4 ต.ค. 2019 เวลา 03:50
พุทธ​ประวัติ​ ตอนที่​ 23
ทรง​บำเพ็ญ​ทุกรกิริยา 6 ปี
ความเดิมจากตอนที่แล้ว...
ในนิมิตอุปมาทั้ง 3 ข้อ
ที่เกิดแก่พระบรมโพธิสัตว์นั้น
เป็นเหตุให้​พระองค์​ ทรงเกรงว่าอกุศลธรรมทั้งหลาย อันมีกามวิตกเป็นต้น
จักเข้าครอบงำเราได้ทุกขณะจิต
พระองค์​จึงทรงเริ่มทำความเพียรโดยทำทุกรกิริยา ซึ่งเป็นวิธีที่ในยุคสมัยนั้นนิยมทำกันมาก เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นหนทางสู่การตรัสรู้ได้
และตอนนั้นพระองค์ทรงบำเพ็ญอยู่ที่ภูเขาดงคสิริ ทั้งในป่าและในถ้ำ
ดังนั้น...
พระ​บรม​โพธิสัตว์​จึง​ทรงกระทำ​ด้วยวิธีการอันยากยิ่งกว่าที่คนอื่นๆ จะสามารถกระทำได้ โดยพระองค์ได้ทำเป็น 3 วาระ ดังนี้
**วาระที่ 1**
- ทรงกดพระทันต์ด้วยพระทันต์
(คือใช้ฟันบนกับฟันล่างกัดกดกัน)
- ทรงกดพระตาลุด้วยพระชิวหา
(กดเพดานด้วยลิ้น)
*ทรงกระทำ​อยู่​อย่างนี้ จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลออกจากพระกัจฉะ (รักแร้)*
ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เหมือนคนมีกำลังอันมาก มาจับคนมีกำลังน้อย ที่ศรีษะหรือที่คอ แล้วกำบีบรัดให้แน่นฉันนั้น...
แต่ทุกขเวทนานั้นก็มิอาจเข้าครอบงำพระทัยให้กระสับกระส่ายได้ พระองค์​นั้นยังคงทรงมีพระสติมั่นคงไม่ฟั่นเฟือน ทรงปรารภความเพียรไม่ท้อถอยตลอดเวลา จนกระทั่ง​พระองค์​ทรงเห็นแล้วว่าวิธีการอย่างนี้ มิใช่ทางตรัสรู้
จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป...
**วาระที่​ 2**
- ทรงผ่อนกลั้นลม อัสสาสะ ปัสสาสะ
(คือ การกลั้นลมหายใจเข้าออก)
พระองค์​นั้น พยายามกลั้นลมหายใจไม่ให้สามารถออกทางช่องนาสิก (จมูก) และช่องพระโอษฐ์ (ปาก)ได้
จึงทำให้ลมนั้นวิ่งแล่นจะไปออกทางโสตทวาร แต่ก็ไม่สามารถออกได้
ลมนั้นจึงได้ตีตลบขึ้นไปบนพระเศียร (ศรีษะ​) และหวนวิ่งแล่นตีกลับลงมาสู่พระอุทร (ท้อง)
จึงทำให้เกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าจนปวดพระเศียร เสียดแทงพระอุทร แสบร้อนภายในพระวรกายอย่างสุดกำลัง
แต่ทุกขเวทนานี้ ก็มิอาจทำให้พระทัยกระสับกระส่ายได้ พระองค์​นั้นยังทรงมีพระสติมั่นคงเสมอ และยังทรงปรารภความเพียงวิธีนี้อย่างไม่ย่อหย่อน จนกระทั่ง​พระองค์​ทรงเห็นแล้วว่าวิธีการอย่างนี้ มิใช่ทางตรัสรู้
จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป...
**วาระ​ที่ 3**
- ทรงอดพระกระยาหาร
ใน​ตอนนั้น​เอง...
พระ​บรม​โพธิสัตว์​ทรงดำริตรัสแก่พระองค์เองว่า...
***บัดนี้ อาตมา​จักกระทำความเพียร ให้ถึงที่สุดแห่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ การที่จักมามัวกังวลอยู่กับการแสวงหาอาหารนั้นมิสมควรเลย***
แล้วตั้งแต่ตอนนั้น...
เมื่อ​พระองค์​เสด็จไปประทับยังต้นไม้ใด ก็จักเสวยเฉพาะผลที่ร่วงหล่นจากต้นไม้นั้นเท่านั้น...
ต่อมาในภายหลังเมื่อพระองค์​เสด็จเข้าไปบิณฑบาต เมื่อได้อาหารมาแล้วก็ผ่อนเสวยให้ลดน้อยลงๆ โดยลำดับจนกระทั่ง​มิทรงเสวยเลย...
และเมื่อพระองค์ทรงตัดพระกระยาหารทั้งสิ้นแล้วนั้น...
พระ​มหา​ปุ​ริ​ส​ลักษณะ​ 32 ประการ
และ​อนุพยัญชนะ 80 ประการของพระองค์นั้น ก็ได้อันตรธานหายไปโดยหมดทั้งสิ้น...
ใน​ตอนนี้​เอง...
พระวรกายของพระ​บรมโพธิสัตว์​เจ้านั้น เหี่ยวแห้งยิ่งนัก พระอัฐิ(กระดูก​) มีปรากฏขึ้นทั่วทั้งพระวรกาย ผิวพรรณที่เคยเปล่งรัศมีดังองค์ท้าวมหาพรหมก็กลับเศร้าหมอง
ครั้น​เมื่อ​พระองค์​ทรงใช้พระหัตถ์(มือ) ลูบพระวรกาย เส้นพระโลมา(ขน) ที่มีรากเน่าก็หลุดล่วงออกจากขุมขน...
ในส่วนของพระกำลังที่เคยองอาจประดุจดังพญาราชสีห์ ก็ลดน้อยถอยลงไปอย่างมากที่สุด เมื่อพระองค์จักลุกขึ้นเสด็จไปทางใด จักถ่ายพระบังคนหนักเบา (อุจจาระ​ ปัสสาวะ​) ก็ซวนเซจนประครองพระวรกายแทบมิไหว คอยแต่จักล้มลงอยู่ตลอด...
จวบจน​กระทั่ง​วันหนึ่ง...
พระองค์​ได้ทรงมีพระอาการประชวรอย่างหนัก อ่อนเพลียอิดโรยหิวโหยเป็นที่สุด
จน​พระองค์​นั้นมิสามารถจักทรงพระวรกายไว้ได้ จนถึงกับวิสัญญีภาพ (หมด​สติ) สลบล้มลง ณ ที่นั้นทันที...
ขณะนั้น​เอง!!!
มีเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งสำคัญผิดคิดว่า
*พระ​โพธิสัตว์​นั้นได้​ดับขันธ์​ทิวงคตแล้ว* จึงรีบเหาะไปแจ้งเหตุให้ แก่พระเจ้า​สุทโธ​ท​นะ​พระบิดาได้ทรงทราบ...
ตัดเหตุการณ์มาที่พระราชวัง
กรุงกบิลพัสดุ์
เทวดาทูลแจ้วข่าว :
***มหา​บพิตร​ บัดนี้ สิทธัตถราชกุมาร โอรสของท่านได้ล้มลงสลบหมดสติแน่นิ่งบนพื้นธรณี อาจจัก​ดับขันธ์​ทิวงคตแล้วเสียกระมังท่าน***
พระเจ้า​สุทโธ​ท​นะ​ตรัสถาม​เทวดา :
***ท่านผู้มีกายทิพย์ แล้วโอรสของเรา ได้ทรงตรัสรู้​เป็น​พระ​สัพพัญญู​เจ้าแล้วหรือยังเล่า ? ***
เทวดากล่าวตอบ :
***ยังมิได้ตรัสรู้​ พระเจ้า​ข้า***
พระเจ้า​สุทโธ​ท​นะ​ตรัสตอบเทวดา :
***ถ้าเช่นนั้น ท่าน​จง​หลีก​ออกไปจากที่นี้โดยด่วน!!!
เพราะถ้าโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพญญูเจ้าแล้วนั้น
การที่จะมาทำลายพระชนมชีพทิวงคตนั้นจักไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน!!!!***
เมื่อ​เทวดา​ได้รับคำตรัสเช่นนั้นก็จึงได้รีบอันตรธานหายไปจากที่นั้นทันที...
ตัดเหตุการณ์​ กลับมาที่เชิงเขาในตำบลอุรุ​เวลา​เสนา​นิคม​
บัดนี้...
พระ​บรม​โพธิสัตว์​ เมื่อได้สัญญาฟื้นคืนพระสติแล้ว พระองค์​จึงทรง
พิจารณา​ถึง ปฏิปทาที่ได้ทรงกระทำใน ทุกรกิริยา​ที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น
จึงทรงเห็นว่า...
***บุคคลแม้จักทำความเพียรด้วยการทรมานร่างกายอย่างยิ่งยวดเพียงใด
บุคคลนั้นก็สามารถทำได้เพียงเสมอกับเราเท่านั้น การที่จักมีคนที่ทำให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าเรานั้นย่อมไม่มี...
แม้เรานั้นปฏิบัติถึงขั้นอุกฤษฏ์ขนาดนี้แล้ว กระทำมาตลอดระยะเวลานี้ก็ 6 ปีผ่านมาแล้ว เราก็ยัง​มิสามารถ​จักบรรลุพระโพธิญาณได้เลย...
ชะรอยว่า...
หนทางแห่งการตรัสรู้คงจักต้องเป็นหนทางอื่น ต้องมิใช่หนทางนี้เป็นแน่... ***
ครั้น​แล้ว...
พระ​บรม​โพธิสัตว์​เจ้า​ ก็ได้ทรงหวนระลึกนึกถึงความเพียรทางจิต ในตอนที่พระองค์ทรงนั่งประทับใต้ต้นชมพูใหญ่(ต้น​หว้า​) ในวันจรดพระนังคัล​แรกนาขวัญ​ แล้วทรงเข้าถึงปฐมฌานครั้งแรก ว่าการทำความเพียรทางจิตนั้น คงจักเป็นหนทางตรัสรู้ที่แท้จริงเป็นแน่...
***รายละเอียด​เพิ่มเติม​***
***สาเหตุที่พระองค์ต้องหลงปฏิบัติไปผิดทาง***
เพราะว่า : นี้คือกรรมเก่าของพระองค์นั่นเองครับ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเล่าไว้ด้วยพระองค์เองในภายหลังที่ตรัสรู้แล้วว่า...
ในสมัยอดีตชาติตถาคต เคยเกิดเป็น มานพหนุ่มนามว่า โชติปาละ และได้เคยกล่าว วาจาอันหยาบจาบจ้วงปรามาส แก่พระ​พุทธ​เจ้านามว่า
(กัสสปะ) ด้วยคำกล่าวที่ว่า...
มานพ​น้อย​โชติปาละกล่าวปรามาส:
***ฮ่าๆๆ โธ่ ฆฏิการะเพื่อนรัก
พระพุทธ​เจ้าจักมาบังเกิดในโลกนี้ ง่ายๆ​ได้ยังไง อย่ามาบอกมุสาหลอกกันเลย เรามิเชื่อหรอก​ แล้วก็ยังพูด
จาดูถูกดูแคลนพระพุทธเจ้ากัสสปะ อยู่อีกเรื่อยๆ...***
จนสุดท้าย ฆฏิการะ ผู้เป็นสหายได้นำพา โชติปาละ ไปพบเจอกับพระพุทธกัสสปะจนได้...
เมื่อ โชติปาละ​ พบเจ้าพระพุทธกัสสปะ ก็ถึงกับทรุดลงเข่าอ่อนยอมจำนน แล้วก็กราบขอขมา และขอบวชในพระพุทธศาสนาและตั้งจิตอธิษฐาน​ขอเป็นพระพุทธเจ้าดังเช่นพระพุทธ​องค์ในบัดนั้น...
นี้จึงเป็นวิบากกรรมที่พระองค์ต้องได้รับในชาติสุดท้าย โดยการบำเพ็ญทุกรกิริยา นั่นเองครับ
ตรงนี้กระผมขอเล่าเพียงแต่โดยย่อนะครับ ไว้ถึงสถานที่ๆ พระองค์​ทรงประทับแล้วเล่าให้ฟังจริงๆ ผมจะนำมาให้อ่านแบบเต็มๆ เลยครับ
**ขออนุญาต​แจ้งข่าวนิดหน่อยจ้า**
FB: ธรรม Story
เอวัง​ก็มี​ด้วย​ประการ​ฉะนี้​
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน​ผู้อ่าน​ขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน​ สาธุครับ​ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา