3 ต.ค. 2019 เวลา 00:45 • บันเทิง
รามานุจัน : The Man Who Knew Infinity (2015)
ศิลปินผู้รังสรรค์คณิตศาสตร์บนผืนผ้าใบแห่งชีวิต
The Man Who Knew Infinity (2015)
ภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของ
ศรีนิวาสะ ไอเยนการ์ รามานุจัน นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอินเดีย ผู้คิดค้นและสร้างทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์ในเรื่องทฤษฎีจำนวน อนุกรมอนันต์ และเศษส่วนต่อเนื่อง ตลอดชีวิตของรามานุจันสร้างผลงานทางคณิตศาสตร์ไว้กว่า 3,900 รายการ
ความน่าสนใจของรามานุจัน คือ เขาไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์ตามระบบการศึกษา
ที่จริงเขาได้รับรับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของรัฐเมืองคัมบาโคนัม (ประเทศอินเดีย)
แต่เมื่อได้เข้าเรียน รามานุจันไม่สนใจวิชาอื่นใดเลยนอกจากคณิตศาสตร์ ทำให้ผลการเรียนวิชาอื่นแย่มาก
และต้องเสียทุนไปในที่สุด
แม้ไม่ได้เรียนในระบบการศึกษาแต่รามานุจันยังคงขบคิดปัญหาทางคณิตศาสตร์อยู่ตลอดเวลา
เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ภายในวัด ขีดเขียนตัวเลขลงบนพื้น ผนังและกำแพง ใช้เวลาทั้งวันขลุกอยู่กับตัวเลขและสูตรต่างๆ
รามานุจันตัดสินใจสมัครงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและได้งานเป็นเสมียนในบริษัทสัญชาติอังกฤษแห่งหนึ่ง
ที่นั่นเขาได้พบกับชายคนแรกที่เชื่อมั่นในตัวเขาและแนะนำให้รามานุจันส่งผลงานทางคณิตศาสตร์ไปที่อังกฤษ
รามานุจันเริ่มมีความหวังว่าทฤษฎีจำนวนของเขาจะได้รับการตีพิมพ์ เขาส่งจดหมายแนะนำตัวพร้อมแนบผลงานส่งไปให้นักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน
1
และเป็นศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ แห่งทรินิตี้ คอลเลจ
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่มองเห็นความเป็นอัจฉริยะในตัวเขา ฮาร์ดี้เชิญรามานุจันมาร่วมงานด้วย แต่ถูกคัดค้านจากคณาจารย์หลายคนในสภามหาวิทยาลัย
เพราะรามานุจันไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา และทฤษฎีของเขาก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง
1
ฮาร์ดี้ต้องต่อสู้กับคนของสภามหาวิทยาลัย ที่มีแนวคิดไปในทางเหยียดรามานุจัน(เพราะในขณะนั้น อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ การยอมรับรามานุจันก็เท่ากับว่ายอมรับความสามารถของประชากรในประเทศใต้การปกครอง )
1
แต่ท้ายที่สุดรามานุจันก็ได้มาร่วมงานกับฮาร์ดี้ พร้อมกับต้องเข้าเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ร่วมกับนักศึกษาคนอื่นๆของเคมบริดจ์ตามที่ฮาร์ดี้ร้องขอไว้กับสภามหาวิทยาลัย
อีกนัยหนึ่งคือเพื่อให้รามานุจันได้เรียนรู้สัญลักษณ์และตัวแปรทางคณิตศาสตร์ที่เป็นสากลมากขึ้นด้วย
(รามานุจันเรียนคณิตศาสตร์ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ การใช้สัญลักษณ์และวิธีการบางอย่างจึงแตกต่างจากคนอื่นไปบ้าง)
เมื่อได้ร่วมงานกันจริงๆแล้ว
ฮาร์ดี้ค่อนข้างประหลาดใจกับสูตรต่างๆที่รามานุจันค้นพบ เพราะมันมีสูตรแต่ไม่มีที่มาและบทพิสูจน์
ฮาร์ดี้ไม่สามารถตีพิมพ์งานเหล่านี้ได้ ถ้าไม่มีบทพิสูจน์จะทำให้ทฤษฎีของรามานุจันไม่ได้รับการยอมรับ
เขาให้รามานุจันไปจัดการหาบทพิสูจน์ของทฤษฎีมาให้ได้
แรกๆรามานุจันก็ต่อต้าน
สำหรับรามานุจันแล้ว สูตรที่เขาคิดขึ้นมานั้น แม้ไม่สามารถอธิบายวิธีคิดได้...แต่เขาก็คำนวณออกมาด้วยวิธีการเฉพาะของเขา
รามานุจันเปรียบคณิตศาสตร์เป็นเหมือนงานศิลปะ
มีตอนหนึ่งที่รามานุจันตอบคำถามภรรยาถึงวิธีการคิดสูตรตัวเลขของเขา
" มันเหมือนกับการระบายสีด้วยสีที่มองไม่เห็น"
ผมเชื่อว่ารามานุจัน มองตัวเลขเป็นความงาม มองการค้นพบสูตรต่างๆเป็นเหมือนการสร้างงานศิลปะ
ก็คงใช่...เพราะเขาใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการเขียนสูตรคณิตศาสตร์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับจิตรกรที่ใช้เวลาทั้งวันเพื่อสร้างงานศิลปะ
หลังผ่านการโต้เถียงกับฮาร์ดี้ไประยะหนึ่ง
ในที่สุดรามานุจันก็ยอมทำตามที่ฮาร์ดี้แนะนำ
เขาเริ่มเขียนบทพิสูจน์ของทฤษฎีจนผลงานได้รับการตีพิมพ์ และก็เป็นฮาร์ดี้ที่ผลักดันจนรามานุจันได้เป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน
และสมาชิกของวิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
แต่....ชีวิตของอัจฉริยะมักอยู่ได้ไม่นาน
รามานุจันพบว่าตัวเขาป่วยเป็นวัณโรคขั้นร้ายแรง
เขาจึงตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตที่อินเดียกับภรรยาและแม่ก่อนจะเสียชีวิตลงในวัย 32 ปี
รามานุจัน ตัวจริง(ซ้าย) : นักแสดง (ขวา)
ในช่วงที่กำลังรักษาอาการป่วยอยู่ที่อังกฤษ เขาได้พูดคุยหลายๆเรื่องกับฮาร์ดี้
เขาได้ตอบข้อสงสัยของฮาร์ดี้ถึงที่มาของสูตรคณิตศาสตร์ว่า ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่เขาคิดค้นนั้นพระนางลักษมี (เทพทางฮินดู) ใส่เข้ามาในหัวของเขา
เขาเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดสารจากพระเจ้าเท่านั้น
"สมการไหนก็ไม่มีความหมาย หากมันไม่สะท้อนความคิดของพระเจ้า"
ฮาร์ดี้เอง แม้ไม่ได้มีความศรัทธาในพระเจ้าสักเท่าไหร่
แต่เขาก็มีแนวคิดไม่ต่างไปจากรามานุจัน
เห็นได้จากคำไว้อาลัยที่ฮาร์ดี้กล่าวถึงรามานุจัน
"เราเป็นเพียงแต่นักแสวงหาความอนันต์ เราไม่ได้สร้างสูตรนี้ มันมีของมันอยู่แล้ว แค่รอคอยคนอัจฉริยะอย่างรามานุจันมาค้นพบ"
1
ผลงานกว่า 3,900 รายการของรามานุจัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผิดพลาด
สิ่งที่รามานุจันฝากไว้ให้กับโลกใบนี้มีประโยชน์มหาศาลต่อวงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ทฤษฎีจำนวนของเขาถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนสถานะของสสารในวิชาเคมี
ทฤษฎีสตริงว่าด้วย 10 มิติ รวมถึงการคำนวณเกี่ยวกับหลุมดำในอวกาศ ต่างก็ใช้สูตรการคำนวณของรามานุจัน
รามานุจัน คือ อัจฉริยะ ผู้แผ้วถางทางสำเร็จด้วยความมานะของตนเอง
1
รวมถึงได้กัลยาณมิตรที่ดีอย่างศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ ที่คอยแนะนำ ช่วยเหลือ และผลักดันจนรามานุจันได้รับการยอมรับ
ฮาร์ดี้ ช่วยรามานุจันพิสูจน์ทฤษฎี
จนฮาร์ดี้นั้นไม่ได้ต่อยอดผลงานของตัวเอง
แต่เขาก็ยินดีที่ได้ร่วมงานกับอัจฉริยะอย่างรามานุจัน และได้กล่าวถึงการร่วมงานกับรามานุจันไว้ว่า
" สำหรับชีวิตนักคณิตศาสตร์ การได้ร่วมงานกับรามานุจัน เป็นเรื่องโรแมนติกเพียงเรื่องเดียวในชีวิตของเขา "
หากนิยามของศิลปะคือ " ความงาม "
คณิตศาตร์คงเป็นความงามของชายอัจฉริยะชื่อ
" รามานุจัน " ศิลปินผู้สร้างผลงานจากสีแห่งตัวเลข พู่กันจากสูตรคณิต ผู้วาดความงามลงบนผืนผ้าใบแห่งชีวิตที่แม้จะสั้น แต่ทว่า " งดงาม "
เครดิตข้อมูล :
ภาพประกอบจาก :
โฆษณา