป็นเพื่อน และมีข้อดีมากมาย
ยังดี ที่คู่ชีวิต เตือนสติ ให้ไปออกกำลังกาย เดิน วิ่ง สัก 30 นาที..เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปออกคลินิก การติดพลังลบไปจะเป็นอันตราย
หลังออกกำลัง ขณะรับลมเย็นๆ ปะทะเหงื่อ ความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายเข้ามาแทนที่ เมื่อคืดถึงความเห็นต่าง ก็รู้สึกเหมือนคนดู ไม่ใช่คู่กรณี
จากที่เคยรู้สึกใจคล้ายใบไม้แห้งที่พร้อมจะติดใจ ก็กลายเป็นใบไม้เขียวมีแม่คะนิ้งเกาะ...เป็นความชุมเย็นภายในใจ แม้สถานการณ์ภายนอกไม่เปลี่ยนแต่อย่างไร
ประสบการณ์วันนี้ ทำให้ข้าพเจ้า นึกไปถึง ความทุกข์ใจของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม.. ตั้งแต่ระดับเบื่อหน่าย (boring) เหนื่อยล้า (burden) ไปจนถึง หมดพลัง (burnout) ซึ่งบางการสำรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมมีภาวะ burnout อันเป็นภาวะ อันตรายต่อทั้งสุขภาพของ care giver เอง และเสี่ยงต่อการละทิ้งผู้ป่วย
สิ่งที่ข้าพเจ้าทำได้ก็เพียงรับฟัง ในระยะเวลาที่เอื้ออำนวย แต่คิดว่า วิธีนี้เป็นเพียงเสมือนการดับไฟซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่ได้ป้องกันการเกิดไฟเลย..
Cognitive flexibility คือ การไม่ยึดกับกฎหรือแนวคิดใดตายตัว แต่เลือกใช้และปรับให้เหมาะต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เปรียบเสมือนความสามารถในการขับรถ ที่มีการเปลี่ยนเกียร์ เปลี่ยนความเร่งให้เหมาะกับสภาพถนน
การมี cognitive flexibility สูงสัมพันธ์กับความสามารถในการอ่านช่วงวัยเด็ก, ลดโอกาสเกิดโรคจากความเครียด เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในผู้ใหญ่ และเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุ (Dajani DR, et al. Trends Neurosci. 2015)
ทางประสาทวิทยา มอง cognitive flexibility เป็นสติปัญญาด้านหนึ่ง เช่นเดียวกับความจำ ความสามารถในการคิดเลข คือมีโครงข่ายใยประสาท และสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้อง และ ด้วยหลักการ neuroplasticity จึงเป็นสิ่งที่หากฝึกฝนบ่อย ก็เพิ่มความว่องไวในการทำงานได้
http://dx.doi.org/10.3402/ejpt.v6.27313
การศึกษาด้วย Functional MRI ทำให้เราทราบว่า ช่วงที่เราอยู่ว่างๆ คนเรามักมีความคิดวิตกกับอดีต อนาคต เรียกว่า "Default neuronal network) กล่าวคือ วิตกจริตเป็นโหมดดั้งเดิมของมนุษย์ ที่มีมาโดยธรรมชาติ ไม่ต้องการฝึกฝนใดๆ...ขณะที่ "Central executive function" คือภาวะใช้ความคิดจดจ่อกับงานใดสิ่งหนึ่ง เพลินจนลืมวันลืมคืน (ดังขณะข้าพเจ้ากำลังเขียนบทความนี้)..โดยมี "Salience network" คือความ "รู้ตัวทั่วพร้อม" เพราะรับรู้ข้อมูลจาก ประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ผิว และ ความรู้สึกภายในจากสมอง insula ทำหน้าที่ปิดเปิด ระหว่าง โหมดฟุ้งซ่านล่องลอย กับ โหมดจดจ่อเพลิดเพลิน
cognitive flexibility ที่ดี เกิดจาก Salience network ที่แข็งแรง แต่ network นี้ตามธรรมชาติ อ่อนแอกว่า defualt network ...ซึ่งอาจใช้ การกระตุ้นใยประสาทด้วยกิจกรรมบำบัด (Neurofeedback-NFB) หรือการใช้เครื่องแม่เหล็กกระตุ้นไฟฟ้า ( transcranial magnetic stimulation -TMS)
แต่จริงๆ แล้ว วิธีอันแสนเรียบง่าย ก็คือ การทำสิ่งใดๆ ให้จิตใจรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับปัจจุบัน.. ไม่ว่าจะด้วย mind body practice (นั่งสมาธิ โยคะ) การออกกำลังกาย เป็นประจำค่ะ
ใครที่ดูแลคนไข้สมองเสื่อม หรือคนป่วยโรคอื่นๆ อย่าลืมดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยตามไปก่อนนะคะ..ดังคำในเครื่องบิน "put your oxygen mask on first before helping others.."

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา