30 ก.ย. 2019 เวลา 09:38 • การศึกษา
“อยู่ดี ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอค้นตัว หรือสิ่งของ หรือรถยนต์ของเรา ขณะอยู่ในที่สาธารณะได้หรือไม่ ?”
ผู้อ่านหลายคนคงเคยได้ยิน หรือบางคนอาจเคยเจอมากับตัวบ้างแล้ว เกี่ยวกับการขอตรวจค้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นตัวบุคคล สิ่งของ หรือยานพาหนะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้
Cr. pixabay
บางคนอาจจะเคยถูกตรวจค้นในระหว่างขับรถกลับบ้าน
บางคนอาจจะเคยถูกตรวจค้นในระหว่างซื้อของอยู่ในร้านสะดวกซื้อ
ซึ่งสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นที่สาธารณะ หรือสาธารณสถาน
แต่เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับว่า การขอค้นตัว หรือสิ่งของ หรือยานพาหนะ ในขณะที่เราอยู่ในที่สาธารณะ หรือสาธารณสถานนั้น จริง ๆ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำได้หรือไม่ ?
สำหรับเรื่องนี้ ผมขอสรุปโดยเรียงลำดับเป็นข้อ ๆ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจอย่างนี้นะครับ
1
1) เรามีสิทธิเสรีภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
2) การตรวจค้นเป็น เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเรา แม้ผู้กระทำจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็ไม่สามารถทำได้
3) แม้การตรวจค้นนั้น จะมีกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน หากฝ่าฝืนอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้
1
4) การค้นในที่สาธารณสถานนั้น ก่อนอื่น
เราต้องรู้ก่อนว่าสถานที่ใดบ้างคือที่สาธารณสถาน ถ้าให้สรุปง่าย ๆ ก็คือ ที่ที่ประชาชน คนทั่ว ๆ ไปมีสิทธิเข้าไปได้ เช่น โรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร (ในเวลาร้านเปิดทำการ) เป็นต้น
5) การค้นในที่สาธารณสถานนั้น กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามค้น” บุคคลใดในที่สาธารณสถาน “เว้นแต่” เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง (เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หรือตำรวจ เป็นผู้ค้น (ซึ่งจริง ๆ แล้วกฎหมายให้รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่กฎหมายได้ให้อำนาจสำหรับการตรวจค้นเอาไว้ เช่น เจ้าหน้าที่สรรพสามิตร เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง) และ
3
6) จะต้องมีเหตุควรสงสัยว่าบุคคลนั้นครอบครองสิ่งของเพื่อจะใช้ทำความผิด หรือได้มาจากการทำความผิด หรือสิ่งที่มีไว้เป็นความผิด (เช่น ยาเสพติด เป็นต้น)
ปัญหาอยู่ที่คำว่า “เหตุอันควรสงสัย” นี่แหละครับ เพราะว่าคำ ๆ เดียวสามารถตีความได้อย่างกว้างขวางเลยทีเดียว อย่างไรคือเหตุอันควรสงสัยและต้องสงสัยแค่ไหน ลองมาดูจากตัวอย่างคำพิพากษาฎีกานี้เลยครับ
1
“บริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่าน ที่มีอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำ และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธ คงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่
การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนันสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตนตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 367"
(คือ ไม่ผิดฐานดูหมิ่น และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และไม่บอกชื่อที่อยู่แก่เจ้าพนักงาน)
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8722/2555)
จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว เห็นได้ว่าศาลค่อนข้างตีความคำว่า “เหตุอันควรสงสัย” ไว้อย่างเคร่งครัดเลยทีเดียว การตั้งข้อสงสัยใครนั้นจะอ้างความรู้สึกขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ แต่จะต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุนเหตุอันควรสงสัยนั้นพอสมควร เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถเข้าตรวจค้นในที่สาธารณะได้
หากอยู่ดี ๆ เจ้าหน้าที่เข้ามาขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้ว ผู้ถูกตรวจค้นก็มีสิทธิปฏิเสธการตรวจค้นเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองดังเช่นคำพิพากษาฎีกานี้ได้
ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นหากเข้าตรวจค้นโดยอาศัย “ความรู้สึก” มากกว่าพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือพอสมควรแล้ว ก็อาจจะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้เช่นเดียวกันครับ
1
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา