28 ก.ย. 2019 เวลา 14:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"ปลากัดไทย"
สัตว์น้ำประจำชาติ
หลาย ๆ คนคงได้ยินคุ้นหูกันมาตั้งแต่เด็กและเป็นปลาที่ทุกคนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีเลยทีเดียว แถมยังเป็นสัตว์น้ำสวยงามที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีสีสันสวยงามสะดุดตาและจัดว่าเป็นปลาสวยงามยอดนักสู้ตัวฉกาจอีกชนิดหนึ่งเลยก็ว่าได้
หากพูดถึง "ปลากัด" ภาพที่ทุกท่านหลายคนนึกถึงก็คือ "ปลาที่แหวกว่ายในโหลขนาดเล็กหรือในขวดโซดา ขวดแบนเหล้าต่าง ๆ" ที่จริงแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติได้อนุมัติให้ "ปลากัดไทย" ขึ้นแท่นเป็น "สัตว์น้ำประจำชาติ" ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พร้อมทั้งสะท้อนถึงความเป็นไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีประโยชน์อย่างมากในด้านเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันอีกด้วย
ปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish)
ข้อมูลทั่วไป :
ปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Betta Splendens" ปลากัดจะมีนิสัยที่ดุร้าย ไม่นิยมเลี้ยงรวมกันในโหลหรือขวดแก้ว เพราะมักจะไล่กัดกันเองอยู่เป็นประจำ ด้วยนิสัยและสัญชาตญาณของปลากัดเองแล้วเป็นปลาที่หวงถิ่น มีความเป็นนักสู้สูง
การเลี้ยงปลากัดจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จำเป็นต้องเลี้ยงไว้เพียงตัวเดียวเท่านั้นต่อหนึ่งขวดโหล อีกทั้งการเลี้ยงเพียงตัวเดียวต่อหนึ่งโหลจะทำให้ตัวปลากัดรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตและแสดงความเป็นเจ้าของได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ปลากัดไม่เครียด และไม่จำเป็นต้องสู้กับใคร ทำให้ปลากัดเองมีรูปร่างและรูปทรงสวยงาม สีสันต่าง ๆ ก็จะออกได้อย่างเต็มที่
จุดประสงค์เดียวของการนำปลากัดสองตัวมาไว้ในขวดโหลเดียวกันคือ "การเพาะพันธุ์และการขยายพันธุ์" แต่ถึงอย่างไรก็ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด "ปลากัดไทย" เป็นสัตว์น้ำท้องถิ่นบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มักพบได้ตามแถบแม่น้ำเจ้าพระยา ประเทศไทยในปัจจุบันถูกจัดไว้ในประเภทสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จ้องตากันแล้วท้องจริงหรือไม่ :
ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด!!! เพราะปกติแล้วปลากัดตัวผู้จะจ้องตาตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้ตัวเมียสร้างไข่ในท้องเท่านั้น เน้นย้ำนะครับทุกคน "กระตุ้นให้ตัวเมียสร้างไข่ในท้องเท่านั้น"
ปลากัดไม่ใช่จ้องตากันแล้วท้องได้หรือมีลูกได้นะครับ และหลังจากจ้องตากันทำให้ตัวเมียสร้างไข่ในท้องเสร็จแล้วนั้น ตัวผู้จะทำการรัดตัวเมียเพื่อให้ไข่ออกมา แล้วปลากัดตัวผู้จึงปล่อยน้ำเชื้อหรือที่เรียกว่า "อสุจิปลา" ใส่ไข่ตัวเมียแล้วปลากัดตัวผู้ก็จะอมไข่ไปพ่นติดกับหวอดที่ก่อไว้บริเวณผิวน้ำนั้นเอง ปลากัดตัวผู้จะทำทุกขั้นตอนทั้งหมดนี้ซ้ำ ๆ จนไข่ของตัวเมียหมดท้อง
และสุดท้ายตัวผู้ก็จะคอยดูแลไข่เพียงตัวเดียวจนกว่าไข่จะฟักออกมาเป็นตัว ในช่วงระหว่างนี้ตัวเมียจะไล่กินไข่ของตัวเอง ตัวผู้จำเป็นต้องมีการปกป้องไข่และลูก ๆ ที่อยู่ในหวอด โดยการต่อสู้กับตัวเมีย เหตุการณ์หนักสุดอาจจะเห็นได้ว่า ตัวผู้กัดตัวเมียจนตายได้ในที่สุดเพื่อปกป้องลูก ๆ และไข่ทั้งหมดไว้
ทำไมถึงได้รับเลือกให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ :
"ปลากัดไทย" มีความเกี่ยวเนื่องในด้านของวัฒนธรรมประเพณีไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังพบหลักฐานว่าปลากัดไทยได้ปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ วรรณคดีไทยและประวัติศาสตร์ไทยมานานกว่าหลายร้อยปี นอกจากนี้ในด้านของความเป็นเจ้าของ
ปลากัดไทยเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงความเป็นเจ้าของของคนไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังได้รับการยอมรับในด้านวิชาการและในวงการวิชาการด้านสัตว์น้ำอีกด้วย ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาในประเทศไทยยังเป็นแหล่งที่ปลากัดไทยอาศัยอยู่อย่างชุกชุมกันอีก สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศไทย ประโยชน์ที่ได้รับจากการประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติมีอยู่เป็นจำนวนมาก
อาทิเช่น การรักษาพันธุ์พัฒนาปลากัดไทยให้ดียิ่งขึ้น การส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงปลากัด และยังรวมไปถึงประโยชน์ในเรื่องของเชิงพาณิชย์อีกด้วย
ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ :
เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่ออย่างยิ่งที่ปลากัดตัวเล็ก ๆ จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสองปีที่แล้วด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม 10 อันดับแรก พบว่าปลากัดมีปริมาณการส่งออกสูงสุดถึงกว่า 23 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า 130 ล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างปลาหางนกยูงที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว ๆ 14 ล้านตัว เกือบเท่าตัวกันเลยทีเดียว
"ปลากัดจัดว่าเป็นปลาสวยงามที่ติดตลาดภายในและตลาดภายนอกประเทศสามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี"
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา